ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ : “พลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน” ในวันสิทธิผู้บริโภคสากล 2566

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทำให้ทั่วโลกเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและทำให้วิกฤติราคาพลังงานเมื่อสิ้นปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 50% และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 ส่งผลให้ผู้บริโภคทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายในครัวเรือนมากยิ่งขึ้น

15 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันสิทธิผู้บริโภคสากล หรือ World Consumer Rights Day ในแต่ละปีจะมีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้บริโภค โดยมีสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่มีสมาชิกกว่า 200 องค์กร จาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ร่วมกันกำหนดประเด็นการขับเคลื่อนร่วมกัน

โดยในปีนี้ได้กำหนดประเด็น : การสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การใช้พลังงานสะอาด (Empowering Consumers through Clean Energy Transitions) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับมือกับวิกฤติราคาพลังงาน เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน ช่วยลดความเสี่ยงจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศซึ่งเกิดจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

สำหรับสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยให้เห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการพึ่งตนเองด้านพลังงานของประเทศได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 40% ในปี 2561 เหลือเพียง 30% ในปี 2565 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าพลังงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานฟอสซิล อาทิ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านล้านบาท เป็น 2.1 ล้านล้านบาทในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

และจากการปรับขึ้นราคาพลังงานโลกครั้งใหญ่ในปี 2565 และต่อเนื่องมาถึงปี 2566 ทำให้ประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อนโดยถ้วนหน้าทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศต่อเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ว่า จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) แต่ปริมาณการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนก็ยังไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กร ของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เห็นว่าควรได้ใช้วาระแห่งวันสิทธิผู้บริโภคสากลที่จะมาถึงในวันที่ 15 มีนาคม 2566 และวาระที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย เป็นโอกาสในการสื่อสารรณรงค์เพื่อให้ผู้บริโภค ภาคการเมือง และทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานโดยใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ภายในครัวเรือนซึ่งช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน

จึงได้ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จำนวน 283 องค์กร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกขององค์กรผู้บริโภคสากล สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ : “พลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน” แบ่งเป็น

วันที่ 14 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 – 16.00 น. : เวทีเสวนา ในหัวข้อ “พลังงานผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน”

วันที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 – 16.00 น. : เวที “นำเสนอและแลกเปลี่ยนนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ”

วันที่ 22 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 – 16.00 น. : เวทีเสวนา “ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์”

ปักหมุดรอเลย! กับเวทีเสวนาทั้ง 3 เวที ชวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านเวทีเสวนาออนไลน์ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจสภาองค์กรของผู้บริโภค (https://www.facebook.com/tccthailand)

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค