เรียกร้องกรุงเทพฯ.ยุติร่างผังเมือง นักวิชาการ – ภาคประชาชน รุมค้านร่างละเมิดสิทธิปชช. 

น้ำท่วม ขาดหลักผังเมืองธรรมนูญกำหนดทิศทางเมือง สภาผู้บริโภค นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน เรียกร้องกรุงเทพฯ. ยุติการดำเนินการผังเมืองรวม ย้ำประชาชนต้องมีส่วนร่วม พร้อมเตรียมยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ กทม. เปลี่ยนบึงรับน้ำคู้บอนให้บริษัทเอกชนทำโครงการบ้านจัดสรร 

จากกรณีที่กรุงเทพมหานครได้เริ่มกระบวนการจัดทำและวางผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ 50 เขตเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาและเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นคัดค้านได้ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้บริโภคและเครือข่ายภาคประชาชน เรียกร้องให้กรุงเทพมหานครยุติการดำเนินการทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร ยุติการดำเนินการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และขอให้จัดเริ่มกระบวนการใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น  ทั้งนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นในเวทีเสวนา “หยุดผังเมืองกรุงเทพฯ เหนือสิทธิประชาชน”  โดยมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากเครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประชาชนจากสุขสวัสดิ์ ซอยอารีย์ ซอยสวัสดี หมู่บ้านศุภาลัยพระราม 2 ซอยสุขุมวิท 49 และนักวิชาการ

เครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครยุติกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และขอให้เริ่มกระบวนการใหม่โดยไม่มีร่างผังเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จจริง

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องเรียกร้องให้ กรุงเทพมหานครยุติการดำเนินการทั้งหมดในการร่างผังเมืองรวม ฉบับนี้ประกอบด้วย 

1. การดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 72 (2) ที่ระบุว่า“รัฐพึงจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพรวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่” ต้องเริ่มต้นจากการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ  และการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่ก่อนการจัดทำร่างผังเมืองรวม แต่มีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฉบับนี้ไม่มีกระบวนการดังกล่าว จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

2. ร่างผังเมืองครั้งนี้ขัดต่อกฎหมายการวางและจัดทำผังเมืองอาจขัดต่อมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 คือไม่มีการประชาสัมพันธ์ทำอย่างไม่ทั่วถึง ประชาชนจำนวนมากไม่ทราบถึงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)

นอกจากนี้ข้อมูลที่ให้ในการรับฟังความคิดเห็นกับประชาชน ไม่มีความละเอียดครอบคลุมเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่เข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง ชุมชน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่ให้ข้อมูลแนวทางการเยียวยาความเสียหายเดือดร้อน

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค

“ด้วยเหตุผลดังกล่าวพวกเราขอให้กรุงเทพมหานคร ยุติกระบวนการรับฟังความคิดเห็นการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่ดำเนินการอยู่ และขอให้จัดรับฟังความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนขึ้นใหม่โดยต้องเริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในแต่ละพื้นที่ “ก่อน” ที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม ไม่ใช่นำ “ร่าง” ผังเมืองรวมที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่แรกมาใช้รับฟังความคิดเห็น อย่างเช่นที่ทำอยู่ในขณะนี้”

ด้านก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมืองกล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าผังเมืองรวมฉบับดังกล่าวมีจุดอ่อนในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขาดการมีส่วนรวมของประชาชน ขัดต่อกฎหมายผังเมืองปี 2562 มาตรการ 9 และเมื่อไม่รับฟังประชาชน อีกทั้งผังเมืองก็ไม่ได้สะท้อนความต้องการในการจัดการเมืองร่วมกันตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นร่างผังเมืองฉบับนี้จึงจบแล้วตั้งแต่ต้น ไปต่ออีกไม่ได้เลย

ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง

ขณะที่ วิรพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) กล่าวว่า หากกางร่างผังเมืองฯ ฉบับนี้ จะพบว่าลิดรอนสิทธิ์ของคนกรุงเทพ จำนวนมากมีการวางสีแดง ส้ม เหลือง เขียว ที่เลือกจากย่านธุรกิจ ทำให้พื้นที่มรดกวัฒนธรรมจะหายไป ทั้งที่เป็นส่วนมรดกที่จับต้องไม่ได้ก็คือชาวบ้าน ที่จะต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ ความเป็นชุมชนจะหายไปหมด ส่วนมรดกที่จับต้องได้อย่างเช่น ตึก บ้าน ร้านค้า พื้นที่เยาวราช ส่วนใหญ่เป็นอาคารเช่า และสตรีทฟู้ด หากขยายถนนพื้นที่วัฒนธรรมสำคัญของคนกรุงเทพจะหายไปสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมจึงไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการประชุมรับฟังความคิดเห็นวันที่ 6 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาและขอให้ทบทวนการดำเนินการทั้งหมด

“ผมคิดว่าจากสถานการณ์ผังเมืองกทม. ที่ผ่านมาจนปัจจุบันเกิดผลกระทบมาโดยตลอดเพราะมีการบังคับใช้อย่างไม่เหมาะสมมีการใช้มาตรการด้านการเงินเพื่อเวนคืนโดยรัฐ แต่รอนสิทธิประชาชนไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร ไม่เคยมีการคำนึกถึง “สิทธิชุมชน” ที่อยู่มานานใน “ย่าน” โดยเน้นให้ “สิทธิ” ประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดิน ตามกฏหมาย และผังเมืองรวมไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาสิ่งแวดล้อมได้”

ขณะที่ ผศ.ดร.พิชญ์  พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง กล่าวว่า ผังเมืองคือรัฐธรรมนูญฉบับท้องถิ่น ที่กำหนดทิศทางเมืองและการอยู่ร่วมกัน ซึ่งคนที่มีอำนาจในเมืองคือคนที่อยู่อาศัยในเมือง เพราะฉะนั้นผังเมืองที่ดีต้องคุ้มครองคนที่อยู่อาศัยได้

ผศ.ดร.พิชญ์  พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตามหลังจากการได้พิจารณาร่างผังมืองรวมฯ ฉบับนี้แล้วพบว่าขาดหลักการและวิธีคิดในการทำผังเมือรวมใน 2 ข้อ คือ หนึ่ง กำหนดอำนาจและทิศทางการพัฒนาเมืองอย่าง สมดุลของคนที่ใช้ชีวิตในเมืองและสองผังเมืองต้องทำหน้าที่เป็นรัฐธรรมนูญท้องถิ่นที่คุ้มครองคนที่ใช้ชีวิตในเมืองได้ แต่ผังเมืองฉบับนี้ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น คนเมืองไม่มีสิทธิ์ในผังเมืองจนกว่าจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งผังเมืองที่ดีจะต้องลดความขัดแย้งและทำให้คนมีความสุขเพิ่มขึ้น

“ผมคิดว่าทางออกในเรื่องนี้มี 2 ทางคือ กรุงเทพมหานครต้องยุติการดำเนินการผังเมืองฉบับนี้เพราะว่า คนที่อยู่อาศัยในเมืองที่ไม่ใช่แค่คนจนแต่คนรวยก็ได้รับผลกระทบ หลังจากนั้นต้องร่างผังเมืองใหม่โดยให้คนเมืองออกแบบเมืองที่ตัวเองอยากอยู่อาศัยร่วมกัน”

ด้าน อรรถวิชช์  สุวรรณภักดี  ผู้แทนภาคประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการทำผังเมืองรวม กทม. ฉบับนี้ ไม่มีการรับฟังความคิดเห็น แต่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างเดียวคือการประชาพิจารณ์เรื่องบึงรับน้ำคู้บอนขนาด 8 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งประชาชนอยากให้ดำเนินการ แต่ปรากฏว่า ไม่มีการกำหนดในผังน้ำและไม่มีการเวนคืนที่ดินดังกล่าว แต่มีการนำพื้นที่ไปให้บริษัทเอกชนทำบ้านจัดสรร โดยเรื่องนี้เตรียมจะยื่นให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ

อรรถวิชช์  สุวรรณภักดี  ผู้แทนภาคประชาชน

ส่วน กรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นในฐานะประชาชนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดอยู่เพียงเมืองเดียว ในขณะที่ประเทศอื่นมีการกระจายตัวของตัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ แต่ของประเทศไทยกลับมีความกระจุกตัวสูงมาก เพราะฉะนั้นจึงมีคำถามที่ควรต้องมีคำตอบว่า เราควรมียุทธศาสตร์หรือทัศนคติในการพัฒนาประเทศอย่างไร ซึ่งการทำแผนผังหรือแผนพัฒนาเมืองในอนาคตจะต้องพิจารณาถึงประเด็นความเจ็บปวดของคนกรุงเทพ (Pain Point) ซึ่งกรุงเทพมหานครมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม รถติดคุณภาพอากาศและพื้นที่สีเขียว เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่จะเสนอแผนพัฒนาพัฒนาตัวเมืองกรุงเทพต้องตอบให้ได้ก่อนว่าแผนที่จะเสนอจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

“ผมมีประเด็นคำถามอย่างมากว่ายุทธศาสตร์การร่างผังเมืองร่างที่ 4 นี้จริง ๆ ยุทธศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ประโยชน์ของใครและผมคิดอย่างไรก็ตาม ผมก็มีข้อสรุปได้เพียงข้อเดียว ผู้ที่ได้ประโยชน์ชัดเจนมากที่สุดคือนายทุน ไม่ใช่ประชาชน” นายกรณ์ระบุ

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผังเมืองกรุงเทพ #ประชาพิจารณ์