ผลงานปี 65 สภาผู้บริโภค ช่วยเหลือผู้บริโภคได้กว่า 286 ลบ. ตั้งเป้าขยายฐานคุ้มครองผู้บริโภคใน 66 จังหวัด

สภาผู้บริโภค นำเสนอผลงานคุ้มครองผู้บริโภคปี 65 ต่อวุฒิสภา ได้รับร้องเรียน 14,941 เรื่อง ช่วยเหลือเสร็จสิ้นร้อยละ 91 คิดเป็นมูลค่าการชดเชย 286.41 ล้านบาท ตั้งเป้าสร้างความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเข้มข้น และขยายฐานงานคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุม 66 จังหวัดภายในปี 2567

วันที่ 15 มกราคม 2567 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผูบริโภค พร้อมเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค เข้ารายงานผลการดำเนินงานของสภาผู้บริโภคประจำปี 2565 ต่อที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ในช่วงกว่า 2 ปีที่สภาผู้บริโภคดำเนินงานมา ได้สนับสนุนให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในครึ่งหลังของปี 2564 สภาผู้บริโภคได้รับจำนวนเรื่องร้องเรียน 2,083 เรื่อง และช่วยเหลือผู้บริโภคในด้านการฟ้องคดีจำนวน 3 คดี ปี 2565 ได้รับเรื่องร้องเรียน 14,941 เรื่อง และมีการฟ้องคดีจำนวน 19 คดี และช่วยเหลือผู้บริโภคเสร็จสิ้นประมาณร้อยละ 91 คิดเป็นมูลค่าที่ผู้บริโภคได้รับการชดเชยเป็นเงิน 286.41 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 16,142 เรื่อง และช่วยเหลือผู้บริโภคด้านการฟ้องคดี 32 คดี

สารี กล่าวอีกว่า การให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค ทำให้สภาผู้บริโภคได้เห็นภาพรวมของปัญหา รวมถึงมองเห็นช่องว่างของกฎหมายและนโยบาย จึงได้มีการเสนอแนะข้อสเนอแนะเชิงนโยบาย ทั้ง 8 ด้าน โดยในปี 2564 มีข้อเสนอนโยบายจำนวน 3 เรื่อง ปี 2565 จำนวน 25 เรื่อง และปี 2566 จำนวน 30 เรื่อง เช่น ข้อเสนอแนะในประเด็นค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนที่เป็นธรรม ค่าไฟแพง มาตรการควบคุมกรณีการใส่กัญชาในอาหาร คัดค้านการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน เป็นต้น

สำหรับปัญหาที่สภาผู้บริโภคได้รับร้องเรียนมาเป็นอันดับ 1 ในระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน ได้แก่ ปัญหาเรื่องการซื้อขายออนไลน์ โดยปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้มีข้อเสนอเรื่องการ “เปิดก่อนจ่าย” เนื่องจากปัจจุบันพบปัญหาการส่งพัสดุโดยที่ผู้บริโภคไม่ได้สั่ง มากกว่า 5 แสนชิ้น นอกจากนี้ยังพบปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าไม่ตรงปกอีกด้วย ดังนั้น การให้สิทธิผู้บริโภคในการเปิดดูสินค้าก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับพนักงานขนส่ง จะช่วยลดลดปัญหาเหล่านี้ลงได้ จึงอยากฝากโจทย์ถึงสมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน ว่าจะช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร

ส่วนประเด็นเรื่องความร่วมมือกับหน่วยงานนั้นสารีระบุว่า สภาผู้บริโภคได้ประสานงานและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น ประเด็นเรื่องการ (ร่าง) พ.ร.บ. ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. หรือกฎหมายเลม่อนลอว์ ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตั้งคณะทำงานพิจารณาจัดทําร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ส่วนเรื่องการรณรงค์ให้เปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตรายในรถยนต์ยนต์ 16 ยี่ห้อ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ยังมีถุงลมนิรภัยอันตรายลดลงจากประมาณ 9 แสน เหลือ 5 แสนคัน เป็นต้น

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นเรื่องการสร้างเครือข่าย ในการรายงานผลการดำเนินงานปี 2564 สภาผู้บริโภคได้รับคำแนะนำจากสมาชิกวุฒิสภาในเรื่องการสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ทั้งนี้ นับตั้งแต่การก่อตั้งสภาผู้บริโภคที่มีองค์กรตั้งต้น 151 องค์กร สภาผู้บริโภคได้ส่งเสริมให้มีการรวมตัวขององค์กรสมาชิกที่เพิ่มขึ้นจนกระทั่งมีสมาชิกจำนวน 237 องค์กรในปี 2564 ส่วนในปี 2565 และ ปี 2566 มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 269 และ 308 องค์กรตามลำดับ

“ปัจจุบันองค์กรสมาชิกจำนวน 308 องค์กรนั้นครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมีสมาชิกไม่ครบทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ข้อมูลสถิติการรับเรื่องร้องเรียนผู้พบว่า สภาผู้บริโภคมีผู้ร้องเรียนจากทั้ง 77 จังหวัด ทั้งนี้สภาผู้บริโภคได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่การคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุม 66 จังหวัด ในปี 2567 และเพิ่มเป็น 77 จังหวัดในปี 2568” สารีกล่าว

สำหรับผลงานด้านการสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้บริโภคได้ประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวัง เตือนภัย และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ติ๊กต็อก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม โดยช่องทางที่มีผู้ติดตามมากที่สุดคือเฟซบุ๊ก มียอดการเข้าถึง0.43 ล้านครั้ง และมีจำนวนผู้ติดตาม 3,713 คน ในปี 2564 ส่วนปี 2565 ยอดการเข้าถึงเพิ่มขึ้นเป็น 9.38 ล้านครั้ง และมีจำนวนผู้ติดตาม 30,012 คน กระทั่งปี 2566 เนื้อหาที่ถูกเผยแพร่ของสภาผู้บริโภคมียอดการเข้าถึงรวม 30 ล้านครั้ง และมียอดผู้ติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจสภาองค์กรของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็น 93,751 คน

ไม่ใช่เพียงสถิติเท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่าข้อมูลและเนื้อหาของสภาผู้บริโภคเข้าถึงและเป็นประโยชน์ของผู้บริโภค แต่ในปี 2565 สภาผู้บริโภคได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขา “ผู้มีอิทธิพลในการสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม” จากงานไทยแลนด์อินฟลูเอนเซอร์อวอร์ด2022 (Thailand Influencer Award 2022) ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นและแรงผลักดันที่ทำให้ผู้บริโภคทำงานอย่างเข้มแข็งต่อไป

ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า มี 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 1) การไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ทำให้งานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคขาดความต่อเนื่อง และไม่สามารถสนับสนุนสมาชิกให้รักษาประโยชน์ของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง 2) หน่วยงานราชการ/ภาครัฐ ยังไม่รับรู้บทบาทของสภาผู้บริโภคมากนัก ทำให้การตอบสนองจากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่มากนัก และ 3) การมีภาคีเครือข่ายจากองค์กรผู้บริโภคยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นองค์กรที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาข้างต้น ดังนี้ 1) ประเด็นเรื่องการสนับสนุนงบประมาณ เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ และมีงบขั้นต่ำในการสนับสนุนอย่างน้อยอัตรา 5 บาท/ต่อประชากร (350 ล้าน/ปี) เพื่อการทำงานที่เป็นอิสระและสามารถรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคได้ตามเจตนารมณ์ 2) การยังไม่เป็นที่รู้จักของหน่วยงานรัฐ สภาผู้บริโภคต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ  ผู้ประกอบธุธกิจ และพรรคการเมือง เพื่อดำเนินงานคุ้มครอง/แก้ไขปัญหาผู้บริโภค

และ 3) การมีภาคีเครือข่ายที่ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ต้องขยายสมาชิกในพื้นที่จังหวัดที่ยังไม่มีสมาชิก โดยเชิญเครือข่ายผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนขอแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค (อกผ.3) มาร่วมดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานประจำจังหวัด และหน่วยงานเขตพื้นที่ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์รวมทั้งสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ ต้องมีการหารือแนวทางและเชิญสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อขอแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค (อกผ.3) ให้แก่เครือข่ายผู้บริโภคด้วย

| ช่วงนําเสนอรายงานการพิจารณาศึกษารายงานผลการปฏิบัติงานประจําปี 2565 ของสภาผู้บริโภค |

หลังจากนั้น เป็นการนําเสนอรายงานการพิจารณาศึกษารายงานผลการปฏิบัติงานประจําปี 2565 ของสภาผู้บริโภค เนื่องจากประธานวุฒิสภาได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) 3 คณะ ได้แก่ กมธ.สิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน และ กมธ.การสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณาศึกษาศึกษารายงานฉบับดังกล่าวล่วงหน้า

อนุศักดิ์ คงมาลัย รองประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค นําเสนอรายงานการพิจารณาศึกษารายงานผลการปฏิบัติงานประจําปี 2565 ของสภาผู้บริโภค โดยมีข้อสังเกตใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) สถานะความเป็นขององค์กรของผู้บริโภค แม้ว่าตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาผู้บริโภคมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติหรือการครอบงำ หรือการสั่งการไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากบุคคลใด แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดสถานะของสภาผู้บริโภคไว้อย่างชัดเจน กมธ. จึงมีความเห็นว่า ความไม่ชัดเจนเรื่องสถานะอาจส่งผลกระทบต่อความถูกต้องในการใช้จ่ายงบประมาณ เป็นประเด็นหลักที่จะมีความเชื่อมโยงกับประเด็นอื่น ๆ ในมิติของข้อกฎหมายและผูกพันกับเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ

2) การใช้จ่ายงบประมาณของสภาผู้บริโภคตั้งแต่จัดตั้งจนถึงปัจจุบัน ยังเป็นการใช้จ่ายงบประมาณจากเงินอุดหนุนเพื่อใช้เป็นทุนประเดิมในการจัดตั้ง จำนวน 350 ล้านบาท แต่ยังไม่เคยได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายปีตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ. จัดตั้งฯ ดังนั้น หากในปีงบประมาณต่อไป สภาผู้บริโภคยังคงไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายปีเช่นนี้อีก อาจเป็นสาเหตุที่ทำ ให้ภารกิจในการปกป้อง คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กมธ. สิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค มีข้อเสนอแนะต่อการปฏิบัติงานสภาผู้บริโภคใน 6 ประเด็น ดังนี้

  1. ประเด็นสถานะของสภาผู้บริโภค
    1.1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องเร่งพิจารณาและวินิจฉัยสถานะของสภาผู้บริโภคให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว
    1.2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาศึกษาความเหมาะสม ความจำเป็นในการเสนอแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 รวมทั้งควรวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบ หากจะมีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคมากกว่าหนึ่งสภาขึ้นไป
  2. ประเด็นด้านการใช้จ่ายงบประมาณ
    2.1 สภาผู้บริโภคต้องประสานงานกับ สปน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับคำแนะนำคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดให้การใช้จ่ายงบประมาณ หากในอนาคตได้มีคำวินิจฉัยประเด็นสถานะขององค์กรดแล้ว สภาผู้บริโภคก็สามารถชี้แจงเหตุผลและหลักเกณฑ์ในการใช้จ่ายงบประมาณกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
    2.2 ต้องวางระบบการควบคุมภายในองค์กรให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และในระหว่างที่ยังไม่มีการวินิจฉัยสถานขององค์กรที่ชัดเจน สภาผู้บริโภคควรกำหนดข้อบังคับให้สอดรับหรืออ้างอิงกับ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
    2.3สภาผู้บริโภคควรจัดทำมาตรฐานการใช้จ่ายงบประมาณในการปฏิบัติหน้าที่และงบประมาณด้านบุคลากร เพื่อให้องค์กรของผู้บริโภคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้นำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติภารกิจและการใช้จ่ายงบประมาณ
    2.4 เสนอเรื่องการฝึกอบรม เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับบุคลากรขององค์กรให้มีความรู้ ความเข้าใจ และความชำนาญในข้อกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายและใช้จ่ายงบประมาณ
  3. ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของสภาผู้บริโภค
    3.1 สภาผู้บริโภคต้องรว่มกับกับหน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่มีหน้าที่และอำนาจในการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ
    3.2 การดำเนินงานของสภาผู้บริโภคต้องดำเนินการในเชิงรุก พิจารณาประเด็นที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากเป็นสำคัญก่อน
    3.3 ควรจัดทำข้อเสนอให้สถาบันการศึกษาบรรจุการเรียนการสอนเรื่องสิทธิของผู้บริโภคไว้ในทุกระดับชั้นการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้พื้นฐานในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิของตนเอง มีความรู้เท่าทันกลโกง ภัยคุกคามต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และสามารถรับมือหรือจัดการสถานการณ์ในเบื้องต้นได้
    3.4 เร่งพิจารณาศึกษาและค้นหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ยังเป็นข้อจำกัด อุปสรรค รวมทั้งการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบัน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อการผลักดันหรือแก้ไขกฎหมาย และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศให้ดียิ่งขึ้น
    3.5 ควรจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานในทุก ๆ ปี ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประชาชน ผู้บริโภค รวมทั้งการประเมินการทำหน้าที่ของตนเอง (Self-Assessment) และนำผลการประเมินการดำเนินงานดังกล่าวมาประกอบอยู่ในรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีด้วย
  4. ประเด็นการพัฒนากลไกสภาผู้บริโภค หน่วยงานเขตพื้นที่ และหน่วยงานประจำจังหวัด
    4.1 ควรจัดทำแผนปฏิบัติการเรื่องการขยายหน่วยงานประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค เพื่อให้การขยายเครือข่ายขององค์กรผู้บริโภคมีทิศทางการทำ งานที่ชัดเจน และสามารถสร้างความเข้มแข็งได้อย่างเป็นรูปธรรม
    4.2 ควรมีการจัดทำคู่มือหรือสร้างช่องทางติดต่อสื่อสารและประสานงานในแต่ละจังหวัดและต้องส่งเสริมให้จังหวัดที่มีศักยภาพเข้มแข็งทำหน้าที่ช่วยเหลือจังหวัดใกล้เคียงที่กำลังพัฒนา เพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้น
    4.3 สภาผู้บริโภคควรจัดโครงการพัฒนาองค์กรสมาชิก โดยเฉพาะองค์กรในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ มีการจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการกำกับและติดตามองค์กรสมาชิก เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเกิดความรับผิดชอบต่อสังคมควรส่งเสริมและรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคอย่างทั่วถึง
    4.4 ควรใช้กลไกสภาองค์กรชุมชน ซึ่งครอบคลุมทั่วทุกตำบลในประเทศไทย จำนวน 7,795 แห่ง มาเชื่อมโยงการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ตำบลและพัฒนาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง
  5. ประเด็นการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนางานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
    5.1 สภาผู้บริโภคควรศึกษาวิจัยชุมชนเกี่ยวกับจัดอันดับในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาค เพื่อให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงหรือให้การสนับสนุนตั้งแต่ชุมชนระดับฐานราก
    5.2 ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความคุ้มทุนในการดำเนินงานของสภาผู้บริโภค และควรจัดทำตัวชี้วัดระดับการคุ้มครองผู้บริโภคก่อนและหลังจากที่มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภค เพื่อเปรียบเทียบและเพื่อนำผลการศึกษาวิจัยไปพัฒนางานในอนาคต
  6. ข้อเสนอแนะต่อเนื้อหารายงานผลการปฏิบัติงานประจำ ปี 2565 ของสภาผู้บริโภค โดยเสนอให้เพิ่มเติมเนื้อหาดังนี้เพื่อความครบถ้วนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
    6.1 ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำ ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของการดำเนินงาน และการใช้จ่ายงบประมาณของ สภาผู้บริโภค รวมทั้งควรแนบรายงานผลการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ สปน. ในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของสภาผู้บริโภค ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบมาในรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีด้วย
    6.2 ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดในการดำเนินงานในรอบปี และแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น
    6.3 หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นหน่วยงานเขตพื้นที่และหน่วยงานประจำจังหวัด
    6.4 วิธีการในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน รวมทั้งผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้กับประชาชนผู้บริโภคได้ศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมกันด้วย
    6.5 แผนงาน เป้าหมายความสำเร็จ หรือการคาดคะเนผลงานที่จะเกิดขึ้นในปีต่อไป

“คาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นงานเชิงรุกที่สามารถสร้างกลไกให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เท่าทันเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดี ก่อให้เกิดระบบชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม รวมทั้งพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้าใจสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะสิทธิที่ได้รับข้อมูลความรู้อันจําเป็นต่อการบริโภคอย่างรู้เท่าทัน ทั้งนี้ หากภาครัฐและองค์กรภาคประชาชน ผนึกกําลังและร่วมมือกันขับเคลื่อนการปฏิรูประบบควบคุมผู้บริโภคของประเทศไทย ก็จะเกิดการบรรลุตามเป้าหมาย และสภาผู้บริโภคจะเป็นองค์กรที่ประชาชนให้ความไว้วางใจควรค่าสมกับการรอคอยอย่างยาวนานของประชาชน” อนุศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน พลเดช ปิ่นประทีป โฆษกคณะกรรมการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่ากมธ.พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อรายงานผลการปฏิบัติงานประจําปี 2565 ของสภาผู้บริโภค 7 ข้อ ดังนี้ 1) สภาผู้บริโภคควรต้องเท่าทันความสลับซับซ้อนของปัญหา แก้ไขให้ถูกจุดรวดเร็วทันเหตุการณ์ ทำให้ประชาชนมีความตระหนักรู้และป้องกันตัวจากกลลวงของมิจฉาชาชีพได้ 2) ต้องขยายหน่วยงานเขตพื้นที่ของสภาผู้บริโภคให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2568 3) ต้องให้ความสำคัญกับการจัดทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ สนับสนุนและอํานวยความสะดวกในด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิประโยชน์แก่ประชาชน ผ่านเครือข่ายชมรม สมาคมองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งสื่อมวลชนและสื่อสังคมทั้งหลาย

4) สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคให้ร่วมรับรู้ตระหนักถึงผลประโยชน์และผลดีที่จะได้รับ และไม่เอาเปรียบผู้บริโภค 5) ต้องสื่อสารทำความเข้าใจให้กับประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดปัญหาความซับซ้อนในภารกิจระหว่างสภาผู้บริโภคกับ สคบ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นในด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 6) ต้องให้ความสำคัญกับสมาชิกโดยเฉพาะผู้สูงอายุ รับรู้ข้อมูลข่าวสารจึงต้องเท่าทันและการเข้าถึงสื่อสารด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ และ 7) เน้นความโปร่งใสในการจัดทำทางบัญชีและการเงินขององค์กร

“ทั้งนี้ ในรอบสองปีที่ผ่านมาในภาพรวมการทำงานของสภาผู้บริโภค มีผลปฏิบัติงานที่น่าชื่นชมรางวัลในระดับชาติก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคยังเป็นเหมือนกองทัพเล็ก ๆ ที่มีอุดมการณ์แข็งแกร่ง ถือเป็นเรื่องที่รัฐสภาทั้งวุฒิโดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสภา และกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องควรจะต้องคอยติดตามดูแลส่งเสริมสนับสนุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีงบประมาณที่เพียงพอเพื่อให้เกิดการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ” พลเดชระบุ

ส่วน บุญส่ง ไข่เกษ โฆษกกรรมาธิการ ระบุว่า จากการพิจารณารายงานดังกล่าวพบว่าการปฏิบัติภารกิจด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคในปีที่สองนับว่ามีผลการดําเนินงานเป็นที่ประจักษ์หลายประการโดยเฉพาะกรณีการคัดค้านการควบรวมบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่สองแห่ง เพื่อป้องกันการผูกขาดและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง ตลอดจนการดําเนินงานตามภารกิจปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทั้ง 8 ด้านที่จับต้องได้ ซึ่งหัวใจสําคัญในการบรรลุผลสําเร็จการคุ้มครองสิทธิคือภาคีเครือข่ายที่สภาผู้บริโภค เร่งขยายความร่วมมือไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ให้สามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาด้านการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคและการบริหารจัดการสภาผู้บริโภคที่เพิ่งเริ่มจัดตั้งขึ้นยังคงมีประเด็นท้าทายค่อนข้างมาก คณะกรรมาธิการจึงได้ตั้งประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะโดยตําแหน่งเป็น 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

  1. ด้านความปลอดภัยบนท้องถนนสําหรับผู้ใช้จักรยานยนต์
    1.1ประเด็นการรณรงค์สวมหมวกนิรภัยสําหรับผู้ใช้จักรยานยนต์เคยมีการผลักดันให้กําหนดมาตรฐานความปลอดภัยให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจึงสนับสนุนให้สภาผู้บริโภคผลักดันการรณรงค์เกี่ยวกับการจัดทํามาตรฐานหมวกนิรภัยสําหรับผู้ใช้จักรยานยนต์ต่อไปเช่นเดียวกับการกําหนดมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันการลื่นไถลเอบีเอส และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค
    ควรพิจารณานําแนวทางการลดอุบัติเหตุและมลพิษที่เกิดจากผู้ใช้จักรยานยนต์ โดยมีข้อกําหนดเกี่ยวการควบคุมความเร็วให้อยู่ในระดับต่ำและสร้างช่องทางจราจรพิเศษสําหรับรถจักรยานยนต์ สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคได้รับการยกเว้นภาษีบางประการเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้พาหนะพลังงานทางเลือกซึ่งจะส่งผลต่อการลดอุบัติเหตุและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
    1.2 ควรรณรงค์เชิงบังคับให้รถบรรทุกติดตั้งแบริเออร์ด้านท้ายรถบรรทุกเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากจักรยานยนต์ที่มักมีอันตรายจากการใช้ความเร็วสูงจนเกินอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุก
  2. อาหาร ยา และสมุนไพร
    2.1 ควรพิจารณาเนื้อหาสาระของพระราชกําหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพ.ศ. 2566 เพื่อนํามาใช้กําหนดแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจจะถูกละเมิดสิทธิผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น กรณีการครอบครองซิมการ์ดโทรศัพท์จํานวนมาก เพื่อนํามาใช้ลงทะเบียนในสื่อสังคมออนไลน์หรือคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงหรือเอาเปรียบผู้บริโภคหรือ กรณีการตลาดเพื่อการขายสินค้าออนไลน์ไม่ตรงตามคําโฆษณา จึงพิจารณาศึกษากรณีของจากประเทศอินโดนีเซียที่มีการผลักดันการใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของตนเอง จึงควรรณรงค์หาแนวทางดําเนินการป้องกันการโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งยาที่แอบอ้างนําเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีค่อนข้างมากอย่างเร่งด่วน
    2.2 ควรมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร ทั้งนี้ภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ค่อนข้างมีอุปสรรคเกี่ยวกับการจัดการเมื่อเกิดกรณีหลอกลวงผู้บริโภคเนื่องจากการกําหนดโทษปรับไม่รุนแรงพอจะหยุดยั้งไม่ให้เกิดการกระทําผิดได้
  3. ด้านการบริหารจัดการงบประมาณและการดําเนินการตามทางกฎหมาย
    3.1 ควรพิจารณาหารายได้เพิ่มเติมจากการรับบริจาค เพื่อนํามาเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับสํานักงานการดําเนินงานตามแผนงานต่าง ๆ ทั้งการศึกษาวิจัย การฟ้องร้องต่อศาล รวมถึงการสนับสนุนหน่วยงานประจําจังหวัด พร้อมมาตรการลดหย่อนภาษีที่ช่วยส่งผลให้สภาผู้บริโภคมีรายรับเพิ่มเติม
    3.2 ควรพิจารณาการบริหารจัดการงบประมาณของหน่วยงานประจําจังหวัด หากพบว่าเป็นต้นทุนที่สําคัญสภาผู้บริโภคควรพิจารณาปรับลด โดยเฉพาะในบางจังหวัดที่อาจมีจํานวนสมาชิกมากเกินความจําเป็น ทั้งนี้หากงบประมาณมีจํานวนจํากัดสภาผู้บริโภคสามารถดําเนินการขอรับการจัดสรรไปยังสํานักงบประมาณได้
    3.3 ควรพิจารณานํารูปแบบการฟ้องคดีแบบกลุ่มตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ในการดําเนินงานมากขึ้น เนื่องจากมีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับภารกิจของสภาผู้บริโภคโดยตรงในการปกป้องผู้บริโภค

| ช่วงอภิปราย ถาม – ตอบ |

พันตำรวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวชื่นชมการทำงานของสภาผู้บริโภค โดยให้ความสนใจในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องสนับสนุนให้มีกฎหมายเพื่ออากาศสะอาด เนื่องจาก เดิมมีโครงการ สว.พบประชาชนภาคเหนือตอนบนให้ความสนใจในเรื่องของผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดมา 5 ปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จ เพราะขณะนี้มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับอากาศสะอาดอยู่ 7 ฉบับที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และสามารถกล่าวได้ด้วยว่าทั้ง 7 ฉบับนั้น อย่างน้อย 4 ฉบับ มีพื้นฐานมาจากสิ่งที่โครงการ สว.พบประชาชนภาคเหนือตอนบน ได้มีส่วนยกร่างและผลักดัน

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะมะเร็งปอด และมีผู้เสียชีวิตเพราะโรคทางเดินหายใจในภาคเหนือ มากกว่าภาคอื่น ๆ ถึงร้อยละ 80 และที่ผ่านมาได้พยายามจะรวมกลุ่มของนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมและตั้งเครือข่าย จึงอยากฝากประเด็นว่า จะทำอย่างไรที่จะสามารถคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ p.m. 2.5 บุคคลที่เขาไม่สามารถที่จะมาร้องขอความคุ้มครองได้มีอีกมาก จึงฝากเป็นข้อสังเกตว่าสภาผู้บริโภคจะช่วยคนเหล่านี้ได้อย่างไร โดยอาจจะใช้ทรัพยากรบุคล คือทนายความเพื่อผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ส่วน ออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภา กล่าวชื่นชมสโลแกนการทำงานของสภาผู้บริโภค ที่มีทั้งแนวรุกแนวรับและแนวร่วม “แนวรุก เดินหน้าปกป้องประโยชน์ผู้บริโภค แนวรับ รับทุกปัญหาของผู้บริโภค แนวร่วม มีพลังหน่วยงานเครือข่ายที่จะช่วยกันในการคุ้มครองผู้บริโภค” และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบันมีปัญหาผู้บริโภคอยู่รอบตัว ต้องดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวัง เช่น จะรับโทรศัพท์ต้องระวังคอลเซ็นเตอร์ หรือจะซื้อของออนไลน์ก็ต้องระวังถูกหลอกโอนเงิน ของไม่ตรงปก หรือจะใช้รถโดยสารสาธารณะก็กลัวถูกโกงค่าโดยสาร และอื่น ๆ อีกมากมาย ตอนนี้ความหวังของผู้บริโภคก็คือสภาผู้บริโภค ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเช่นนี้อย่างไร และมีวิธีการมาตรการอย่างไรที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคเป็นเหมือนสารตั้งต้นที่ประสานงานขอความร่วมความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นที่จะช่วยเหลือผู้บริโภค และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค

บุญส่ง ไข่เกษ สมาชิกวุฒิสภา ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นการยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ยุติการอนุมัติรับซื้อไฟฟ้ารายใหม่เข้าสู่ระบบว่า ปัญหาคือปัจจุบันนี้มีไฟสํารองเหลือ แต่ไฟสํารองส่วนหนึ่งทางรัฐไม่สามารถที่จะลดหย่อนลงไปได้ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานขยะหรือโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงาน ซึ่งก่อให้เกิดค่าความพร้อมจ่าย หรือ “ค่าเอฟที” ซึ่งมีประเด็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่ก่อให้เกิดขยะปริมาณมาก แต่ต้องเสียค่าเอฟทีเฉลี่ยเท่ากันทุกคนว่า หรือกรณีบางจังหวัดเล็ก ๆ ที่มีปริมาณขยะน้อยไม่พอที่จะผลิตไฟฟ้า แต่มีมิเตอร์ก็ต้องเสียค่าเอฟทีเหมือนกัน จึงอยากฝากสภาผู้บริโภคช่วยจัดการปัญหาดังกล่าว เพราะหากยุติการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ หรือการรับ.อไฟฟ้าได้จะเกิดความยุติธรรมกับสังคม

ด้าน อนุศักดิ์ คงมาลัย มาชิกวุฒิสภา ได้แสดงความห็นเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่รับรู้บทบาทของสภาผู้บริโภค ซึ่งอาจเป็นประเด็นเรื่องการสื่อสาร การให้ความรู้ที่ยังไม่มากเพียงพอ อาจจะต้องยกระดับจากการสื่อสารธรรมดาเป็นการรณรงค์ ทั้งเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค คือการคุ้มครองรักษาสิทธิของประชาชนทุกคนเรื่องคุณภาพชีวิตในทุกมิติ รวมถึงการชี้ให้เห็นชัดว่าสภาผู้บริโภคคือศูนย์ประสานภารกิจในการแก้ไข ป้องกันปัญหา และการคุ้มครองผู้บริโภค ของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนทุกคน เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกคนก็จะมีส่วนร่วมกับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคมากขึ้น

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ตอบคำถามของสมาชิกวุฒิสภาในแต่ละประเด็น โดยเริ่มจากประเด็นของพันตำรวจตรียงยุทธ เรื่องการช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งเครือข่ายของสภาผู้บริโภคที่ภาคเหนือมีความเข้มแข็ง ทั้งยังมีหน่วยงานประจําจังหวัดอย่างน้อย 5 จังหวัด ถือว่ามากกว่าภาคอื่น ๆ นอกจากนี้ กรรมการสภาผู้บริโภคที่อยู่ที่เชียงใหม่ยังเป็นหนึ่งสมาชิกในสภาลมหายใจของเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการทำงานเรื่องดังกล่าว เพราะฉะนั้นสภาผู้บริโภคยินดีที่จะร่วมมือและประสานงานรวมทั้งผลักดันในเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต

ส่วนประเด็นที่ กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคของวุฒิสภา ได้ให้คําแนะนําโดยเฉพาะเรื่องสถานะของสภาผู้บริโภค สารีระบุว่า ล่าสุดมีความคืบหน้าแต่การวินิจฉัยมีความแตกต่างกัน โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้วินิจฉัยว่าสภาผู้บริโภคเป็นหน่วยงานรัฐประเภทหนึ่ง ที่ยังไม่ได้กําหนดประเภทมีความสัมพันธ์กับรัฐเนื่องจากรับงบประมาณเกือบทั้งหมดจากงบประมาณแผ่นดิน แม้จะเป็นเงินอุดหนุนก็ตาม อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคไม่ได้อยู่ใน 7 ประเภทที่เป็นการแบ่งแยกหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีโครงสร้างคณะกรรมการตรวจสอบอนุกรรมการตรวจสอบภายในซึ่งมีตัวแทนของกรรมการนโยบาย ประกอบด้วยอดีตข้าราชการระดับสูงจากสํานักงานตรวจเงินแผ่นดินและเจ้าหน้าที่ที่ทํางานอยู่ในสํานักคณะก.พ.ร. จำนวน 3 ท่าน โดยทั้ง  3 ท่านได้ให้คําแนะนําว่าสภาผู้บริโภคควรจะใช้การรายงานงบรายงานการเงินการงบประมาณในรูปแบบของหน่วยงานรัฐ ซึ่งก็ได้ปฏิบัติตามในปี 2556 ส่วนในปีหน้าที่จะมารายงานก็จะได้เห็นว่าการรายงานงบประมาณการเงินการงบประมาณอยู่ในรูปแบบของหน่วยงานของรัฐ

“สภาผู้บริโภคขออนุญาตยืนยันในที่นี้ว่าเราจะใช้เงินงบประมาณอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทําหน้าที่ และขออนุญาตเรียนว่าการดําเนินงานทุกอย่างมีระเบียบกติกา การตรวจสอบภายใน การเงินการบัญชีต่าง ๆ มีระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ซึ่งได้รับความเห็นชอบทั้งในที่ประชุมสมาชิกหรือในระดับของคณะกรรมการนโยบาย เพราะฉะนั้นขอยืนยันว่าสภาผู้บริโภคมีกลไกการตรวจสอบที่สอดคล้องกับการทํางานของหน่วยงานรัฐ” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคระบุ

ส่วนประเด็นเรื่องการประเมินผลนั้น สภาผู้บริโภคได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่จะทําประเมินผลให้กับสภาผู้บริโภคและประเมินทั้งในระดับแผนงาน การใช้เงินงบประมาณการสนับสนุนจากผู้บริโภค ที่สําคัญคือการประเมินความคุ้มค่า ในปี 2565 สภาผู้บริโภคใช้งบประมาณประมาณ 158 – 159 ล้านบาท ขณะที่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้มากถึง 268 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสภาผู้บริโภคทํางานได้คุ้มค่ามากกว่าเม็ดเงินที่ใช้ไป ทั้งนี้ในปี 2567 สภาผู้บริโภคตั้งเป้าหมายการทํางานแบบมีส่วนร่วมให้มากขึ้น รวมถึงการขยายสมาชิกในจังหวัดต่างๆ และการทำความร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนต่างคำแนะนำของ กมธ. ด้วย

ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาการจดแจ้งความเป็นองค์กรผู้บริโภคคือสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ซึ่งเป็นนายทะเบียนกลาง ดังนั้น สปน. จึงเป็นหน่วยสนับสนุนที่สําคัญของสภาผู้บริโภค ทั้งเรื่องงบประมาณ การทํางานเรื่องการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพราะฉะนั้นสภาผู้บริโภคหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในทุก ๆ ด้าน

สำหรับข้อแนะนําเรื่องพลังงานค่าไฟฟ้า สารีระบุว่า สภาผู้บริโภคได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมและพูดคุยกันว่าเป็นไปได้ไหมที่จะลดผลตอบแทนในระยะสั้น ขณะเดียวกันก็ขยายระยะเวลาอย่างเช่น เคยมีผลตอบแทนกี่บาทในระยะเวลากี่ปีก็อาจจะลดจํานวนลง เช่น 5 บาท ก็ปรับลดเป็น 3 บาทแต่ขยายระยะเวลา หรือเป็นไปได้มั้ยที่รัฐบาลจะเจรจาขอปรับลดผลตอบแทนในส่วนนี้ลง ซึ่งประเด็นนี้สภาผู้บริโภคมีโอกาสได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้วเช่นกัน

“หวังว่าวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะช่วยสนับสนุนการติดตามของสภาผู้บริโภค ไม่ให้มีการทําสัญญาการซื้อไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อที่ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายค่าไฟให้กับการสำรองไฟซึ่งมากเกินไป และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายของตัวเองผ่านการติดโซลาเซลล์ตามบ้าน ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสําคัญ แล้วก็ส่วนข้อเสนออื่น ๆ  ทั้งเรื่องหมวกกันน็อก การควบคุมราคารถไฟฟ้า การป้องกันการปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ สภาผู้บริโภคจะทําหน้าที่ดังกล่าวอย่างเต็มที่” สารีกล่าว

ส่วนเรื่องน้ำมันไม่เต็มลิตร ถ้าดูตามอํานาจหน้าที่จะเป็นของกองช่างตวงวัด กรมการค้าภายใน แต่ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภคได้ออกข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ คำถามว่าผู้บริโภคที่เสียหายสามารถฟ้องคดีเป็นคดีกลุ่มได้หรือไม่อย่างที่ท่านสมาชิกวุฒิสภาได้ให้คําแนะนํา เพราะการฟ้องคดีกลุ่มจะทําให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยาไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน

ประเด็นคำแนะนำในการทำงาน สภาผู้บริโภคจะนําไปปรับใช้ ทั้งเรื่องบริโภคศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสําคัญมากและควรกําหนดให้หลักสูตรบริโภคศึกษาเหล่านี้ไปอยู่ที่โรงเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการดังนั้นการผลักดันเรื่องดังกล่าวอาจจะไม่ง่ายนัก ที่จะทําให้หลักสูตรเหล่านี้ไปบรรจุอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหลักสูตรออนไลน์ที่ประชาชนสามารถเข้ามาเรียนรู้ในเว็บไซต์ของสภาผู้บริโภคได้ และนอกจากนั้นสำหรับองค์กรสมาชิกจะมีการจัดฝึกอบรมอย่างน้อยปีละ 2 – 3 ครั้ง เพื่อให้สมาชิกสามารถเท่าทันเรื่องสิทธิของผู้บริโภคและสามารถรักษาประโยชน์ของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องงานรับเรื่องร้องเรียน รวมถึงสนับสนุนการทําเรื่องงานนโยบายของสภาผู้บริโภค

นอกจากนี้ เลขาธิการสำนักงานสภาผูบริโภคอธิบายอีกว่า เรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภค ในปีที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคมีโอกาสสร้างความร่วมมือกับ 10 มหาวิทยาลัย โดยที่มีมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นแกนนําและเดินทางไปให้ความรู้กับนักศึกษาทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ เพื่อทําให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้น และเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 สภาผู้บริโภคจัดงานเปิดตัวสายด่วนสภาผู้บริโภค ก็ได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยรังสิตในเรื่องการจัดการ มีนักศึกษามาแต่งเพลงแร็ปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคเห็นด้วยว่าการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีที่สุดก็คือการทําให้ผู้บริโภคคุ้มครองตัวเองได้ รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์อะไร มีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้อง ก็จะสามารถเพิ่มอํานาจต่อรองให้กับผู้บริโภค สะท้อนระดับการพัฒนาของประเทศ

ส่วนประเด็นเรื่องทับซ้อนกับสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สารีอธิบายว่า อาจมีภารกิจหรือพันธกิจที่สนับสนุนการทํางานซึ่งกันและกันโดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของสภาผู้บริโภคคือการทํางานของภาคประชาชนที่จะมีบทบาทในการคุ้มครองตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะการทําเรื่องนโยบายของผู้บริโภค นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคมีกลไกลในการลดความซ้ำซ้อน อย่างเช่นถ้าเป็นกรณีการฟ้องคดี หาก สคบ. ดําเนินการไปแล้วสภาผู้บริโภคก็จะไม่ฟ้องคดีเพราะทั้ง สคบ. และสภาผู้บริโภคต่างใช้งบประมาณของรัฐเช่นเดียวกัน

“การทําข้อเสนอต่อภาครัฐไม่ยากเท่าการทําให้ข้อเสนอเป็นจริงยาก ขณะนี้หลายข้อเสนอเป็นเรื่องที่ภาคประชาสังคมเรียกร้องมานาน ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บอากาศสะอาด การมีบริการขนส่งที่ดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องฝุ่น PM 2.5 การที่มีอากาศที่สะอาดซึ่งในระหว่างประเทศยอมรับแล้วว่านั่นคือสิทธิที่ผู้บริโภคจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ขณะนี้บ้านเราก็ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง มั่นใจว่าสภาผู้บริโภคจะได้รับการสนับสนุนจะได้รับการผลักดันและแน่นอนโดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณจากท่านสมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน” สารีระบุ

ทางด้าน สุภาพร ถื่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นการสนับสนุนองค์กรสมาชิก หน่วยงานประจำจังหวัด และหน่วยงานเขตพื้นที่ สภาผู้บริโภค โดยอธิบายว่า การเป็นสมาชิกสภาผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคต้องผ่านการจดแจ้งหรือว่าผ่านขั้นตอนต่าง ๆ จากสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีแล้วถึงจะสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีสมาชิก 314 องค์กร ใน 43 จังหวัด และได้มีการกําหนดระเบียบซึ่งออกโดยคณะกรรมการนโยบายที่จะกำหนดว่าองค์กรสมาชิกสามารถยกระดับตัวเองพัฒนาตัวเองเป็นหน่วยงานเขตพื้นที่หรือหน่วยงานประจําจังหวัด โดยมีหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน เช่น หากเป็นสมาชิกในจังหวัดนั้น มีสมาชิกมากกว่า 5 องค์กรขึ้นไป หน่วยงานในจังหวัดดังกล่าวจะสามารถจัดตั้งเป็นหน่วยงานประจําจังหวัดได้ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกที่เป็นหน่วยงานประจําจังหวัดทั้งหมด 16 จังหวัด และขณะนี้กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ

สุภาพร ยืนยันว่า สภาผู้บริโภคมีแผนที่ชัดเจนในการเพิ่มจำนวนองค์กรสมาชิก ทั้งเชิงปริมาณ เช่น ปี 2566 สามารถขยายหน่วยงานประจําจังหวัดได้เป็น 16 หน่วย ขณะที่หน่วยงานเขตพื้นที่มี 4 หน่วย ส่วนในปี 2567 มีแผนที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงการขยายเชิงปริมาณเท่านั้น แต่มีเรื่องการขยายเชิงคุณภาพทําให้องค์กรสมาชิกที่มีคุณสมบัติ มีเงื่อนไขตามที่ระเบียบต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งเป็นหน่วยงานประจําจังหวัดหรือหน่วยงานเขตพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สภาผู้บริโภคให้ความสําคัญเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ องค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคจำนวน 314 องค์กรของสภาผู้บริโภค มีสมาชิกที่เป็นระดับหมู่บ้าน มีสมาชิกที่อยู่ในระดับตําบล มีสมาชิกที่อยู่ในระดับจังหวัด มีสมาชิกที่เป็นมูลนิธิหรือเป็นสมาคมต่าง ๆ ความเข้มแข็ง ความหลากหลายของสมาชิกเป็นส่วนสําคัญ ดังนั้นการทํางานสนับสนุนจึงมีตั้งแต่การทํางานเรื่องการเสริมสร้างแนวความคิด การทํางานพัฒนาทักษะให้สมาชิกสามารถรักษาผลประโยชน์การทํางานเรื่องการบริหารจัดการองค์กร ให้สามารถเป็นองค์กรที่โปร่งใสรับงบประมาณแล้วสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงการทํางานให้สมาชิกสามารถสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในพื้นที่ด้วย

ในแง่การทํางานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ มีทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยในระดับจังหวัดมีการทํางานร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทํางานร่วมกับศูนย์ดํารงธรรม ทํางานร่วมกับสํานักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งทํางานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายที่ได้สนับสนุนงบประมาณในการดําเนินงานร่วมกันกับองค์กรผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งสภาองค์กรชุมชนที่ท่านสมาชิกให้ข้อสังเกตว่าสภาผู้บริโภคควรร่วมทํางานขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ได้ทํางานร่วมกับสภาองค์กรชุมชนเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

สำหรับประเด็นเรื่องการสนับสนุนผู้สูงอายุ ของเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภตให้ข้อมูลว่า องค์กรสมาชิกมากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้บริโภค เป็นสมาชิกที่มีกลุ่มผู้สูงอายุอยู่ในกลุ่ม ดังนั้นการสื่อสารการสร้างการเรียนรู้ไม่ได้มีเฉพาะในรูปแบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว การสื่อสารการทําให้สมาชิกได้รับรู้และเข้าใจในได้มีการผลิตสื่อแผ่นพับ คู่มือ รวมทั้งสื่อต่าง ๆ ที่ทําให้กลุ่มผู้สูงอายุเองหรือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ สามารถเข้าถึงและนําสื่อเหล่านี้ไปสร้างการเรียนรู้ จัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับชุมชน

“การทําให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงสิทธิของตัวเองทําให้ผู้บริโภคเท่าทันถือว่าเป็นภารกิจที่สําคัญ ดังนั้นสมาชิกของสภาทั้ง 314 องค์กรหน่วยงานประจําจังหวัด 16 แห่งหน่วยงานเขตพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง ถือว่าภารกิจของการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคในพื้นที่ได้มีความเข้าใจได้ลุกขึ้นมาคุ้มครองสิทธิและปกป้องสิทธิของตัวเอง คือภารกิจที่สําคัญที่สภาผู้บริโภคกําลังดําเนินงานและถ้าหากได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณในด้านความร่วมมือต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าภารกิจนี้จะทําให้ผู้บริโภคทั้งประเทศนี้สามารถคุ้มครองสิทธิตัวเองได้” สุภาพรกล่าวทิ้งท้าย

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค