ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำเดือนเมษายน 2566

การประชุมคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ประจำเดือนเมษายน มีคุณสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย เป็นประธานที่ประชุมอนุกรรมการฯ ได้ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายในประเด็นปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และข้อความเอสเอ็มเอสหลอกลวง ซึ่งมีการทำงานผ่านคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภาผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรให้มีการจัดเวทีให้ความรู้หรือกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้องค์กรสมาชิกเครือข่ายผู้บริโภค มีความรู้เท่าทันและเกิดความตื่นตัวต่อสถานการณ์ปัญหา โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น Whoscall, ตำรวจไซเบอร์

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานสภาผู้บริโภค จัดทำหนังสือให้ความเห็นต่อร่างประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ และ เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ (ฉบับที่ 2)

 รวมทั้งให้สำนักงานสภาผู้บริโภค เข้าร่วมรับฟังความเห็นร่างประกาศฯ เรื่อง ยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญ ที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 ที่จะมีการประชุมรับฟังในวันที่ 20 เมษายน 2566อีกทั้งมอบหมายให้ประสานงาน 101 PUB ดำเนินการจัดทำข้อมูลความเห็นร่างประกาศฯ เรื่อง แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2566) ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับดำเนินการให้มีการศึกษาในประเด็นนี้ และให้ประสาน 101 PUB เข้าร่วมการประชุมรับฟังความเห็นต่อร่างประกาศฯ เรื่อง แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2563 – 2568) (ฉบับปรับปรุง) ที่สำนักงาน กสทช. จัดขึ้นในวันที่ 25 เมษายน 2566

สุดท้ายคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาการจัดกิจกรรมติดตามนโยบายพรรคการเมือง การเลือกตั้ง 2566

และมอบหมายให้สำนักงานฯ รวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำการเปรียบเทียบนโยบายพรรค การเมือง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทั้ง ๘ ด้าน ก่อนการเลือกตั้ง โดยสื่อสารผ่าน ช่องทางต่าง ๆ ของทางสำนักงานสภาผู้บริโภค ต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค