ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

การประชุมคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 4/2566 มีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย เป็นประธานที่ประชุม ได้มีการพิจารณาเรื่องการติดตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมระหว่างบริษัท ทรู – ดีแทค หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ “รับทราบ” การควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ลแอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่ง กสทช. ได้ออกเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ โดยใช้ประเด็นข้อห่วงกังวลจากการควบรวม 5 ประเด็น เป็นจุดหลักในการออกแบบเงื่อนไข ได้แก่ 1) ค่าบริการ 2) การแข่งขัน 3) คุณภาพบริการ 4) คลื่นความถี่และโครงสร้างพื้นฐาน และ 5) นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

สำหรับเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ กสทช. มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะในการกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย เรื่องอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12 โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนัก ตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการ ส่งเสริมการขาย (WEIGHTED AVERAGE) ภายใน 90 วันหลังจากมีการควบรวม

ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการควบรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม แต่ยัง ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

จากกรณีดังกล่าวคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าควรเตรียมการดำเนินงานจัดเวทีติดตามการควบรวมฯ และกำหนดระยะเวลาการจัดงานไว้ ช่วงเดือนกรกฎาคม หรือรอสถานการณ์หลังการเลือกตั้งอีกครั้ง มอบหมายให้ทางสำนักงานสภาผู้บริโภคดำเนินการติดตามการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ของ กสทช. โดยให้ทำหนังสือติดตามทวงถามไปยังสำนักงาน กสทช. เพื่อติดตามผล หลังการควบรวมธุรกิจ และขอรับทราบผลการศึกษาของ กสทช. ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ให้ติดตามรายงานศึกษาผลกระทบ ผลการดำเนินงานของคณะทำงาน ในชุดต่าง ๆ ทั้งใน ประเด็นการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม และรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานพหุภาคี ประเด็นปัญหาแก๊ง Call Center และข้อความ SMS หลอกลวง

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค