สภาองค์กรของผู้บริโภค
สภาองค์กรของผู้บริโภค เกิดจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 และตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 มีสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล เป็นตัวแทนผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ และมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน
วิสัยทัศน์
เป็นตัวแทนของผู้บริโภค เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน
พันธกิจ
- คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคทุกคน ในปัญหาทุกด้าน
- เสนอแนะนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
- สนับสนุนองค์กรสมาชิก องค์กรของผู้บริโภค และผู้บริโภคทั่วไปให้รักษาประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ
- สร้างวัฒนธรรมและมุมมองใหม่ว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
- สนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์
- สนับสนุน ดำเนินการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคทุกด้าน
- พัฒนา เสนอแนะ ผลักดันนโยบาย และมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
- สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภค และองค์กรของผู้บริโภค
- สื่อสารเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
- พัฒนากลไกสภาองค์กรของผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัด
ที่มาของรายได้
- ทุนประเดิมเบื้องต้นที่รัฐบาลจ่ายอุดหนุนจำนวน 350 ล้านบาท สำหรับดำเนินการให้องค์กรของผู้บริโภครวมตัวกันอย่างทั่วถึงและเกิดพลังอย่างแท้จริง
- เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้โดยตรงเป็นรายปี
- เงินค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการ ที่ศาลสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระแก่สภาฯ
- เงินค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในการดำเนินงานของสภาฯ
กว่าจะเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค
23 ปี เส้นทางสภาองค์กรของผู้บริโภค การต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้มีตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศ

พ.ศ.2540
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 57 ระบุว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเจตนารมณ์ที่ให้มีการจัดตั้ง “องค์กรอิสระของผู้บริโภค” ไว้ในกฎหมายแม่บทของประเทศไทย
พ.ศ.2550
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 61 บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลในฐานะผู้บริโภค มีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นการยืนยันเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่องที่จะให้มีองค์กรอิสระของผู้บริโภคกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
พ.ศ.2552
ประชาชน 13,000 คนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลในขณะนั้นยุบสภา ทำให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป
พ.ศ.2560
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 รับรองสิทธิของประชาชนที่จะรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค ให้เป็นองค์กรที่เป็นอิสระ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อให้องค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งเกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
พ.ศ.2561
วันที่ 5 มิถุนายน 2561 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 โดยใช้ชื่อกฎหมายว่า “สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ตามที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเสนอ ที่ต้องการให้มีสภาเดียว และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่เป็นทางการ โดยส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจแก้
คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะพิเศษขึ้น เพื่อตรวจแก้ร่างกฎหมาย เปลี่ยนเนื้อหา และชื่อกฎหมายใหม่ เป็น “พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค” โดยแก้ไขหลักการที่ให้มีสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติสภาเดียว เป็นให้เกิดได้หลายสภา พร้อมกับให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ เป็นนายทะเบียนรับจดแจ้งสถานะองค์กรของผู้บริโภค
พ.ศ.2562
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้ออกกฎหมาย “พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ…..” ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 159 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2562
พ.ศ.2563
วันที่ 8 ตุลาคม 2563 องค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งสถานะจากทางการจำนวน 152 องค์กรร่วมกันเข้าชื่อยื่นหนังสือต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะนายทะเบียนกลาง แสดงตนตามกฎหมายเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
วันที่ 9 ธันวาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาประกาศจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในทุกด้าน
ในทุก ๆ ปี สภาองค์กรของผู้บริโภคจะจัดประชุมองค์กรสมาชิกและผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรายงานผลการทำงานและรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย
สารจากประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค

“สภาองค์กรของผู้บริโภค” เป็นตัวแทนของประชาชน ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงเคียงคู่ผู้บริโภคในการให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน เพราะทุกคนคือผู้บริโภค”
บุญยืน ศิริธรรม
ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค
กว่า 43 ปี นับแต่การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคในปี พ.ศ.2522 ปัญหาเรื่องผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ การพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในประเทศไทยมุ่งเน้นเพียงการแก้ไขปัญหาส่วนบุคคลมากกว่าการแก้ไขเชิงโครงสร้างหรือระบบ หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคแม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็มีเพียงองค์กรของรัฐ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีผู้แทนโดยตรงที่จะเป็นปากเป็นเสียงสะท้อนปัญหาของตนเองแก่รัฐ ดังนั้น จะต้องยกระดับปัญหาปัจเจกขึ้นเป็นการแก้ไขเชิงโครงสร้าง เพื่อส่งเสริมให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา มีความพยายามจัดตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาคประชาชน ที่จะทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานของรัฐ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหา เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค มีตัวแทนผู้บริโภคทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นหู เป็นตา เป็นปาก เป็นเสียงให้ผู้บริโภคก่อนถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบสินค้า ตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมถึงสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคให้สามารถแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ได้
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นเสมือนตัวแทนของผู้บริโภคอันยาวนานกว่า 24 ปีผ่านไป ในที่สุดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ประกาศจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ขึ้น โดยได้รับงบประมาณเป็นทุนประเดิมในการดำเนินการจำนวน 350 ล้านบาท
จากนั้น จึงมีการประชุมสมาชิกครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคถือเป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคโดยตรงในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562
“สภาองค์กรของผู้บริโภค” จึงถือเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชนในประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงเคียงคู่ผู้บริโภค เป็นตัวแทนผู้บริโภคในการให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน
“เพราะทุกคนคือผู้บริโภค”
สารจากเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค
“ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการดำเนินการ”
สารี อ๋องสมหวัง
เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการดำเนินการ ทั้งนี้ มีการบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยมาตรา 46 ระบุให้องค์กรของผู้บริโภคจำนวน 150 องค์กร ที่ผ่านการจดแจ้งจาก สปน.รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ทำหน้าที่เสนอนโยบายและมาตรการให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น และเพื่อรวมพลังของสมาชิกในการคุ้มครองผู้บริโภคและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
การคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อผู้ประกอบธุรกิจ หากผู้ประกอบธุรกิจนั้นมีความรับผิดชอบ เช่น บริษัทรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยจะประกาศว่า ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยแล้วมีปัญหาภายใน 6 เดือน หากซ่อม 2 ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น สามารถรับเงินคืนเต็มจำนวน หรือได้รถยนต์คันใหม่ เช่นนี้เชื่อว่ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศจะขายดี และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั่วโลก
ทั้งนี้ ความกังวลแบบผิด ๆ ในอดีตที่มองว่า หากคุ้มครองผู้บริโภคมาก จะทำให้บริษัทยากลำบากคงไม่เป็นจริง จากประสบการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ พบว่า นโยบายหรือมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐสภายุโรปและขององค์กรผู้บริโภคสอดคล้องหรือตรงกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะต่างก็เชื่อว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ดังนั้น ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ของผู้บริโภค เช่น ค่าทางด่วน ค่าโทลล์เวย์ ค่ารถไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าราคาแพง หรือข้อเสนอใหม่ ๆ ที่ดีสำหรับผู้บริโภค เช่น ถนนปลอดภัย ทางม้าลายปลอดภัย อาหารปลอดภัย ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย หรือขนส่งมวลชนราคาไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำของประชาชน เหล่านี้ นอกจากจะเป็นพันธกิจของสภาฯ แล้ว หน่วยงานรัฐย่อมจะต้องมีจุดยืนเดียวกันด้วย
อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้าน ทุกคน หวังว่าข้อเสนอนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาฯ จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพราะทุกคนคือผู้บริโภค
ติดต่อเรา
