ยื่น กตป. ตรวจสอบ กสทช. กรณีควบรวมมือถือ – เน็ตบ้าน

สภาผู้บริโภค ยื่น “รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำฯ ของ กสทช.” ต่อ กตป. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แนะตรวจสอบการทำงานของ กสทช. กรณีควบรวมค่ายมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้าน

จากกรณี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าวแถลงข่าว “เปิดแถลงรายงานการทำหน้าที่และการละเลยการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีควบรวมค่ายมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านในมุมผู้บริโภค” ซึ่งพบว่ามีการละเลยการกระทำในหลายกรณี โดยสภาผู้บริโภคได้ทำรายงาน และเตรียมยื่นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงและให้ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. รวมทั้งสำนักงาน กสทช. นั้น

วันที่ 4 มีนาคม 2567 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้ยื่น “รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

อันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคจากกรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม” ต่อคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีนางสาวอารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. เป็นผู้รับหนังสือ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของสภาผู้บริโภคต่อ กตป. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คือประเด็นการดำเนินการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กสทช. และ สำนักงาน กสทช. ในการกำกับมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังการรวมธุรกิจ รวมทั้งรายงานข้อเท็จจริงหรือข้อสังเกตจากการปฏิบัติตาม อำนาจหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60 และ มาตรา 75 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 หรือไม่

“กตป. ถือเป็นหน่วยงานตรวจสอบ ที่มีหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. จึงคาดหวังว่าการเปิดเผยรายงานการทำและการละเลยการทำฯ รวมถึงข้อเสนอแนะของสภาผู้บริโภคในครั้งนี้ จะเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ช่วยพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มข้นมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุ

ทั้งนี้ ช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม สภาผู้บริโภคจะไปยื่น รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำฯ ดังกล่าว ต่อตณะกรรมาธิการ 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร  2. คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร 3. คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร และ 4. คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โดยจะแจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบในลำดับต่อไป

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค