ก้าวแห่งความสำเร็จ ‘รณรงค์เปลี่ยนถุงลมนิรภัย’ รัฐ – เอกชน – ผู้บริโภคตื่นตัว เยียวยาแล้วกว่า 7 ล้านบาท

สภาผู้บริโภค แถลงความสำเร็จในการรณรงค์เปลี่ยนถุงลมนิรภัย “ทาคาตะ” ที่บกพร่องออกจากรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ที่ได้สร้างความตื่นตัวให้หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค รวมทั้งช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุถุงลมนิรภัยระเบิด ได้รับเงินเยียวยารวมกว่า 7 ล้านบาท

จากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการระเบิดของถุงลมนิรภัยบกพร่องยี่ห้อทาคาตะตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 และได้จัดแถลงข่าว รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งเตือนภัยผู้บริโภคและกระตุ้นให้ผู้ใช้รถรุ่นที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยอันตรายนำรถยนต์เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยที่ศูนย์บริการได้โดยไม่มีค่าใช่จ่าย นอกจากนี้ ยังได้ทำหนังสือถึงบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้ว่าราชการทั้ง 77 จังหวัด เพื่อขอความร่วมมือให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับถุงลมนิรภัย นั้น

วันนี้ (1 มีนาคม 2566) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการรถยนต์ และผู้บริโภค เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้กำกับดูแลเรื่องการเรียกคืนรถยนต์ของผู้ประกอบการมากขึ้น ขณะที่กรมการขนส่งก็ได้เปิดใช้งาน “ระบบแจ้งเตือนถุงลมนิรภัย” เมื่อมีการดำเนินการต่อทะเบียนและชำระภาษีรถยนต์ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

ส่วนภาคธุรกิจก็มีความตื่นตัวและมีการจัดทำสื่อโฆษณารูปแบบต่าง ๆ โดยเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะหรือบางบริษัทได้เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารที่บริษัทมี เป็นต้น ซึ่งสภาผู้บริโภคขอแสดงความขอบคุณต่อบริษัท หน่วยงาน รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีเป้าหมายให้เกิดการรณรงค์ต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้รถยนต์รุ่นที่มีปัญหายังไม่ได้เข้ามารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่ประมาณหกแสนคัน ได้รับการบริการนำถุงลมนิรภัยบกพร่องออกจากรถได้หมดทุกคัน

สารี กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทรถยนต์ เช่น บริษัทฮอนด้าควรออกคำเตือน “ห้ามขับ” สำหรับรถยนต์ที่มีถุงลมนิรภัยของทาคาตะเหมือนกับที่มีการออกคำเตือนในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และสนับสนุนให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดบริษัทรถยนต์ยี่ห้อที่ได้ติดตั้งถุงลมบกพร่องดังกล่าว มีระบบรายงานการเปลี่ยนแปลงถุงลมนิรภัยให้สาธารณะทราบทุก 1 – 3 เดือน พร้อมขอให้กรมการขนส่งทางบกออกมาตรการให้รถยนต์ที่มีถุงลมที่ไม่ปลอดภัยต้องเปลี่ยนแปลงก่อนต่อทะเบียนรถยนต์เพื่อใช้งาน นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการเยียวยาที่เป็นบรรทัดฐานที่ไม่ควรน้อยกว่า 7.5 ล้านบาท ต่อกรณีหากมีการเสียชีวิต

ด้าน ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าสาขานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับรู้ข้อมูลกรณีถุงลมนิรภัยบกพร่องที่ถูกติดตั้งในรถยนต์ที่ใช้งานทั่วไป จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2565 มีกรณีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไม่รุนแรงแต่ตามร่างกายกลับมีโลหะขนาดใหญ่ฝังอยู่ที่ช่วงหน้าอกและลำคอ จึงได้ร่วมกันตั้งทีมชันสูตรกรณีดังกล่าว จนกระทั่งพบข้อมูลด้านชันสูตรจากงานวิจัยของต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะของบาดแผลและโลหะที่พบคล้ายกัน

ผลการชันสูตรสรุปว่าเกิดจากการระเบิดของถุงลมนิรภัยบกพร่อง หลังจากนั้นญาติของผู้เสียชีวิตได้ติดต่อไปที่สภาผู้บริโภคเพื่อให้ดำเนินการ จึงได้เกิดการผลักดันประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัวมากขึ้น ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเตือนภัยที่เป็นประโยชน์ต่อการลดอันตรายที่อาจถึงชีวิตได้ เพราะกรณีดังกล่าวได้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยบกพร่องระเบิดเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในต่างประเทศ

“หากสภาผู้บริโภคไม่เข้ามาดำเนินการ อุบัติเหตุถุงลมนิรภัยระเบิดในครั้งนั้นก็คงจะจบแค่ผลการชันสูตรว่าเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยระเบิด รู้สึกดีใจที่มีการผลักดันจนเรื่องนี้กลายเป็นที่รับรู้ของสังคม เพราะไม่อยากพบการเสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวอีก เนื่องจากเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ง่ายมาก เพียงแค่นำรถยนต์เข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยเท่านั้น” ผศ.นพ.สมิทธิ์ ระบุ

ส่วน ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) สภาผู้บริโภค ระบุว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากญาติผู้เสียชีวิตกรณีถุงลมนิรภัยระเบิดเมื่อเดือนเมษายน 2565 สภาผู้บริโภคได้จัดแถลงข่าวร่วมกับกรมการขนส่งทางและ และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในเดือนพฤษภาคม 2565 และหลังงานแถลงข่าว ก็ได้รับข้อมูลว่ามีผู้เสียหายจากถุงลมนิรภัยระเบิดอีก 5 กรณี แบ่งเป็นได้รับบาดเจ็บ 3 กรณี และเสียชีวิต 2 กรณี

ทั้งนี้ บางกรณีเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่สภาผู้บริโภคจะเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ และบริษัทรถยนต์ได้ทราบเรื่องและจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหายเฉพาะกรณี แต่ก็ไม่ได้การแจ้งเตือนผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภครายอื่น ๆ ได้รับความเสียหายจากถุงลมนิรภัยบกพร่องระเบิดโดยไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า และไม่ได้รับการเยียวยาจากความเสียหายเหตุถุงลมบกพร่อง

สำหรับการดำเนินการหลังรับทราบข้อมูลผู้เสียหาย ภัทรกรระบุว่า สภาผู้บริโภคได้ประสานงานไปยังผู้ประกอบธุรกิจ ให้ทราบถึงปัญหาและขอให้เยียวยาผู้บริโภคที่ประสบเหตุ โดยกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดพะเยา ได้ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา ลงพิ้นที่สอบข้อเท็จจริง เพื่อนำข้อมูล ยื่นข้อเสนอให้ทางผู้ประกอบการชดใช้เยียวยา ส่วนกรณีที่เกิดในกรุงเทพฯ ก็มีการเจรจาไกล่เกลี่ย ในลักษณะเดียวกัน คือ ส่งข้อมูลความเสียหาย เสนอตัวเลขที่ควรจะได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยสามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติที่ผู้เสียหายได้การชดใช้ในเดือนมกราคม 2566 ทั้งสองกรณีในเวลาไล่เลี่ยกัน รวมยอดเงินรวม กว่า 7 ล้านบาท ที่มีการชดใช้ตามอาการและลักษณะของการบาดเจ็บ

ด้าน วรชัย สมบัติเจริญกิจ หนึ่งในผู้เสียหายจากกรณีถุงลมนิรภัยระเบิด ได้เล่าถึงเหตุการณ์ว่า หลังจากที่ประสบอุบัติเหตุและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ได้แจ้งว่าเป็นบาดแผลที่เกิดจากเศษโลหะจากถุงลมนิรภัยระเบิด แต่ก็ไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา จนกระทั่งแพทย์เจ้าของไข้ประสานงานไปยังสภาผู้บริโภค และมีเจ้าหน้าที่ติดต่อมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักกับสภาผู้บริโภค

“ต้องขอบคุณสภาผู้บริโภคที่เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งทางกฎหมาย ข้อมูล และการประสานงาน จนกระทั่งได้รับการดูแลจากผู้ประกอบการรถยนต์ นอกจากนี้ เมื่อมีคนใกล้ตัวที่ประสบปัญหาผู้บริโภคอื่น ๆ แล้วติดต่อไปทางสภาผู้บริโภค ก็ได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลืออย่างดี ทั้งนี้ อยากให้สภาผู้บริโภคทำงานอย่างเข้มแข็งต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นองค์กรที่ทำเพื่อประโยชน์ของทุกคนจริง ๆ” ผู้เสียหายจากกรณีถุงลมนิรภัยระเบิด กล่าว

วรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ถุงลมนิรภัยจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเรื่องความปลอดภัย แต่ถุงลมนิรภัยที่ไม่ปลอดภัยก็สามารถทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ จึงอยากให้ทุกภาคส่วนช่วยการรณรงค์เรื่องการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย รวมทั้งอยากให้บริษัทรถยนต์ต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รถยนต์รุ่นที่มีปัญหาได้เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตรายออกทั้งหมด

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค