Getting your Trinity Audio player ready... |

สภาผู้บริโภคจับมือภาคีเครือข่าย ดันรวม 3 กองทุนสุขภาพ “บัตรทอง – ประกันสังคม – ข้าราชการ” เป็นมาตรฐานเดียว หวังลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ
วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 สภาผู้บริโภคร่วมกับสำนักข่าว Hfocus สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และ สำนักข่าวThe Better จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ทลายข้อจำกัดสิทธิประโยชน์ 3 กองทุนสุขภาพ สู่มาตรฐานที่เท่าเทียม” เพื่อสะท้อนปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสนอแนวทางเชิงนโยบายในการยกระดับสิทธิประโยชน์ของ 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ให้มีมาตรฐานเดียวกันและเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในระบบที่ดี เพราะรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนทุกคน แต่ในความเป็นจริงกลับยังพบข้อจำกัดและช่องว่างที่ส่งผลต่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน ทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งแม้จะต่างบริบทแต่ก็ควรได้รับการยกระดับสู่มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างมีคุณภาพโดยไม่เหลื่อมล้ำ เวทีนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการรวมเสียงจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายที่ตอบโจทย์จริง
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สะท้อนข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของระบบบริการสุขภาพไทยที่ยังสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในระบบบัตรทองซึ่งพบปัญหาในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ที่โครงสร้างบริการปฐมภูมิยังไม่เข้มแข็ง ประชาชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของระบบ และการส่งต่อผู้ป่วยยังขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้องพึ่งพาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ตั้งแต่ต้น ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายและการเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

ประเด็นที่สองคือระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบสุขภาพที่ยังไม่เข้มแข็ง โดย ผศ.ภญ.ยุพดี ระบุว่า สปสช. อยู่ระหว่างการปรับระบบเพื่อเปิดพื้นที่ให้เสียงของประชาชนและผู้ป่วยมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมายังเน้นการทำงานกับผู้ให้บริการเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มผู้ใช้บริการยังขาดช่องทางในการสะท้อนปัญหาและความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งหากสามารถสร้างกลไกรับฟังที่มีพลัง จะช่วยเสริมสร้างความสมดุลและทำให้ระบบบริการสุขภาพมีความยั่งยืน และประเด็นสุดท้ายคือความไม่เชื่อมโยงในการบริหารจัดการระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพหลัก ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งยังมีสิทธิประโยชน์แตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงยา วิธีการจ่ายค่ารักษา หรือการจัดการโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น มะเร็ง หรือไตวาย นอกจากนี้ กลไกการจัดซื้อยารวมที่เคยประหยัดงบได้มาก กลับถูกจำกัดจากข้อกฎหมาย ขณะที่การจัดสรรงบประมาณยังยึดตามข้อมูลย้อนหลังหลายปี ทำให้ไม่สามารถสะท้อนต้นทุนจริงในปัจจุบันได้อย่างแม่นยำ
ทางออกที่เสนอคือการขับเคลื่อนการบริหารจัดการร่วม ระหว่างทั้ง 3 กองทุน ผ่านกลไกตามมาตรา 9 และ 10 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพ ที่จะเปิดทางให้ใช้สิทธิแบบบูรณาการข้ามกองทุนได้ตามงบประมาณที่มีอยู่ และร่วมกันกำหนดสิทธิประโยชน์ จัดซื้อยา และดูแลกลุ่มโรครุนแรงอย่างเท่าเทียม โดยเน้นว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือเชิงนโยบาย และแนวนโยบายของผู้บริหารระดับสูงในทุกกองทุน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนในทุกสถานะและทุกระบบสิทธิ
ขณะที่ นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร จากทีมประกันสังคมก้าวหน้า เปิดเผยว่า การจัดการบริการทางการแพทย์ของระบบประกันสังคมยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญ โดยเฉพาะบทบาทของคณะกรรมการการแพทย์ ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดแนวทางและนโยบายทางการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคม โดยได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จุดที่น่ากังวลคือ คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจทัดเทียมกับบอร์ดประกันสังคม ที่มาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตน แต่กลับไม่มีการเปิดรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง
นพ.ณัฐ กล่าวอีกว่า แม้ข้อมูลล่าสุดในปี 2567 ผู้ประกันตนมีแนวโน้มเลือกโรงพยาบาลของรัฐมากกว่าเอกชน แต่ความท้าทายที่ยังคงอยู่คือค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนที่สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณและประสิทธิภาพในการบริหารสิทธิรักษาพยาบาลภายใต้เงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายอย่างต่อเนื่องทุกเดือน คำถามสำคัญคือ จะมีแนวทางใดในการทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพควบคู่กับความคุ้มค่าในระบบที่ควรเป็นของทุกคน

สำหรับอุปสรรคในการพัฒนาสิทธิประกันสังคม นพ.ณัฐ กล่าวว่ามีทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนเป็นไปได้ยาก เนื่องจาคณะกรรมการการแพทย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2) การมีส่วนร่วมของนักวิชาการค่อนข้างจำกัด เพราะขอข้อมูลยาก ซึ่งส่งผลต่อการนำข้อมูลไปใช้เพื่อวางแผนพัฒนาบริการและการจัดการของประกันสังคมด้วยเช่นกัน 3) ปริมาณงานที่ไม่สัมพันธ์กับจำนวนบุคลากร และเงินเดือนไม่ดึงดูดคนมีศักยภาพในด้านต่างๆ เข้ามาทำงาน 4) การบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกองทุนอื่น ๆ มีไม่มากเท่าที่ควร 5) หลักเกณฑ์การพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจน ไม่สอดคล้องกับโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และขาดความโปร่งใส หากผู้ประกันตน นักวิชาการ และกองทุนอื่น ๆ มีส่วนร่วม ประกันสังคมอาจจะพัฒนาอีกได้มาก
“คำถามสำคัญคือ นับจากช่วงโควิดมาเราปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยมากขึ้นทุกวัน ๆ แบบนี้ได้อย่างไร และเป็นเรื่องที่เราควรต้องอับอาย ทั้งรัฐบาล คนที่ทำงานด้านการแพทย์ และในฐานะผู้ประกันตน ว่าทำไมเราไม่สามารถช่วยกันผลักดันเพื่อให้ทุกคนได้มีระบบประกันสุขภาพที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งที่เป็นเรื่องพื้นฐาน”
นพ.ณัฐ ระบุ
ด้าน สิทธิชัย งามเกียรติขจร ผู้อำนวยการกองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง ชี้ว่า ระบบทั้งสามกองทุนมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน ทำให้มีโครงสร้างการบริหารและการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น สิทธิสวัสดิการข้าราชการอยู่ภายใต้ระบบเบิกจ่ายตรงจากงบประมาณแผ่นดิน ในขณะที่ประกันสังคมและบัตรทองใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัว ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ พร้อมให้ความเห็นว่า สิ่งที่ควรโฟกัสไม่ใช่เพียงตัวเงินหรือกลไกการจ่าย แต่คือ มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการที่ต้องเท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้ป่วยจะถือสิทธิใด หน่วยบริการควรให้บริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพราะหากการให้บริการสุขภาพมีมาตรฐานเหมือนกัน และผู้ให้บริการเท่าเทียมกัน ทั้ง 3 กองทุน จะไม่ต้องมาถกกันในเรื่องความเหลื่อมล้ำ

อีกทั้ง ได้กล่าวถึง การทำงานร่วมกันของกรมบัญชีกลางในการบูรณากับอีกสองกองทุนหลัก เพื่อพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ทั้งในด้านการเข้าถึงอวัยวะเทียม, การรักษาโรคเรื้อรัง ไปจนถึงการจัดการ ระบบการดูแลระยะยาว (Long – Term care) และ การบริการดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home Visit) แม้จะยังมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างและบุคลากร แต่สิ่งสำคัญคือการมองไปข้างหน้าว่า จะร่วมกันพัฒนาระบบให้บริการที่ตอบโจทย์ประชาชนได้อย่างเท่าเทียม และมีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้จัดตั้ง คณะกรรมการร่วมสามกองทุน ที่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจนในการวางนโยบายและติดตามประสิทธิผลของการบูรณาการสิทธิ์ในภาพรวม
ขณะที่ นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ กล่าวถึง มายาคติความเท่าเทียมของระบบหลักประกันสุขภาพ หนึ่งในข้อถกเถียงที่วนเวียนในสังคมไทยคือการพยายามผลักดันให้เกิดกองทุนเดียว โดยเชื่อว่าจะสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากกว่า หลายกองทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเท่าเทียมไม่ได้ขึ้นกับจำนวนกองทุน แต่อยู่ที่สิทธิประโยชน์กลางที่เท่ากัน และกลไกการบริหาร กำกับดูแลที่มีธรรมาภิบาล เพราะหากไม่มีกลไกบริหารจัดการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเดียวหรือหลายกองทุน ระบบก็ยังคงเหลื่อมล้ำต่อไป
“เราวนอยู่กับปัญหา เถียงกันว่าจะเป็นกองทุนเดียว หรือหลายกองทุน ซึ่งนั่นไม่ใช่ตัวแปรหลักที่จะสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ สิ่งที่สำคัญคือทุกคนต้องได้รับสิทธิพื้นฐานที่เหมือนกัน และต้องมีกลไกกำกับที่โปร่งใส” นพ.ถาวรให้ความเห็น

นอกจากนี้ นพ.ถาวร ได้ยกตัวอย่างจากหลายประเทศอย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น ซึ่งมีหลายร้อยถึงหลายพันกองทุน แต่ก็สามารถสร้างความเท่าเทียมได้ หากมีการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ร่วม และมีวิธีการจ่ายเงินที่เป็นธรรม เช่น โมเดลขนมชั้น คือ ชั้นที่1 สิทธิประโยชน์พื้นฐานด้านการส่งเสริมสุขภาพที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ สอดคล้องกับมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดว่า ทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสุขภาพโดยไม่เลือกปฏิบัติ
สำหรับชั้นที่ 2 บริการทางการแพทย์อื่น ๆ ที่เป็นส่วนเสริมที่กองทุนแต่ละกองทุนสามารถเลือกนำมาเสริมให้แก่กลุ่มเป้าหมายของตนได้ตามความเหมาะสม และชั้นที่ 3 บริการอื่น ๆ ที่เป็นส่วนเสริมตามความต้องการของแต่ละบุคคล รวมถึงความสะดวกสบายอื่น เช่น ห้องพิเศษ อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือยาที่เกินกว่ากลุ่มที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมในเวที เสนอให้รวมระบบบริการสุขภาพเป็นระบบเดียว พร้อมทั้งมีการยกตัวอย่างระบบบริการสุขภาพของประเทศเกาหลีใต้ ที่ต้องใช้อำนาจรัฐบังคับใช้กฎหมายให้เกิดบริการสุขภาพระบบเดียว รวมถึง ข้อเสนอเรื่องกลไกควบคุมกำกับค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ที่ควรมีราคาชัดเจน อีกทั้ง เรื่องความโปร่งใสของระบบ และมาตรฐานของผู้ให้บริการ
อย่างไรก็ตาม เวทีเสวนาครั้งนี้ไม่ได้จบเพียงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพได้มีการรวบรวมข้อเสนอจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างระบบสุขภาพที่เท่าเทียม เข้าถึงได้ และตอบโจทย์ประชาชนในทุกระบบ