ยื่น 3 กมธ. ตรวจสอบ กสทช. ละเลยหน้าที่

สภาผู้บริโภค ยื่นรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำฯ ต่อ 3 กรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบ กสทช. กรณีควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม ทรู – ดีแทค และเอไอเอส – 3บีบี

จากกรณี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้บริโภคแถลงข่าวเพื่อเปิดแถลงรายงานการทำหน้าที่และการละเลยการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีควบรวมค่ายมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านในมุมผู้บริโภค ซึ่งพบว่ามีการละเลยการกระทำในหลายกรณี โดยเฉพาะการไม่กำกับดูแลให้ลดราคาค่าบริการมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านตามเงื่อนไข
อีกทั้งได้มีการยื่นรายงานการกระทำและละเลยการกระทำฯ ดังกล่าว ต่อคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 นั้น

วันที่ 21 มีนาคม 2567 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และนายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปยื่นหนังสือและรายงานการทำหน้าที่ฯ ของกสทช. ต่อประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 3 คณะ ได้แก่ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร และ กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. โดยมีนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธานคณะกรรมมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมทั้งนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ และนายภัณฑิล น่วมเจิม โฆษกคณะกรรมมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือและเล่มรายงานฯ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การยื่นรายงานการกระทําหรือละเลยการกระทําฯ ต่อคณะกรรมาธิการในครั้งนี้ เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 60 และมาตรา 75 และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 หรือไม่

สำหรับรายงานการกระทําหรือละเลยการกระทําฯ ที่ยื่นต่อทั้ง 3 คณะกรรมาธิการ มีประเด็นสำคัญ ๆ คือ การลงมติของกสทช. เกี่ยวกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ทั้งการควบรวมอินเทอร์เน็ตมือถือระหว่างทรูและดีแทค การควบรวมอินเทอร์เน็ตบ้านระหว่างเอไอเอสและ3บีบี รวมถึงการไม่กํากับดูแลให้มีการดําเนินการตามเงื่อนไขที่ได้ออกไว้เอง โดยเฉพาะมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสภาผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะต่อ กสทช. 3 ประเด็น คือ 1) ให้กสทช. ทบทวนและยกเลิกการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่ดําเนินการแล้วทั้งหมด 2) ให้พิจารณาจัดทำมติเรื่องการปรับลดราคาค่าบริการพื้นฐานร้อยละ 12 ตามมาตรการที่กำหนด และ 3) ให้กำกับการทำหน้าที่ของ สำนักงาน กสทช.อย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนสูงสุด

“แม้จะอ้างว่าเฉลี่ยแล้วลดราคา แต่ว่าในความเป็นจริงผู้บริโภคไม่เห็นประโยชน์ว่ามีการลดราคาลงราคา เพราะนั้นก็กสทช. มีอํานาจในการกำกับเรื่องราคาลงจึงขอให้ดําเนินการตามหน้าที่ นอกจากนี้อยากให้ กสทช. กํากับการทําหน้าที่ของสํานักงาน และตรวจสอบมาตรการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ อยากให้สํารวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ เร่งรัดเปิดเผยรายการส่งเสริมการขายทั้งหมด ตรวจสอบคุณภาพเร่งรัดการสนับสนุนเอ็มวีเอ็นโอ และตรวจสอบเรื่องความเร็วอินเทอร์เน็ตด้วย”

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการปล่อยให้มีการควบรวมของบริษัทโทรคมนาคม ส่งผลให้ผู้บริโภคประสบปัญหาอย่างมากในเรื่องของการขาดทางเลือก ไม่ว่ากิจการมือถือ หรืออินเทอร์เน็ตบ้าน แม้ว่าที่ผ่านมาสภาผู้บรโภคเคยร้องเรียนไปยังหน่วยงาน กสทช. แล้วแต่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ต้องพึ่งพาฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายองค์กรกำกับดูแลอิสระ

“ปัจจุบันสังคมกําลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงดิจิทัลแบบสมบูรณ์แบบ และเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เพราะฉะนั้นโครงข่ายโทรคมนาคมเปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลัง คือมีความสำคัญมาก หากผู้บริโภคไม่มีทางเลือกที่มากพอ ก็จะส่งผลให้สิทธิของผู้บริโภคถูกจํากัด ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในโครงข่ายพื้นฐาน หากในประเทศไทยมีโครงข่ายที่มาก จะเป็นหลักประกันด้านราคาและคุณภาพเมื่อเทียบกับการที่โครงข่ายอยู่ในมือเอกชนแค่น้อยราย” นางสาวสุภิญญาระบุ

นอกจากนี้ ในระยะยาวอาจมีการเสนอปรับแก้ไขกฎหมายให้มีการเปิดเสรีการแข่งขันโทรคมนาคมมากขึ้น หรือการส่งเสริมผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่มีโครงข่าย (MVNO) หรือผลักดัน เอ็นที (NT) รัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของชาติขึ้นมาเป็นทางเลือกที่สามให้ผู้บริโภค

ทางด้านนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจติดตามประเด็นการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง และได้ตั้งคณะทํางาน 2 ชุดเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ โดยมีหนึ่งคณะทำงานที่ติดตามเรื่องผลกระทบของการควบรวมธุรกิจคมนาคมโดยเฉพาะ โดยปัจจุบันกำลังพิจารณาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการบังคับ รวมทั้งการติดตาม และกำกับดูแลบริษัทฯ ว่าได้ดำเนินการมากน้อยเพียงใด

ส่วนคณะทํางานอีกชุดหนึ่งทำหน้าที่ดูแล ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เพราะต้องยอมรับว่ากฎหมายแข่งขันทางการค้าปัจจุบันยังมีช่องว่างที่ทําให้อุตสาหกรรมที่มีผู้กําหนดนโยบายเฉพาะ ถูกแยกไปจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า

“ในยุคที่กําลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล ต้นทุนเกี่ยวกับโทรคมนาคมถือเป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งหากไม่มีการควบคุมค่าบริการและคุณภาพ ก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างแน่นอน นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลคือ หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายแข่งกันทางการค้าหรือส่งเสริมการแข่งขันให้เกิดขึ้นจริง การผูกขาดในธุรกิจหนึ่ง ภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอาจจะนําไปสู่การผูกขาดในธุรกิจอื่น ๆ ด้วย” นายสิทธิพลระบุ

ขณะที่ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ. การสื่อสารฯ เห็นปัญหาเช่นเดียวกัน กล่าวคือผู้บริโภคประสบปัญหา การเข้าไม่ถึงสิทธิการเลือกใช้บริการขั้นพื้นฐานโทรคมนาคม ทั้งที่ทุกคนควรได้รับจากภาครัฐ ปัญหาดังกล่าวจึงต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าโครงสร้างของ กสทช. มีปัญหาในเรื่องระบบการจัดการ ดังนั้นทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาชนซึ่งมีความเข้มแข็งมาก ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้

“หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงจะต้องให้ความร่วมมือและรับฟังปัญหารวมถึงคำแนะนําของผู้บริโภคอย่างจริงใจ ไม่เพียงแค่รับแล้วบอกว่าจะไปทำเท่านั้น แต่รับแล้วจะต้องเกิดการแก้ไขตามมา ทั้งนี้ ในฐานะกรรมาธิการจะติดตามเรื่อง พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาชี้แจง และปัญหานี้นั้นจะไม่สามารถสำเร็จได้ถ้า หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” นางสาวธีรรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารฯ รับปากว่าจะนำรายงานที่สภาผู้บริโภคนำมายื่นไปศึกษาต่อ และคิดว่าตอนนี้มีข้อมูลปัญหามากเพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการร่วมมือกันทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล อย่างไรก็ตามทางกรรมาธิการฯ เห็นพ้องต้องกันว่า ผู้บริโภคควรได้รับสิทธิในการดูแลจากภาครัฐที่เหมาะสมและยุติธรรมที่สุด

ส่วนนายภัณฑิล น่วมเจิม โฆษกคณะกรรมมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค ได้ติดตามยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกสทช. และผู้ประกอบการทั้งสองรายแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับกลับมา อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้หากมารายงานของ กสทช. เกี่ยวกับเรื่องผลกระทบหลังจากการควบรวม กมธ. ต้องนำมาศึกษาและเปรียบเทียบรายงานของสภาผู้บริโภคและ กสทช. ว่ามีเนื้อหาสอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไร

“นอกจากนี้อาจต้องไปดูข้อมูลย้อนหลังว่าผู้ประกอบการทั้งสองบริษัทว่าเคยรับปากว่าจะดำเนินการเรื่องอะไรบ้าง แล้วจนถึงปัจจุบันปฎิบัติจริงได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงการเรียกผู้ให้บริการโทรคมนาคมอีกสองรายที่ยังไม่ได้ชี้แจง คือ เอเอส และ3บีบี เข้ามาชี้แจงด้วย เนื่องจากปัจจุบันก็มีเรื่องร้องเรียน และสภาพตลาดเป็นไปในลักษณะเดียวกันคือเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงสองราย” นายภัณฑิลกล่าวทิ้งท้าย

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค