‘กลลวงโจรออนไลน์’

  1. ปลอม 100 หน้า เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ บริษัทขนส่ง และบุคคลใกล้ตัว แถมใช้เทคโนโลยีทันสมัย
    มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคให้ตายใจ ก่อนใช้กลลวงให้ผู้บริโภคเสียเงินจนหมดตัว เช่น ปลอมตัวเป็นตำรวจ อาจว่าผู้บริโภคพัวพันคดีอาชญากรรม ต้องการตรวจสอบข้อมูลของผู้บริโภค ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ส่งพัสดุ ปลอมเป็นเพื่อน เป็นญาติ แล้วให้เราแอดไลน์ มิจฉาชีพใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียกว่า DeepFake ดัดแปลงเป็นรูปบุคคลอื่นให้ขยับตามคำพูดในการลวงผู้บริโภคให้ตายใจ หรือการให้ติดตั้งแอปพลิเคชันและโปรแกรมควบคุมโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ทางไกล และหลอกดึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือดึงเงินในบัญชีธนาคารจนหมดตัว หรืออีกมุกเด็ด คือ ปลอมตัวเป็นลูกหลานทำท่าทีว่าต้องการใช้เงิน และให้โอนเงินให้
  2. หลอกง่าย ๆ ด้วยการส่งข้อความถึงตัว ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ติ๊กต่อก และอีเมล
    มิจฉาชีพนิยมใช้ช่องทางออนไลน์หลอกผู้บริโภคในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเท็จ ข่าวปลอม ที่น่าสนใจ เช่น หลอกปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดอกเบี้ยต่ำ กู้ง่าย ได้เร็ว ผ่านช่องทาง เฟซบุ๊ก หรือหลอกให้ลงทุนกองทุน หุ้น คริปโทฯ ได้ผลตอบแทนสูง ปันผลมหาศาล ผ่านช่องทางไลน์
  3. หลอกเป็นนักบุญ ช่วยหางานให้ทำ
    มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นนายหน้าหางานผู้ใจบุญ ส่งข้อมูลลักษณะการทำงานออนไลน์ แค่กดแชร์ กดไลก์ ก็ได้เงิน ให้กับผู้บริโภค บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ โดยหากต้องการทำงานดังกล่าวจะต้องเสียเงินค้ำประกันก่อนทำงาน ที่สำคัญหากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์แบบนี้ อย่าเพิ่งรีบโอน !
  4. หลอกให้รักแล้วจากไป
    มิจฉาชีพใช้แพลตฟอร์มออนไลน์โดยการใช้รูปโพรไฟล์เป็นภาพบุคคลอื่น ชวนคุยให้ผู้บริโภคหลงรัก ตายใจ ก่อนใช้กลยุทธ์หลอกผู้บริโภคให้โอนเงินแล้วจากหายไปในกลีบเมฆ