ร่าง พ.ร.บ.อาหารใหม่ ต้องคุมคุณภาพอาหาร ตามทันโฆษณาได้จริง 

สภาผู้บริโภค หนุนแก้ร่างพระราชบัญญัติอาหารฉบับใหม่ให้ทันสมัย ขยายคุมโฆษณาออนไลน์เกินจริง เพิ่มบทลงโทษอาหารไม่ปลอดภัย พักหรือเพิกถอนใบอนุญาต พร้อมจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท หวังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค 

วันที่ มีนาคม 2567 สภาผู้บริโภคได้จัดประชุมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ อาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ…. ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีนักวิชาการ ภาคประชาชน อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค สภาผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมเสนอความคิดเห็นเพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงร่างพ.ร.บ.อาหารฉบับดังกล่าว

ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า  ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคเห็นว่าประเด็นที่ต้องแก้ไขคือ การเพิ่มคำนิยามเรื่องการขายอาหารหมดอายุซึ่งจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยครอบคลุมอาหารแปรรูปทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การกำกับของ อย. และถือว่าเป็นอาหารเสื่อมคุณภาพทันที หรืออำนาจในการเรียกคืนสินค้าเมื่อพบว่าสินค้านั้นอันตราย

นอกจากนี้ เรื่องการเพิ่มบทลงโทษที่มากขึ้นสำหรับการโฆษณาเกินจริง รวมไปถึงการควบคุมการโฆษณาสินค้าทางออนไลน์ ซึ่งหากมีผู้ใดโฆษณาอาหารที่มีข้อความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมและส่วนรวม ก็จะมีการเพิ่มบทลงโทษที่หนักขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันและป้องปรามไม่ให้เกิดปัญหาการโฆษณาอวดอ้างเกินจริงได้

“การปรับแก้ พ.ร.บ. อาหาร ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงและทำให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง คาดหวังว่า พ.ร.บ. ที่ทันสมัย และคุ้มครองผู้บริโภคได้จริงน่าจะคลอดออกมาได้สักที” ภาณุโชติกล่าว

วรพจน์  ฤทธิ์ดี  นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการร่างกฎหมายและเสนอแก้ไข กล่าวว่า อย.เห็นว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุง พ.ร.บ.อาหาร ปี 2522  เพื่อปรับให้การปฏิบัติสามารถบังคับได้จริง โดยจะมีการแก้ไขตั้งแต่คำนิยาม ที่มีข้อจำกัดในการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเห็นว่าควรยกเลิกคำนิยาม 3 คำ คือคำว่า ได้แก่ “อาหารควบคุมเฉพาะ” “ตำรับอาหาร”  และ “โรงงาน”  

โดยคำว่าโรงงาน จะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. โรงงาน ซึ่งมีเงื่อนไขเรื่องจำนวนกำลังคนในการผลิต และอื่น ๆ จึงทำให้การบังคับใช้เกิดขึ้นยาก และมีช่องโหว่ให้ผู้ประกอบการบางรายลักลอยผลิตอาหารโดยไม่ขออนุญาต ดังนั้นจึงเปลี่ยนเป็นคำว่า “สถานที่” ซึ่งสามารถบังคับใช้ได้เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นสถานที่แบบไหน ใช้ประกอบอาหาร ก็เข้าข่ายในการควบคุมได้ ส่วน คำว่า “อาหารควบคุมเฉพาะ” และ “ตำรับอาหาร” เปลี่ยนมาใช้คำว่า “วัตถุสัมผัสอาหาร” “เอกสารกำกับอาหาร”เพื่อให้สามารถควบคุมและกำหนดบทลงโทษได้

นอกจากนี้ สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. อาหาร คือ การเพิ่มขอบข่ายอำนาจรัฐมนตรี ให้สามารถบริหารจัดการเพื่อรองรับการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น โดยกำหนดกลุ่มอาหารเสี่ยง และอาหารที่ต้องประเมินความปลอดภัย อาหารควบคุมเฉพาะ และการผลิตเพื่อการส่งออก โดยให้สถานที่ผลิตอาหารดังกล่าวต้องขอรับใบอนุญาตผลิตอาหารและกำหนดให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับอาหารนั้นเมื่อผู้อนุญาตร้องขอและต้องจัดเก็บเอกสารหรือหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวัง เช่น กรณีสินค้าถูกส่งคืน 

ทั้งยังกำหนดเพิ่ม อาหารเสื่อมคุณภาพ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อให้สามารถดำเนินการ กับอาหารหมดอายุ และอาหารที่มีลักษณะทางกายภาพเปลี่ยนแปลงไปได้ทันที และสามารถนำอาหารที่ไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค ออกจากตลาดได้อย่างทันท่วงที

ส่วนในเรื่องการควบคุมการโฆษณาอาหาร ได้กำหนดหลักเกณฑ์การโฆษณา ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณากำหนดให้การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารต้องได้รับใบอนุญาตและเพิ่มอำนาจให้ผู้อนุญาตในการดำเนินการกับการโฆษณาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยสามารถเก็บหรือเรียกเก็บสื่อโฆษณาอาหารที่ฝ่าฝืนได้

วรพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับบทลงโทษได้เพิ่มบทลงโทษเรื่องของการพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต และมีการกำหนดบทลงโทษเพิ่มมากขึ้นจากเดิมของบทกำหนดโทษ จำคุก 1 ปี มีโทษปรับ 10,000 บาท  เป็นกำหนดโทษ จำคุก 1 ปี มีโทษปรับ 100,000 บาท และให้อำนาจ เปรียบเทียบปรับ กับเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีได้

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีข้อกังวลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. อาหารฯ ในหลายประเด็นทั้งเรื่องหน่วยงานกำกับอนุญาตที่แท้จริงว่าจะไปถึงปลายทางในเชิงคุณภาพมาตรฐานโดยไม่ต้องใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมอาหารที่นำเข้าจากชายแดน การโฆษณาที่มีการปรับตัวตามแพลตฟอร์มทำให้กฏหมายเข้าไปควบคุมไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติ อาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ….ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้วหลายครั้งและเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2 แต่ถูกยุบสภาฯ ก่อน จึงเริ่มกระบวนการพิจารณาใหม่ โดยปัจจุบันได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยเตรียมพิจารณาวาระหนึ่งเพื่อตั้งกรรมาธิการในการปรับปรุงแก้ไข