สภาองค์กรของผู้บริโภค ค้าน กสทช. สนับสนุนงบฯ 1,600 ล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก 2022

มติอนุฯ ด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค คัดค้าน กสทช. ใช้งบฯ กทปส. 1,600 ล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ชี้ หากต้องการสนับสนุนควรใช้งบฝ่ายบริหาร

จากกรณีที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งมีรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการ ได้ยื่นขอเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ประมาณ 1.6 พันล้านบาท เพื่อถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งกองทุนดังกล่าวได้จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่ง กสทช. จะมีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าว ในวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565 นั้น

วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2565) สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้าน
การสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นด้วยและสนับสนุนข้อเสนอ คณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่ออกมาคัดค้านกรณีการเงิน 1,600 ล้านบาทไปใช้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก และเสนอว่าหากรัฐต้องการสนับสนุนควรใช้งบประมาณของฝ่ายบริหารในการดำเนินการ

ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ อธิบายว่า เงินจากกองทุน กทปส. เป็นเงินส่วนกลางเพื่อประโยชน์สาธารณะ การนำเงินดังกล่าวไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะกระทบต่อสภาพคล่องของเงินทุน ส่งผลกระทบสำคัญต่อโอกาสในการเข้าถึงบริการของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของคนไทยในวงกว้าง เกิดการหยุดชะงักของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารของประเทศ และจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการขาดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของคนไทยทั้งประเทศในภาพรวมได้

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไม่ใช่หน้าที่และ
พันธกิจหลักของ กสทช. หากรัฐบาลต้องการสนับสนุนควรใช้งบประมาณของฝ่ายบริหารในการจัดซื้อลิขสิทธิ์ และเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในระยะยาว กสทช. ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันด้วยการทบทวนประกาศที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 เพื่อให้หลักการในเชิงนโยบายสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 ในฐานะอดีตคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม สุภิญญา กล่าวอีกว่า เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง กสทช. ได้เคยเสนอให้ ปรับปรุง ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555  ให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง

“กสทช. ต้องปรับแก้ไขประกาศมัสต์แฮฟใหม่ และไม่ใช้ เงินกองทุนวิจัยและพัฒนา กทปส. ผิดวัตถุประสงค์แบบที่ผ่านมา รัฐบาลก็ไม่ควรมาใช้กองทุนนี้เหมือนงบฉุกเฉิน  กทปส. ไม่ใช่เอทีเอ็มที่จะกดใช้เมื่อไหร่ อย่างไรก็ได้ ถ้ารัฐบาลต้องการให้มีการถ่ายทอดสดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายประชานิยม ก็ควรที่จะแสดงฝีมือในการชวนภาคเอกชนมาลงขันกันมากกว่าใช้งบสาธารณะ 1,600 ล้าน โดยที่ประชาชนยังไม่เห็นรายละเอียดของงบประมาณว่าจริง ๆ แล้ว ต้นทุนค่าลิขสิทธิ์เป็นจำนวนเงินเท่าไร” สุภิญญา ระบุ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค