ร่างผังเมืองกทม. ผิดขั้นตอน การมีส่วนร่วมภาค ปชช. ตามกม. หมายถึง “ถามก่อนร่าง” 

เครือข่ายภาคประชาชน และสภาผู้บริโภค เปิดข้อมูลร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครใหม่ พบสร้างถนน 148 เส้นทาง 600 กิโลเมตร ไร้การมีส่วนร่วมประชาชน หวั่นได้รับผลกระทบ ขณะที่ กทม.เตรียมเปิดรับฟังความเห็นในวันที่ 23 – 24 ธ.ค นี้ 

จากกรณี กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมจัดงานรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 และวันที่ 6 มกราคม 2567 เพื่อประกาศใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ โดยที่ผ่านมาภาคประชาชน สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (Sconte) ร่วมกับ เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง (คปช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินท์ และสภาผู้บริโภคได้เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทบทวนร่างดังกล่าวเนื่องจากภาคประชาชนไม่ได้ส่วนร่วมตั้งแต่ต้นนั้น

ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนได้ติดตามการร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครมาตลอดและพบว่าปัญหาหลักของร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับใหม่คือกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้นโดยผิดมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 เพราะกทม.ต้องมาถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะร่างผังเมืองออกมาไม่ใช่ร่างผังเมืองเสร็จแล้วถึงมาถามความคิดเห็นซึ่งถือว่าผิดขั้นตอน

ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง

“ปัญหาคือ กทม.มีตุ๊กตาอยู่แล้วหนึ่งตัว ซึ่งเขาใช้คำว่าร่าง นั่นหมายความว่าเขาร่างเสร็จแล้ว เขาร่างไว้แล้ว แล้วค่อยรับฟังเรา ถามว่าตุ๊กตาตัวนี้ที่เอามาถามเรา ถามประชาชน ทำเป็นถามในขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว แถมประชาชนไม่ได้ถูกรับเชิญอย่างแท้จริง มีกี่คนที่ได้รับเชิญเข้าไปมีส่วนร่วมบ้าง ไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์ คือ หนึ่ง ล้มเหลวในการประชาสัมพันธ์ ประชาชนไม่รู้ สอง เรื่องใหญ่คือไม่ได้พยายามทำความเข้าใจให้แก่ประชาชนว่าผังเมืองคืออะไร ดังนั้นขั้นตอน กทม.ผิดตั้งแต่การประชาชนสัมพันธ์ การให้ความรู้ประชาชน และการลงไปสำรวจเผื่อให้ได้ร่างผังเมืองใหม่ขึ้นมา”

นายก้องศักดิ์ กล่าวอีกว่า รายละเอียดในร่างผังเมืองใหม่ที่เปิดเผยใน เว็บไซต์ plan4bangkok ยังพบการแก้ไขที่อาจกระทบกับประชาชนในหลายจุด เช่น จะมีการตัดถนนใหม่และขยายถนน 148 สาย กว่า 600 กิโลเมตร ซึ่งถนนดังกล่าวอาจตัดผ่านเขตชุมชนและจะมีปัญหาเวนคืนที่ดินในอนาคต

นอกจากนี้ยังได้ตั้งคำถามว่า การปรับขยายถนนเป็น 12 เมตร 16 เมตร 20 เมตร 30 เมตร ตามร่างผังเมืองใหม่นั้นเอื้อต่อการสร้างตึกสูง คอนโดในซอยหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า อาคารสูงที่จะก่อสร้างได้ต้องมีถนนเกิน 10 เมตรขึ้นไป

“ ปัญหาข้อเดียวในผังเมืองฉบับนี้ คือเขาเขียนกันขึ้นมาเอง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากในเรื่องสิทธิประชาชน เราไม่ได้รู้เรื่องผลกระทบ การเยียวยา เราไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลยทั้งสิ้น” นายก้องศักดิ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม นายก้องศักดิ์ ได้เชิญประชาชนไปร่วมคัดค้านร่างผังเมือง กทม ในวันที่ 23 และ 24 ธันวาคมนี้ซึ่งจะมีการจัดประชุมรับฟังความเห็นประชาชนในเขตต่าง ๆ และวันที่ 6 มกราคม 2567 จะเป็นวันประชุมใหญ่ประชาชนที่สนามกีฬาและอยากให้ภาคประชาชนควรจะรวมพลครั้งใหญ่เพื่อไปแสดงความเห็นต่อต้านคัดค้าน เรียกร้องให้ภาครัฐรับฟังประชาชน ทบทวนร่างผังเมืองฉบับนี้ และร่างขึ้นมาใหม่

ด้าน พรพรหม โอกุชิ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และอยู่อาศัย สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ลงไปหารือกับชุมชนใน 50 เขตเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการจัดทำร่างผังเมืองใหม่เนื่องจากยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในเรื่องของกระบวนการและมาตรการ

พรพรหม โอกุชิ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และอยู่อาศัย สภาผู้บริโภค

“เอกสารที่คณะกรรมการผังเมืองนำไปประชาสัมพันธ์กับประชาชนยังมีความละเอียดไม่เพียงพอเพราะเอกสารเป็นเชิงวิชาการและมีรายละเอียดเฉพาะเรื่องมาตรการและการดำเนินการของหน่วยงาน แต่เอกสารประกอบการประชุมรวมไปถึงการอธิบายของวิทยากรไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและไม่มีการพูดถึงแนวทางการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำผังเมืองครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ด้านผังเมืองอาจจะไม่เข้าใจถึงผลกระทบที่จะตามมา”ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนและสภาผู้บริโภคจึงเสนอให้มีการทบทวนร่างผังเมืองฉบับใหม่ โดยเปิดให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในการร่างผังเมืองตั้งแต่แรก

 ด้าน ภัณฑิล น่วมเจิม สส.พรรคก้าวไกล เขตคลองเตย-วัฒนา กรุงเทพ โฆษกกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า อยากเชิญชวนประชาชนเข้ามีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองในวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 เพราะผังเมืองเปรียบเหมือนกติกาในการอยู่ร่วมกันทางกายภาพ ซึ่งที่ผ่านมา ร่างผังเมือง กทม. ไม่ได้เปิดให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม และมีชาวกรุงเทพจำนวนมากไม่รู้ว่ากำลังจะมีการร่างผังเมืองใหม่ที่อาจจะกระทบต่อประชาชนหรือไม่

ตรวจสอบการขยายถนน – การตัดถนนใหม่ มีผลต่อการเวนคืนที่ดิน

เช่น
หน้าบ้านมีถนน 6 เมตร แต่มีเส้นสีส้มตัดผ่าน จะขยายเป็น 12 เมตร
หน้าบ้านมีถนน 6 เมตร แต่มีเส้นสีแดงตัดผ่าน จะขยายเป็น 16 เมตร

รายละเอียดของเขตทางตามรูปที่แนบ

ลิงก์ตรวจสอบเส้นสีต่าง ๆ ที่ผังเมืองใหม่กำหนด


https://www.google.com/maps/d/u/0/viewer?mid=1ncHBuTNT_V6yAaXnOtUPRzfyM_OsZVo&femb=1&ll=13.718963759638282%2C100.61178850000002&z=10

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผังเมืองกรุงเทพ #ประชาพิจารณ์