สภาผู้บริโภคพร้อมเป็นตัวแทนตรวจสอบ “ข้าว 10 ปี”

สภาผู้บริโภค พร้อมเป็นตัวแทนตรวจสอบคุณภาพ “ข้าว 10 ปี” พร้อมเสนอรัฐชะลอการประมูลข้าวสาร ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร 10 ปี และให้สภาผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการวางแผน – ตรวจสอบการประมูล

จากกรณีที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบข้าวสารในโกดังของรัฐบาลตามโครงการรับจำนำข้าวที่เก็บมากว่า 10 ปี จำนวน 145,590 กระสอบ และนำข้าวที่เก็บในโกดังมาหุงรับประทาน เพื่อยืนยันว่าสามารถรับประทานได้ พร้อมประกาศเตรียมเปิดประมูลข้าวสารที่ถูกเก็บ 2 โกดังสุดท้ายเพื่อการส่งออก จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างและมีการตั้งคำถามถึงเรื่องความปลอดภัยในการบริโภค นั้น

วันนี้ (14 พฤษภาคม 2567) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลจะนำข้าวดังกล่าวออกมาจำหน่าย โดยผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเวลาหลายวันแล้วที่มีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวก็ยังไม่พบว่าจะมีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดออกมาชี้แจงว่าจะตรวจสอบข้าวสาร 10 ปี ดังกล่าว จึงร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคเพื่อขอให้เป็นตัวแทนของประชาชน ให้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภคจึงทำหนังสือด่วนที่สุดถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอเข้าเก็บตัวอย่างข้าวสารชุดที่ถูกเก็บค้างโกดัง 10 ปี จากโรงสีทุกแห่ง เพื่อส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับรอง ISO17025 ตามมาตรฐานการส่งอออกข้าวและพร้อมเผยแพร่ผลการทดสอบต่อสาธารณะ

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคในฐานะผู้แทนของผู้บริโภคมีข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้

  1. ขอให้ตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเพื่อตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร 10 ปี ตามหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าระดับการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ และประกาศผลการทดสอบให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว
  2. ขอให้ชะลอการประมูลข้าวสาร 10 ปี ของรัฐบาล ที่มุ่งเพื่อการบริโภค หรือเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ไปจนกว่าจะได้ผลการทดสอบ และยุติแผนการประมูลข้าวหากผลทดสอบพบว่าการบริโภคข้าวดังกล่าวจะกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค หรือต่อสุขภาพสัตว์ อนึ่ง หากเป็นการประมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคหรือห่วงโซ่อาหารซึ่งสามารถทำได้ทันที
  3. ในกรณีที่ผลการทดสอบแสดงว่าข้าวสารค้างโกดัง 10 ปี ดังกล่าวมีคุณภาพดีพอสำหรับการบริโภคตามมาตรฐานการส่งออก ขอให้สภาผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลในกระบวนการประมูลตั้งแต่การวางแผน ตรวจสอบ ไปจนสิ้นสุดการประมูล รวมถึงการ การออกกฎเกณฑ์เรื่องการแสดงฉลากว่าเป็นข้าวที่มาจากการเก็บ 10 ปี เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจสำหรับผู้บริโภค

“สภาผู้บริโภคยินดีร่วมมือกับรัฐบาลและทุกภาคส่วน ตลอดจนหวังว่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกระทรวงพาณิชย์ในการเก็บตัวอย่างข้าวจากทุกโรงสีเพื่อตรวจสอบในครั้งนี้ และขอให้ผู้ร้องเรียนมั่นใจว่าสภาผู้บริโภคจะทำหน้าที่ผู้แทนผู้บริโภคอย่างเต็มความสามารถ ทดสอบข้าวโดยใช้ห้องทดลองที่ผ่านการรับรอง ISO17025 และเปิดเผยผลการทดสอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่สำคัญ” นางสาวสารี กล่าว

ทางด้าน ภก.ภานุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค ทางด้าน ภก.ภานุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค ระบุว่า หากมีความจำเป็นต้องตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว สภาผู้บริโภคก็พร้อมที่เป็นผู้แทนผู้บริโภค เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เนื่องจากสภาผู้บริโภคมีคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ประกอบด้วยนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ Thai PAN นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย และองค์กรสมาชิกที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาข้อเสนอแนะด้านนโยบายเพื่อป้องกันและจัดการปัญหาความปลอดภัยเรื่องอาหารได้อย่างทันท่วงที

“ข้อเสนอของสภาผู้บริโภคเสนอนั้นล้วนเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงสิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากการเก็บรักษาข้าวต้องใช้สารเคมีเพื่อป้องกันมอดและเชื้อรา หากใช้สารเคมีน้อยก็อาจทำให้เกิดเชื้อราระหว่างการเก็บรักษา แต่หากใช้สารเคมีในปริมาณมากและตกค้างก็จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงต้องมีการตรวจสอบให้แน่ใจ ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค” ภก.ภานุโชติ ระบุ

มลฤดี โพธิ์ อินทร์ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค ระบุว่า เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักพื้นฐานของผู้บริโภคไทย ความมั่นใจในคุณภาพของข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคจึงได้แถลงข่าวเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เร่งส่งตัวอย่างข้าวจาก “ทุกกระสอบ” มาตรวจวิเคราะห์คุณภาพความปลอดภัย ทั้งทางเคมีและทางกายภาพเพื่อหาการตกค้างของสารเคมีและเชื้อราต่าง ๆ ซึ่งหากสามารถตรวจยืนยันความปลอดภัยแล้ว ก็ขอให้แถลงผลการทดสอบต่อสาธารณะให้ประชาชนรับรู้ก่อนการประมูลข้าว

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค