สภาผู้บริโภค เตรียมเสนอ นายกฯ ทบทวน “พ.ร.บ.การศึกษา” เหตุขาดการมีส่วนร่วม 

สภาผู้บริโภค เปิดเวทีรับฟังความเห็น “ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ” ด้านนักวิชาการ –นักการเมือง – นักศึกษา – นักเรียน เห็นพ้อง ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาปี 2564 ขาดการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม ไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน เน้นกลไกแก้ปัญหา ขาด “ปรัชญา – จินตนา”การศึกษาในอนาคต

จากกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติปี 2564 ผ่านพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้แทน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับปี 2542 ที่ใช้มานานกว่า 25 ปี อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฉบับดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการการเรียนรู้แบบใหม่” นั้น

วันที่ 8 มิถุนายน 2567 สภาผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคจึงเปิดพื้นที่เวทีสาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ในเวที “ชำแหละร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” โดยมีนักวิชาการด้านการศึกษา นักการเมือง ตัวแทนเยาวชน นักศึกษา เข้าร่วมเแสดงความคิดเห็น 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเป็นกลไกในการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำนโยบายที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยในเรื่องของการศึกษาสภาผู้บริโภคมีเรื่องร้องเรียนหลายกรณี เช่น ตำราเรียนที่มีการผูกขาดทำให้มีราคาสูง  และดอกเบี้ยหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แม้ว่าปัจจุบันจะปรับกฎหมายให้เหลือดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี แต่ยังมีผู้ร้องเรียนที่พบปัญหากู้ยืมเงิน 3 แสนบาท และส่งรายงวดไปแล้วเกิน 3 แสนบาท แต่กลายเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด

สารี กล่าวอีกว่า โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้คนที่อยากเรียนได้เรียน โดยเป็นการศึกษาในรูปแบบที่ฟรีตลอดชีวิต เพราะการศึกษาควรจะเป็นสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน แม้ว่าขณะนี้จะเรียนฟรี 12 ปี แต่ผู้ปกครองก็ยังถูกเรียกเก็บเงินจำนวนไม่น้อยเพื่อเป็นค่าบำรุงการศึกษา อุปกรณ์ ชุดนักเรียน หรืออื่นๆ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สภาผู้บริโภคจึงจัดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นแผนแม่บทด้านการศึกษาเพื่อรวมรวมข้อมูลความคิดเห็นทั้งหมดเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป

“สภาผู้บริโภคจะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพื่อทำข้อเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ว่าอะไรควรมีหรือไม่ควรมีในกฎหมายฉบับนี้ พ.ร.บ. การศึกษาเปรียบเหมือนแผนแม่บททางด้านการศึกษาที่จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นๆ จึงต้องทำให้รับใช้คนเรียนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ หากเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาได้ ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมได้เช่นกัน” สารีกล่าว

ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา  กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับปี 2564 เป็นร่างที่กระทรวงศึกษาธิการที่เตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรรี เนื่องจากผ่านการรับฟังความคิดเห็น ทั้ง 4 ภูมิภาค และผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้วคาดว่าประมาณต้นปี2568 จะเข้าสภาผู้แทนราษฏรได้

ทั้งนี้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของการศึกษาได้ เพราะระบุถึงการเทียบโอนการเรียน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม สามารถปรับรวมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาของหน่วยงานและพรรคการเมือง ทั้ง 6 ฉบับที่เตรียมเสนอเพื่อหาข้อดีที่สุดในการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ด้าน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานคณะทำงานด้านการศึกษา  สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ การศึกษาแห่งชาติ ปี 2564 มีรายละเอียดจำนวนมากที่มุ่งแก้ไขปัญหาเดิม ๆ โดยมีมาตราที่เป็นกลไกบริหารจัดการกว่า 110 มาตรา แต่กลับไม่เห็นเป้าหมายหรือ ปรัชญาการศึกษาใน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เลย ในขณะที่สถานการณ์การศึกษาโลกเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังไม่ตอบโจทย์การสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการศึกษา และไม่สามารถรองรับการศึกษาในอนาคตได้

“ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯ ปี 2564 มีความซับซ้อน มีเรื่องของ กลไกลการตั้งคณะทำงานแก้ไขทางเทคนิค แต่ไม่สามารถสื่อสารกับคนได้ว่า เราต้องการให้การศึกษาไทยเดินไปในทิศทางไหน และมีรายละเอียดจำนวนมาก โดยออกแบบเพื่อใช้ พ.ร.บ.แก้ปัญหาทุกอย่าง และหวังว่า พ.ร.บ.เพียงฉบับเดียวนี้จะแก้ไขทุกเรื่องได้ซึ่งอาจจะเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ข้อดีใน พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 ถูกตัดหายไปหมด” ผศ.อรรถพล ระบุ

ขณะที่ เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวว่า  พ.ร.บ.การศึกษาตั้งแต่ปี 2542 ในมาตรา 12 ให้สิทธิองค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชน ครอบครัว เอกชน และสถาบันศาสนา มีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและออกแบบการเรียนรู้ได้ แต่ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาปี 2564 ตัดสิ่งเหล่านี้ออกไปและขาดการมีส่วนร่วมของประชาสังคมไปเน้นเชิงกลไกแก้ปัญหาครูไม่นำไปสู่จินตนาการใหม่ของการศึกษา 

“อยากเห็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ให้มีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชนสังคม จะทำให้การศึกษาดีขึ้นและตอบโจทย์มากขึ้นเพราะจะได้มีการศึกษาที่หลากหลายและยืดหยุ่น ขณะที่ครูต้องหลากหลายมากขึ้น เพราะครูที่เก่งคือผู้สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาต้องตอบโจทย์จินตนาการของผู้เรียนที่มองเห็นอนาคตได้” เทวินฏฐ์กล่าว

ด้ายเสถียร พันธ์งาม เครือข่ายครูอีสาน  กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ทันกับสถานการณ์โลก โดยต้องมีคุณภาพ ความเสมอภาค เท่าเทียม เช่นเรียนฟรีต้องฟรีอย่างแท้จริง และควรจะมีเป้าหมายจัดการศึกษาเพื่อสร้างประชาชนให้เป็นพลเมืองเพื่อเป็นพลังของประเทศ  

นอกจากนี้โครงสร้างการจัดการศึกษาต้องออกแบบให้มีส่วนร่วมและเกิดการกระจายอำนาจไปที่สถานศึกษา และผู้เรียน โดยลดอำนาจกระทรวง ทบวง กรม และเขตพื้นที่การศึกษาไปเพิ่มอำนาจให้กับสถานศึกษา

“ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาต้องสร้างการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจให้สถานศึกษามีอำนาจทุกอย่าง ทั้งการบริหารจัดการ หลักสูตร และ งบประมาณเพื่อสร้างพลเมืองตื่นรู้  โดยต้องปรับปรุงให้ทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป” เสถียรระบุ

ขณะที่พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่า เราจะเข้าใจการศึกษาได้ดีมากถ้ามองในมุมในผู้บริโภค เพราะความจริงแล้วการบริการศึกษาถือเป็นสวัสดิการเรื่องแรกที่เราได้รับจากรัฐ เมื่อ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับเดิม ปี 2542 ใช้มานานกว่า 20 ปีก็ควรต้องมีการปรับปรุงให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยพรรคก้าวไกลเองก็มีการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่กำลังจะเตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏร 

โดยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาของพรรคก้าวไกลยึดเอาโครงของ พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 เป็นสารตั้งต้น และให้ความสำคัญ 3 หัวข้อ คือ เรื่องสิทธิ ประกอบด้วย สิทธิผู้เรียน สิทธิในการเรียนรู้  และสิทธิการเรียนในสถานที่ปลอดภัย  2. เรื่องโครงสร้างการศึกษาที่ต้องออกแบบด้วยความไว้วางใจให้มีการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาออกแบบการเรียน มีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นเหมาะสม และการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เช่นที่ ฟินแลนด์ ได้กระจายอำนาจให้นักเรียนผ่าน สภานักเรียนที่ยึดโยงกับนักเรียนมากขึ้น  และ 3. การยกระดับการจัดการทั้งหลักสูตร มีกลไกทบทวนหลักสูตร ขณะที่เรื่องงบประมาณ อาจจะไม่ได้พิจารณาตามกรอบงบประมาณรายหัว แต่จะคำนึงถึงปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น

ส่วนตัวแทนเยาวชน นดา บินร่อหีม ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นใน พ.ร.บ.การศึกษาฯ คือเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเด็กที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มชาติพันธ์ หรือกลุ่มที่ไร้สัญชาติ และการแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา 

นอกจากนี้ให้มีการเปิดให้นักเรียนมีส่วนร่วม ในการออกแบบการศึกษาที่เหมาะสม และสิทธิเสรีภาพในการศึกษา โดยจากการศึกษาข้อมูลของสภาเด็ก พบว่า ยังมีช่องว่างของพ.ร.บ.การศึกษาฯ เนื่องจากเด็กเยาวชนไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบจัดการศึกษาและออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสม และตอบโจทย์  เราจึงอยากให้ทุกโรงเรียนเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เสนอปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรการ การสอน และกฎระเบียบการศึกษา และอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ ให้เด็กเยาวชนมีส่วนร่วมในการออกแบบโดยให้เป็นคณะกรรมการ คณะทำงาน ออกแบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน หรือเข้าไปร่วมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่

นอกจากนี้อยากให้กระทรวงศึกษาทบทวนประเมินผลนักเรียนที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนานักเรียน เพราะแต่ละพื้นที่อาจจะมีความแตกต่างกันทำให้หลักสูตรและการประเมินผลอาจจะไม่ตอบโจทย์การศึกษาในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

เช่นเดียวกับ อภิสิทธิ์ ฉวานนท์ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  อยากเห็นการจัดการศึกษาโดยให้นักเรียน นักศึกษามีสิทธิในการกำหนดตัวเอง  เพราะที่ผ่านมา การศึกษาเป็นเรื่องที่ผู้เรียนทำตามสิ่งที่คนอื่นออกแบบให้ ‘พวกเราทำ แต่พวกเราไม่ได้เลือก’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือภาพการศึกษาของไทย 

“กระบวนการศึกษาไม่ได้ทำให้เราออกแบบตัวเองว่า เราอยากเป็นใคร  เราอยากสนใจการเรียนแบบไหน แต่เรามีกล่องให้เลือกแค่ วิทย์ คณิต ศิลป์ ภาษา เราถูกกำหนดไปเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องเสื้อผ้า ทรงผม  แต่เราไม่มีสิทธิกำหนดตัวเอง ผมจึงอยากให้การศึกษาทำให้เราสามารถออกแบบตัวเองได้และการศึกษาควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ให้สิทธิในการกำหนดตัวเองว่า โรงเรียนเปิดพื้นที่ให้แสดงความเห็นได้มากน้อยแค่ไหน และนำไปใช้ด้วย การศึกษาไทยจึงต่องเปลี่ยนวิธีคิด ระบบ ระเบียบใหม่” อภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย