เกี่ยวกับสภาผู้บริโภค

สภาองค์กรของผู้บริโภค

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เกิดจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 46 และตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล เป็นตัวแทนผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ และมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน

วิสัยทัศน์ 

เป็นผู้แทนของผู้บริโภคทุกด้าน เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน

พันธกิจ

  1. คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคทุกคนทุกด้าน
  2. เสนอแนะนโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
  3. สนับสนุนสมาชิก องค์กรของผู้บริโภค และผู้บริโภค ให้รักษาประโยชน์ของผู้บริโภค ให้ได้รับความเชื่อถือ
  4. สร้างวัฒนธรรมและมุมมองใหม่ว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
  5. สนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์

  1. สนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคทุกด้าน
  2. พัฒนา เสนอแนะและผลักดันนโยบาย และมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
  3. สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคและองค์กรของผู้บริโภค
  4. สื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
  5. พัฒนากลไกสภาองค์กรของผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัด

ที่มาของรายได้

  1. ทุนประเดิมเบื้องต้นที่รัฐบาลจ่ายอุดหนุนจำนวน 350 ล้านบาท สำหรับดำเนินการให้องค์กรของผู้บริโภครวมตัวกันอย่างทั่วถึงและเกิดพลังอย่างแท้จริง
  2. เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้โดยตรงเป็นรายปี
  3. เงินค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการ ที่ศาลสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระแก่สภาฯ
  4. เงินค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในการดำเนินงานของสภาฯ

กว่าจะเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค
23 ปี เส้นทางสภาองค์กรของผู้บริโภค การต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้มีตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศ

พ.ศ.2540
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 57 ระบุว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเจตนารมณ์ที่ให้มีการจัดตั้ง “องค์กรอิสระของผู้บริโภค” ไว้ในกฎหมายแม่บทของประเทศไทย

พ.ศ.2550
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 61 บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลในฐานะผู้บริโภค มีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นการยืนยันเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่องที่จะให้มีองค์กรอิสระของผู้บริโภคกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

พ.ศ.2552
ประชาชน 13,000 คนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลในขณะนั้นยุบสภา ทำให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป

พ.ศ.2560
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 รับรองสิทธิของประชาชนที่จะรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค ให้เป็นองค์กรที่เป็นอิสระ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อให้องค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งเกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

พ.ศ.2561
วันที่ 5 มิถุนายน 2561 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 โดยใช้ชื่อกฎหมายว่า “สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ตามที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเสนอ ที่ต้องการให้มีสภาเดียว และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่เป็นทางการ โดยส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจแก้

คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะพิเศษขึ้น เพื่อตรวจแก้ร่างกฎหมาย เปลี่ยนเนื้อหา และชื่อกฎหมายใหม่ เป็น “พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค” โดยแก้ไขหลักการที่ให้มีสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติสภาเดียว เป็นให้เกิดได้หลายสภา พร้อมกับให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ เป็นนายทะเบียนรับจดแจ้งสถานะองค์กรของผู้บริโภค

พ.ศ.2562
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้ออกกฎหมาย “พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ…..” ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 159 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2562

พ.ศ.2563
วันที่ 8 ตุลาคม 2563 องค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งสถานะจากทางการจำนวน 152 องค์กรร่วมกันเข้าชื่อยื่นหนังสือต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะนายทะเบียนกลาง แสดงตนตามกฎหมายเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

วันที่ 9 ธันวาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาประกาศจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในทุกด้าน

ในทุก ๆ ปี สภาองค์กรของผู้บริโภค จะจัดประชุมองค์กรสมาชิกและผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรายงานผลการทำงาน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย

ติดต่อสภาผู้บริโภค

Contact Us
text
สภาองค์กรของผู้บริโภค เลขที่ 110/1 ซอยลาดพร้าว 26 แยก 1-2 ถนนลาดพร้าว แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
link
www.tcc.or.th
phone
0-2239-1839 (เวลาทำการ 09.00 -18.00 น.)
ติดต่อสภาผู้บริโภค