สภาผู้บริโภค เสนอ 9 นโยบายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

1. ค่าบริการขนส่งสาธารณะ ไม่ควรเกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ : หนุนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำได้จริง

สภาผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคผลักดันเรื่องอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้สภาผู้บริโภคเคยมีข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว การแก้ปัญหารถไฟฟ้าโดยมองภาพรวมของทั้งระบบ เพื่อแก้ปัญหาค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน การแยกระหว่างการก่อสร้าง การจ้างเดินรถ การสร้างรายได้จากสื่อโฆษณาบนสถานี การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบเส้นทางรถไฟฟ้า และการหารายได้จากส่วนอื่น รวมไปถึงการเชื่อมโยงไปถึงระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ

ข้อเสนอเหล่านี้ถูกส่งไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบต่าง ๆ ทั้งกรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม กรมราง หรือแม้กระทั่งพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดการปัญหาเรื่องค่าบริการขนส่งสาธารณะ และเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้รถไฟฟ้า เป็น “ระบบขนส่งมวลชน” ที่ทุกคนสามารถขึ้นได้ทุกวัน

อ่านเนื้อหาเรื่องการผลักดันด้านขนส่งสาธารณะของสภาผู้บริโภคได้ที่ : https://www.tcc.or.th/category/transport/

2. ผู้บริโภคต้องเท่าทันมิจฉาชีพและกลโกงออนไลน์

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เอสเอ็มเอสดูดเงิน ลิงก์ปลอมทางไลน์ หลอกลงทุน หลอกทำงานพิเศษ เปิดเพจปลอมหลอกขายของ ฯลฯ นี่คือตัวอย่างกลโกงและภัยออนไลน์ที่ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องเจอ แต่ในเมื่อมิจฉาชีพก็พัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการโกงอยู่ทุกวัน จึงมีโอกาสไม่น้อยที่ผู้บริโภคอย่างเราจะพลาดท่าหรือเสียรู้ให้กับมิจฉาชีพ อีกทั้งเมื่อเกิดความเสียหายแล้ว การป้องกันและแก้ไขปัญหากลับทำได้ไม่ง่าย เรียกได้ว่า “ตามจับคนร้ายก็ยาก เงินที่เสียไปก็ (อาจจะ) ไม่ได้คืน”

แม้ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาผู้บริโภคถูกหลอกโอนเงิน รวมถึงสามารถจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที แต่ปัจจุบันยังพบปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของบางธนาคาร เช่น กรณีที่ผู้บริโภคโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารอายัดเงิน แต่ธนาคารกลับปฏิเสธและขอหลักฐานใบแจ้งความจากผู้บริโภค

สภาผู้บริโภคจึงทำข้อเสนอไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค และเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการป้องกันภัยออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงผลักดันให้เกิดมาตรการเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายด้วย

3. หลักประกันรายได้เมื่อสูงวัย 3,000 บาท : ผู้สูงวัยทุกคนต้องได้อย่างเท่าเทียม

สภาผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่อง “บำนาญถ้วนหน้า” ร่วมกับสมาชิกองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบำนาญ (หรือเงินเบี้ยเลี้ยงรายเดือน) อย่างถ้วนหน้า ในอัตราที่เหมาะสมและทำให้สามารถดำรงชีกได้จริงในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากทุกวันนี้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันได โดยเริ่มต้นเพียง 600 บาทต่อเดือนซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต

หากทำให้ถ้วนหน้า ทุกคนจะได้รับเงินทั้งหมดและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง ซึ่งการจะทำให้เกิดบำนาญถ้วนหน้าได้ต้องเริ่มทดลองปฏิบัติการและลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ และรัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อทำเรื่องดังกล่าว เช่น ปฏิรูปงบประมาณ การยกเลิกการลดหย่อนภาษีคนรวย รวมถึงการใช้เครื่องมือทางการคลังในการจัดสรรทรัพยากร เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินให้มากขึ้น เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการยืนยันว่าจากการศึกษาตัวเลขพบว่าการให้บำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และอาจเพิ่มสูงขึ้นได้มากกว่านั้นหากมีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องการออมเพิ่มเติม

4. ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพ : สิทธิการรักษาทุกสิทธิต้องเท่าเทียม

ตั้งแต่เกิดมา คนไทยทุกคนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาล โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสิทธิการรักษาพยาบาล 3 ระบบ ได้แก่ 1. สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ 2. สิทธิประกันสังคม และ 3. สิทธิบัตรทอง ซึ่งสภาผู้บริโภคมักได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิบัตรทอง ในเรื่องการถูกปฏิเสธการใช้สิทธิ การถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ รวมไปถึงขอบเขตการรักษาที่ไม่เท่าเทียม

ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งแก้ไขปัญหาและปรับความเข้าใจระหว่างสถานพยาบาลและผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาให้ตรงกัน และมีสายด่วน 1330 ให้สามารถโทรสอบถามกรณีเกิดข้อสงสัยหรือเกิดปัญหา ส่วนสิทธิประกันสังคมนั้น สภาผู้บริโภคได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงสิทธิการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมเท่ากับสิทธิบัตรทอง เช่น กรณีการใช้สิทธิทันตกรรม เป็นต้น

5. ลดค่าไฟ หยุดเพิ่มโรงไฟฟ้า : สนับสนุนทุกบ้านติดโซลาร์เซลล์ และใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า (Net Metering)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วรู้ว่าว่าอะไรที่ทำให้ค่าไฟแพง? คำตอบคือ 1. ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็นอยู่แล้ว แต่รัฐบาลยังคงวางแผนที่จะสร้างเพิ่มเติมอีก ซึ่งแน่นอนว่าเงินที่จะสร้างโรงไฟฟ้าก็ต้องมาจากภาษีของพวกเรานี่แหละ 2. การจัดหาก๊าซธรรมชาติขาดประสิทธิภาพและการจัดสรรก๊าซไม่เป็นธรรม ทำให้ต้นทุนก๊าซที่นำไปผลิตไฟฟ้าสูงกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบมาถึงค่าไฟที่ผู้บริโภคต้องจ่าย 3. ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ “ล้นเกิน” ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกคำนวนอยู่ในบิลค่าไฟในรูปแบบของ “ค่า Ft”

แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยังคือที่สภาผู้บริโภคเสนอ คือให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการติดตั้งดซลาร์เซลล์บน 2 ล้านหลังคาเรือนทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟให้กับภาพรวมทั้งประเทศได้ประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี และต้องปรับเปลี่ยนระบบการซื้อไฟคืนเป็นระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า หรือเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) เพื่อจูงใจให้คนติดโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น

6. ปล่อยกู้ผิดกฎหมาย – ดอกเบี้ยแพง ต้องหมดไป : คนเป็นหนี้ต้องไม่ถูกรังแก

รู้ไหม…กฎหมายได้กำหนดจำกัดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินไว้คือ ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรืออัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ยกเว้นกรณีเป็นสถาบันการเงินหรือธนาคาร กฎหมายให้อำนาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ต้องเป็นไปตามประกาศข้อกำหนดของธนาคารซึ่งมีกฎหมายรองรับ (พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน)

นอกจากนี้ เมื่อเกิดการกู้ยืมเงินแล้ว ลูกหนี้ยังมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ซึ่งกำหนดวิธีการทวงหนี้ที่ห้ามทำ เช่น ห้ามประจานหรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง ทรัพย์สิน เป็นต้น หากเจ้าหนี้ฝ่าฝืน มีโทษปรับ 100,000 บาท และต้องทวงหนี้กับลูกหนี้ หรือคนที่ลูกหนี้ระบุไว้เท่านั้น ห้ามไปทวงกับคนอื่น มิฉะนั้นจะมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

สำหรับผู้บริโภคที่เจอปัญหาถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด (ห้ามเกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน) หรือถูกข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ สามารถแจ้งแจ้งเบาะแส ปรึกษา หรือร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคได้เลย

7. ปกป้อง และแก้ปัญหา ผูกขาดทางเศรษฐกิจ : ผู้บริโภคต้องมีทางเลือกมากขึ้น

ปัญหาการผู้ขาดทางการค้ามีตัวอย่างให้เห็นมากมายในปัจจุบัน และเกิดขึ้นในหลากหลายธุรกิจ ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ออกมารณรงค์และคัดค้านการควบรวมที่จะก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาด และอาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าในที่สุดอย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลกลับไม่ใช้อำนาจที่มีเพื่อปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภค เช่น ในตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค เคยมีกรณีการควบรวมกิจการระหว่างซีพีและเทสโก้ ซึ่งถ้าใครจำได้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็อนุญาตให้การควบรวมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยใช้วลีที่ว่า “มีอำนาจเหนือตลาดแต่ไม่ผูกขาดทางการค้า”

หรือการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคม เกิดการควบรวมกิจการระหว่างทรู – ดีแทค โดยที่สำนักงานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติรับทราบการควบรวม ทั้งที่จริงแล้ว กสทช. มีอำนาจในการ “อนุมัติ” หรือ “ไม่อนุมัติ” การควบรวมดังกล่าวได้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคกำลังคัดค้านการควบรวมการให้บริการอินเทอร์เน็ต ระหว่างเอไอเอสและทรีบรอดแบนด์ เนื่องจากเป็นการควบรวมที่จะทำให้เกิดการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเรียกร้องให้ กสทช. ทำหน้าที่ของตนเองโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ 

8. เสริมความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารทุกชุมชน : ผู้บริโภคต้องได้รับความปลอดภัย ตั้งแต่ต้นนำ – ปลายน้ำ

ประเด็นเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่ค่อยข้างกว้างและมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย เพราะเกี่ยวข้องกับแหล่งที่มาของอาหาร กระบวนการผลิต การนำเข้า การประกอบอาหาร รวมไปถึงนโยบายของรัฐบาลด้วย ยกตัวอย่างประเด็นที่สภาผู้บริโภคติดตามและผลักดัน เช่น ตรวจสอบและเฝ้าระวังอาหารนำเข้าที่มีการปนเปื้อนสารต่าง ๆ ทำข้อเสนอแนะเรื่องการผสมกัญชาลงในอาหารและเครื่องดื่ม เตือนภัยเรื่องอาหารที่มีสิ่งแปลกปลอมพร้อมแนะนำวิธีการแก้ไข – ร้องเรียน คัดค้านการเข้าร่วม CPTPP เป็นต้น

9. ยกระดับสิทธิผู้บริโภคไทย : สิทธิผู้บริโภคไทย ต้องทัดเทียมสิทธิผู้บริโภคสากล

ปัจจุบันรัฐธรรมนูญได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภคไทยไว้ 5 ประการ ได้แก่ 1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ 5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

ขณะที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ได้รับรองสิทธิผู้บริโภคสากลไว้ 8 ข้อ ซึ่งมีความครอบคลุมในการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าสิทธิผู้บริโภคของไทย ได้แก่ 1. สิทธิที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน (The right to basic need) เช่น ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล 2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ ( The right to safety) 3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ (The right to be information) 4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ (The right to choose)

5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (The right to be heard) 6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย (The right to redress) 7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค (The right to consumer education) และ 8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย (The right to healthy environment)

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมองว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในไทยยังรับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้จำกัดเกินไป จึงควรมีการปรับปรุงและพัฒนาให้เท่าทันต่อสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบัน และเพื่อเป็นการขยายขอบเขตสิทธิของผู้บริโภคให้ครอบคลุม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครอง และสามารถแสดงพลังในการเรียกร้องสิทธิ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค