‘Food Traceability’ กระบวนการสืบย้อนกลับอาหาร สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา มีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จากการกินไส้กรอกไม่มียี่ห้อ และไม่มีเอกสารกำกับจำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 ราย เพชรบุรี 1 ราย สระบุรี 1 ราย ตรัง 1 ราย และกาญจนบุรี 1 ราย และก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พัฒนาระบบเฝ้าระวัง เตือนภัยและตรวจจับอัตโนมัติ (Auto Detection) เพื่อเตือนภัยผู้บริโภคได้ทันเหตุการณ์ หากเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย

เมื่อ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ ระบุว่า อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ สืบหาสถานที่ผลิตไส้กรอก และเก็บตัวอย่างไส้กรอกทั่วประเทศ ทั้งสถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่าย จำนวน 102 ตัวอย่าง ซึ่งขณะนี้ผลออกมาแล้ว 44 ตัวอย่าง ตกมาตรฐาน 22 ตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้เนื้อไก่ แต่แสดงฉลากลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อหมูอีก 1 ตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม สอบ.จะพาไปรู้จักกับ ‘การตรวจสอบย้อนกลับอาหาร หรือ Food Traceability’ ซึ่งก็คือ กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับอาหาร จะทำให้ผู้บริโภคสืบได้ตั้งแต่ต้นทาง ทุกขั้นตอนการผลิต การขนส่ง จนมาถึงผู้บริโภค ว่าเป็นไปอย่างสะอาด ปลอดภัย มีมนุษยธรรม โปร่งใส จริงใจ ไม่มีการกดขี่แรงงาน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เหตุผลที่ว่าทำไมผู้บริโภคถึงต้องทราบที่มาของอาหาร ก็เพราะทุกวันนี้เราไม่รู้เลยว่าเงินที่เราจ่ายไป เราไปสนับสนุนการใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือเปล่า หรือกระบวนการผลิตอาหารสะอาด ได้มาตรฐานหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น ไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อที่กำลังเป็นข่าวและทำให้ผู้ที่บริโภคเข้าไปเจ็บป่วย ดังนั้น การมีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับอาหารนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทราบถึงความจริงใจ และใส่ใจในตัวสินค้าของผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย

นอกจากนี้ หน่วยงานอย่าง อย. ก็มีกระบวนการตรวจสอบคล้าย ๆ กัน คือ ระบบติดตามสินค้าหลังอนุญาตให้วางจำหน่าย (Post-Marketing) โดยจะมีการสุ่มตรวจคุณภาพ หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นปลอดภัยหรือไม่

สอบ.เห็นว่า หากหน่วยงานใช้ระบบนี้กับทุกผลิตภัณฑ์อาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดอันตรายได้ หากผู็บริโภครับประทานหรือใช้ ก็จะทำให้หน่วยงานติดตามต้นตอ แหล่งผลิต และอาจทราบได้ว่า ระบบการเฝ้าระวังส่วนใดยังมีช่องโหว่อยู่ จนสามารถอุดรูรั่ว และพัฒนาระบบการเฝ้าระวังเตือนภัยให้รวดเร็วและทันเหตุการณ์มากยิ่งขึ้นได้ สุดท้ายผู้บริโภคก็จะเสี่ยงน้อยลงด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://bit.ly/3KDpHRN
https://bit.ly/3MR0V2C
https://bit.ly/3MKjcyl

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค