ต้มน้ำกระท่อมขาย = ผิดกฎหมายเต็ม ๆ

หลังจากที่รัฐสภา ‘ปลดล็อกพืชกระท่อม’ ออกจากบัญชียาเสพติด ทำให้บางพื้นที่ที่มีการบริโภคพืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้านที่นำใบสดมาเคี้ยว และมีการปลูก การครอบครอง หรือแจกจ่ายใบสดที่อย่างเสรี หรือมาทำเป็นส่วนผสมอาหารเพื่อขาย แต่ล่าสุด ได้มีการผลิต ‘น้ำกระท่อม’ ออกมาจำหน่ายตามรายทางถนนหลวง และในช่องทางออนไลน์อย่างเปิดเผยทั่วทั้งประเทศนั้น ทั้งๆ ที่ยังไม่มีกฏหมายรองรับว่า “น้ำกระท่อม” สามารถขายได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นการผลิตที่ผิดกฏหมาย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ‘น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม’ จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตผลิตตาม พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ขณะที่ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้าม ผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายนั่นเอง ดังนั้น การฝ่าฝืน โดยผลิตและขายอาหารที่ พ.ร.บ.อาหารห้ามขาย มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรืออาจกล่าวได้ว่า แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้

ฉะนั้น ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มชนิดนี้ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนสินค้าผิดกฏหมาย หากพบเห็นควรแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค