ยิ่งช้า ยิ่งไม่ปลอดภัย เร่งก่อสร้างพระราม 2 ปิดงาน 

สภาผู้บริโภคห่วงก่อสร้างถนนพระราม 2 ล่าช้าสาเหตุความไม่ปลอดภัย เตรียมเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหารือมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยและเร่งการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดการ

จากกรณีเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชันเอ็กซ์ (X) เกี่ยวกับการก่อสร้างถนนพระราม 2 ที่ล่าช้า สร้างปัญหาให้กับผู้สัญจรไปมาและนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการสองฝั่งถนนเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมถึงก่อให้เกิดมลพิษ กระทบต่อสุขภาพประชาชน และกลายเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวหัวหินน้อยลง พร้อมระบุว่า กระทรวงคมนาคมแจ้งว่าจะเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้นก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึง นั้น

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 50 ปี เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภคและผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน แม้จะมีผู้บริโภคที่เดินทางในเส้นทางดังกล่าวออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในโชเซียลมีเดียถึงความไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยในการเดินทาง อีกทั้งสภาผู้บริโภคเคยแถลงข่าว รณรงค์ และส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดจัดการปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน

“สิ่งที่น่ากังวลคือ การก่อสร้างมีแนวโน้มว่าจะล่าช้าจากกำหนดเดิมออกไป โดยที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถกำกับ เร่งรัด หรือควบคุมเรื่องระยะเวลา คุณภาพ รวมถึงความปลอดภัยของการก่อสร้างได้เลย”

คงศักดิ์ระบุ

ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งฯ กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย พร้อมนัดทุกฝ่ายหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเตรียมเชิญผู้รับเหมาก่อสร้าง กระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แต่ละฝ่ายชี้แจงแผนการก่อสร้าง มาตรการป้องกันและความปลอดภัยจากการก่อสร้างให้กับผู้บริโภคที่สัญจรผ่านพื้นที่เขตการก่อสร้างตลอดถนนพระราม 2ตลอดจนร่วมหารือในประเด็นการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมเป็นธรรม หากมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบหรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน ร่างกายและจิตใจจากการก่อสร้าง อันมีสาเหตุจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ไม่สามารถยับยั้งหรือป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้

อย่างไรก็ดี สภาผู้บริโภคขอเรียกร้องไปยังกระทรวงคมนาคมเร่งกำหนดมาตรการกำกับ ปรับปรุงหรือเพิ่มเติมมาตรการความปลอดภัยให้มีความรัดกุม รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมในกระบวนติดตามตรวจสอบและประเมินการทำงานก่อสร้างของผู้รับจ้างอย่างสม่ำเสมอและทันต่อสถานการณ์ โดยจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างจากภาครัฐและตัวแทนผู้บริโภคที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบร่วม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน

ทั้งนี้ หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน ได้แสดงความเห็นเรื่องความล่าช้าในการก่อสร้างถนนพระราม 2 ที่ส่งผลให้การจราจรติดขัดสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่า สัญญาการก่อสร้างถนนพระราม 2 มี 10 สัญญาโดยระยะเวลาการก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ถึง มกราคม 2568 และได้รับการขยายสัญญาเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2568 ขณะนี้ช้ากว่าสัญญาประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้ตามแผนต้องได้ร้อยละ 50 ปัญหาล่าช้าเกิดจากผู้รับเหมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากกรมทางหลวงได้ให้ผู้ก่อสร้างทำงานในบางครั้งเฉพาะช่วงกลางคืน เพราะเป็นห่วงว่าหากดำเนินการก่อสร้างในช่วงกลางวันจะทำให้รถติด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมทางหลวงได้จัดทำหลักการสำหรับทำสมุดพกตัดคะแนนผู้รับเหมา ในกรณีที่ดำเนินการล่าช้าจะมีการตัดคะแนนและหากครบจำนวนก็จะมีการขึ้นบัญชีดำไม่ให้ผู้รับเหมารายนั้นไปประมูลงานต่อไปซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้รับเหมามีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น

สำหรับการจัดการในช่วงสงกรานต์นั้น สุริยะกล่าวว่า จะให้ผู้รับเหมาคืนพื้นที่ก่อสร้างให้กับการจราจรให้เรียบร้อยซึ่งก็น่าจะบรรเทาปัญหาไปได้ และตนก็จะลงไปในพื้นที่เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการจราจรจะไม่ติดขัด

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค #ถนนปลอดภัย