สภาผู้บริโภค เร่งธนาคารปฎิบัติตามกฎหมาย อายัดบัญชีมิจฉาชีพทันทีที่ได้รับแจ้ง

พบปัญหา ธนาคารปฏิเสธการอายัดบัญชี – ดำเนินการล่าช้า จากกรณีผู้บริโภคถูกหลอกโอนเงิน สภาผู้บริโภคเตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก. ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ

จากกรณีที่ ธปท. ได้ออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาผู้บริโภคถูกหลอกโอนเงิน รวมถึงสามารถจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รบเงินคืนจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นั้น

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ที่ระบุว่า แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 4 เดือนแล้ว แต่ปัจจุบันยังพบปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กรณีที่ผู้บริโภคถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน หรือกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า แต่เมื่อโทรศัพท์แจ้งธนาคารให้อายัดบัญชีกลับถูกปฏิเสธว่าไม่สามารถอายัดได้เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้บริโภคโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารอายัดเงิน แต่ธนาคารกลับปฏิเสธและขอหลักฐานใบแจ้งความจากผู้บริโภค รวมถึงกรณีที่ธนาคารรับเรื่องแต่ไม่ได้อายัดบัญชีทันทีโดยอ้างว่าต้องรอหลักฐานการตรวจสอบจากตำรวจ เป็นต้น

“หากดูเนื้อหาของ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ในมาตรา 7 จะพบว่ามีใจความตอนหนึ่งที่กำหนดให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินมีหน้าที่อายัดบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องขอหลักฐานใบแจ้งความจากผู้บริโภค พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ ผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ายังมีธนาคารที่ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียกร้องและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค” หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ระบุ

ทางด้าน ประกายมาศ หนึ่งในผู้เสียหายจากการถูกหลอกโอนเงิน ระบุว่า ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์มา แจ้งว่าเลขบัตรประชาชนของตัวเองถูกนำไปเปิดลงทะเบียนซิมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเธอเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงิน จึงอาสาจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดเชียงใหม่ให้ หลังจากนั้นมิจฉาชีพให้เธอแอดไลน์ที่ใช้ชื่อว่า สภ. เชียงใหม่ และเธอได้พูดคุยกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจ 5 – 6 คน โดยปลายสายระบุว่าจำเป็นต้องใช้เงินประมาณ 50,000 บาทเพื่อปิดคดี หลังจากนั้นมิจฉาชีพได้หว่านล้อมให้เธอไปยืมเงินจากคนรู้จัก เมื่อโอนครบตามจำนวนก็อ้างว่าต้องใช้เงิน 1 – 2 แสนบาทเพื่อให้คดีจบเร็ว นอกจากนี้ยังบอกว่าห้ามเล่าเกี่ยวกับคดีนี้ให้ใครรู้ ไม่เช่นนั้นจะออกหมายจับเธอและครอบครัว เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 5 ชั่วโมง สุดท้ายเธอถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินไปกว่า 120,000 บาท

ผู้เสียหายเล่าเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ทำให้เธอหลงเชื่อว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐอย่างแน่นอน เนื่องจากมิจฉาชีพได้ส่งหน้าบัตรของตำรวจมากเพื่อยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง อีกทั้งมิจฉาชีพยังสามารถระบุข้อมูลส่วนบุคคลของเธอ รวมถึงข้อมูลของแม่ และพี่สาวอย่างถูกต้องอีกด้วย นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังใช้วิธีการโทรศัพท์หาเธออยู่เป็นระยะ และเร่งให้หาเงินให้ครบตามจำนวนโดยอ้างว่าจะได้รีบปิดคดีเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสามารถตั้งสติได้ทัน

หลังจากรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เธอรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ และแจ้งอายัดบัญชีธนาคารทั้งต้นทางและปลายทาง แต่ประสบปัญหาว่าธนาคารปลายทางคือ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยไม่ยอมอายัดบัญชีให้โดยทันที โดยธนาคารแจ้งว่า ยังดำเนินการไม่ได้ ต้องรอหมายแจ้งความจากตำรวจก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะแจ้งว่าส่งสำเนาใบแจ้งความไปทางอีเมลตั้งแต่วันที่รับแจ้งความแล้ว แต่ธนาคารก็ยังไม่อายัดบัญชีปลายทางให้ จนผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ เธอจึงได้รับแจ้งว่าสามารถอายัดบัญชีธนาคารได้แล้ว โดยมียอดเงินคงเหลือในบัญชีของมิจฉาชีพ 122 บาท

“อยากฝากถึงหน่วยงานรัฐ ให้เร่งจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และหากเกิดกรณีที่ผู้บริโภคถูกหลอก อยากให้เร่งประสานงานและจัดการปัญหาโดยเร็ว นอกจากนี้ มองว่าควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างทั่วถึง ว่าหากเรื่องเกิดแล้วให้ประสานงานให้เร็ว และอยากให้มีข้อมูลมาให้ประชาชนได้รู้อย่างทั่วถึง ว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ต้องโทรไปที่ไหน ต้องติดต่อใคร หรือทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ หากตำรวจและธนาคารปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวได้จริง ๆ ก็น่าจะแก้ปัญหาการถูกหลอกลวงได้ และผู้บริโภคก็มีโอกาสที่จะได้เงินคืนด้วย แต่หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนด แล้วผู้บริโภคจะไปพึ่งใคร” ผู้เสียหายจากการถูกหลอกโดนเงิน กล่าวทิ้งท้าย

อาภรณ์ อะทาโส หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด สภาผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยทีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน หน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด สภาผู้บริโภค จึงได้มีการประชุมเพื่อหารือกับตำรวจ หอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด และชมรมธนาคารจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อหาแนวปฏิบัติในจังหวัดร้อยเอ็ดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายว่าทุกธนาคารในจังหวัดร้อยเอ็ดจะต้องอายัดบัญชีทันทีที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภค ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่ทำเพียงแค่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แต่ต้องออกใบแจ้งความ และต้องลงแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ ที่ https://www.thaipoliceonline.com ให้ผู้บริโภคด้วย เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้มีโอกาสได้เงินคืน เพื่อให้สามารถสืบและตามไปถึงตัวเจ้าของบัญชีได้

“ถ้าการขับเคลื่อนนี้ใช้ได้ผล ก็อาจขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นหรือภาพรวมของประเทศได้ ซึ่งถึงทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้จริง ก็จะทำให้ผู้ที่เสียหายจากการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ได้รับเงินคืน และสามารถช่วยเหลือได้จำนวนมาก” อาภรณ์ ระบุ

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (19 กรกฏาคม 2566) สภาผู้บริโภคจะมีเวทีหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการพูดคุยและหาแนวทางปฏิบัติร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และหากมีความคืบหน้าอย่างไร สภาผู้บริโภคจะรายงานให้ผู้บริโภคทราบต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค