หน่วยงานเขตพื้นที่

“กลไกเขตพื้นที่” ตามความหมายในระเบียบสภาองค์กรของผู้บริโภค ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัด กลไกเขตพื้นที่ สมาชิก และองค์กรของผู้บริโภคของสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 หมายความว่า สมาชิกที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการให้เป็น “กลไกเขตพื้นที่”

“หน่วยงานเขตพื้นที่” เป็นองค์กรกลางในการเชื่อมประสานการคุ้มครองผู้บริโภค และการขับเคลื่อนงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภคกับหน่วยงานประจำจังหวัด องค์กรสมาชิก ตลอดจนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการทำงานที่ส่งเสริม สนับสนุน และเชื่อมร้อยการทำงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ทั้งในระดับประเด็นและจังหวัดให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระเบียบสภาองค์กรของผู้บริโภค ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัด กลไกเขตพื้นที่ สมาชิก และองค์กรของผู้บริโภคของสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 หมวดที่ 2 ข้อ 8 ระบุว่า “ให้คณะกรรมการแบ่งเขตพื้นที่ออกเป็น 7 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร โดยให้สำนักงานดำเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สมาชิกคัดเลือกกลไกเขตพื้นที่ เขตละ 1 แห่ง เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งกลไกเขตพื้นที่ โดยคณะกรรมการอาจแต่งตั้งหน่วยงานประจำจังหวัดเป็นกลไกเขตพื้นที่ก็ได้”

ปัจจุบัน “หน่วยงานเขตพื้นที่” จัดตั้งขึ้นแล้วใน 4 ภูมิภาค ได้แก่

1. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา (หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ)
2. สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก (หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันตก)
3. สมาคมผู้บริโภคสงขลา (หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้)
4. สมาคมผู้บริโภคขอนแก่น (หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ทั้งนี้ ยังคงเหลืออีก 3 ภูมิภาค คือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำลังดำเนินการจัดตั้งอยู่ ซึ่งระเบียบสภาองค์กรของผู้บริโภค ฉบับที่ 4 ข้อ 9 ระบุคุณสมบัติขององค์กรสมาชิก ที่จะเป็นหน่วยงานเขตพื้นที่ไว้ว่า สมาชิกที่จะได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานเขตพื้นที่ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ 

(1) มีผลงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีผลงานด้านการสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภคในระดับภูมิภาคต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี 

(2) มีระบบการบริหารจัดการ ที่สามารถตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น รายงานการเงินประจำปี หรือระบบการเงิน และการบัญชีขององค์กร รวมทั้ง มีการประชุมติดตามงานเป็นประจำอย่างน้อยทุก 3 เดือน และ

(3) ต้องได้รับความเห็นชอบโดยเสียงข้างมากของสมาชิกทั้งหมดในระดับภูมิภาค

บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานเขตพื้นที่
1. สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานประจำจังหวัด สามารถดำเนินงานได้ตามบทบาทหน้าที่
2. สนับสนุนและสร้างความเข็มแข็งให้แก่องค์กรสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อพัฒนาเป็นหน่วยงานประจำจังหวัด และผลักดันให้องค์กรของผู้บริโภคทั่วไป สามารถจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคกับนายทะเบียนกลางได้ 
3. สนับสนุนสำนักงานในการติดตามการทำงานของหน่วยงานประจำจังหวัด

สิทธิผู้บริโภค คือ สิทธิพลเมือง (Protection Model) การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นแนวทางที่ผสมผสานแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภคในรูปแบบการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค และมีความเข้าใจในการตัดสินใจเลือกใช้สินค้าและบริการได้อย่างปลอดภัย และเป็นธรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงให้ความสำคัญกับการคัดเลือกองค์กรสมาชิกในภูมิภาคที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจัดตั้งเป็นหน่วยงานเขตพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในระดับภูมิภาค โดยมีหน่วยงานประจำจังหวัด และหน่วยงานเขตพื้นที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ค้นหาหน่วยงานเขตพื้นที่และหน่วยงานประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค

ที่ตั้ง