เจ้าหนี้ ‘ห้ามทวงหนี้’ แบบไหน?

ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตก็แย่ลงไปด้วย เมื่อเงินไม่พอหมุนก็อาจต้องกู้ หรือหยิบยืม ทั้งที่ไม่มีใครอยากจะเป็นหนี้ แต่ทั้งนี้ ลูกหนี้ก็มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่ห้ามเจ้าหนี้ ไม่ให้ทวงหนี้ ดังนี้

เจ้าหนี้ ห้ามทวงหนี้แบบไหน?

  1. ห้ามทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่คนที่ลูกหนี้ระบุไว้
  2. ห้ามบอกความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้อื่นรู้ ยกเว้นเป็นคนในครอบครัวลูกหนี้ เช่น สามี ภริยา บุพการีผู้สืบสันดาน
  3. ไม่ให้ประจานหรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง
  4. ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมาย หนังสือหรือสื่อใด ๆ ให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า ติดต่อเพื่อทวงหนี้
  5. ห้ามติดต่อ หรือทำให้ผู้ติดต่อด้วยเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้
  6. ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง ทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือผู้อื่น
  7. ห้ามใช้วาจา หรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
  8. ห้ามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่น ๆ (ตามคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้)

ด้วยความห่วงใยจากสภาองค์กรของผู้บริโภค หากเจ้าหนี้ฝ่าฝืน มีโทษปรับ 100,000 บาท และต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น ห้ามไปทวงกับคนอื่น มิฉะนั้นจะมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท