ตัดสินแล้ว! สั่ง กสทช. คุมค่ายมือถือ ห้ามปัดเศษวินาที

อีกระดับของการคุ้มครองผู้บริโภค! ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ กสทช. คุมค่ายมือถือ คิดค่าบริการตามจริง ห้ามปัดเศษวินาที

หลังจากกระบวนการฟ้องร้องผ่านมา 5 ปี ในที่สุดศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำกับดูแลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ ทรูและเอไอเอส คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง โดยห้ามปัดเศษวินาที

รวมทั้งให้ กสทช. พิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยไปอีกขั้นหนึ่ง

*การคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาที คือ การที่ผู้ใช้บริการจะถูกคิดค่าบริการเป็นหนึ่งนาที ทุกครั้งที่มีการใช้บริการเกินเป็นวินาที เช่น ใช้บริการไป 10.01 นาที จะถูกคิดค่าบริการเป็น 11 นาที*

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ระบุว่า ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 1/2560 และให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีมติดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ขั้นตอนการจัดประชุมดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม

ดังนั้น มติที่ประชุมครั้งนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ศาลยังวินิจฉัยว่า ตามกฎหมายกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่คุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้บริการ การปัดเศษทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่ได้คิดค่าบริการตามการใช้งานจริง

“ทั้งนี้ ศาลมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่าผู้ให้บริการคลื่นความถี่สามารถเลือกใช้หน่วยวัดเพื่อคิดค่าบริการได้ทั้งหน่วยวินาทีหรือนาที แต่ กสทช. ควรกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขห้ามผู้ให้บริการคลื่นความถี่ใช้วิธีคิดแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาที ส่วนวิธีการคิดค่าบริการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กสทช.” โสภณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ณัฐวดี เต็งพาณิชย์กุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากการพิจารณาคดีครั้งนี้ เป็นการฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง

ดังนั้น กสทช. สามารถใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ ภายใน 30 วันนับแต่ฟังคำพิพากษา แต่หากไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินในครั้งนี้ก็จะถึงที่สุดและมีผลให้ กสทช. ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตามที่ระบุไว้

“หาก กสทช. ยื่นอุทธรณ์ มพบ. ก็จะสู้คดีต่อ ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการในชั้นศาลต่อไป ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค” ณัฐวดี ยืนยัน

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการ กสทช. แสดงความเห็นว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นประโยชน์ในแง่การคุ้มครองผู้บริโภค โดยเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เห็นว่าการปัดเศษเป็นการค้าขายที่ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ กสทช. เกิดความตระหนักในเรื่องธรรมาภิบาลด้วย

“สิ่งที่น่าเสียดาย คือ เราควรจะมีการบังคับห้ามปัดเศษตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนมติโดยมีผลย้อนหลัง แปลว่า สำนักงาน กสทช. ต้องไปหาช่องทางว่า 5 ปีที่ผู้บริโภคต้องถูกปัดเศษโดยไม่เป็นธรรมนั้น จะมีแนวทางการชดเชยเยียวยาผู้บริโภคอย่างไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบ” นพ.ประวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้ นพ. ประวิทย์ ในฐานะอดีตกรรมการ กสทช. ยังฝากถึง คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ว่า ถึงแม้ปกติเมื่อมีคดีที่สำนักงานฯ แพ้ สำนักงานฯ จะเสนอให้อุทธรณ์เป็นพื้นฐาน แต่สำหรับคดีในครั้งนี้อยากให้ทั้งสำนักงาน กสทช. และกรรมการ กสทช. อ่านคำพิพากษาและชั่งน้ำหนักให้ดีก่อนว่า เห็นด้วยไหมว่ากระบวนการทบทวนมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเห็นด้วยไหมว่ากระบวนการตีความประกาศ เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค คือ ปล่อยให้เกิดการปัดเศษ

หากเห็นด้วยไม่ควรอุทธรณ์ เนื่องจากจะทำให้เกิดการประวิงเวลา ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองล่าช้าลงไปอีกอย่างน้อยประมาณ 2 ปี แต่ถ้าไม่ยื่นอุทธรณ์ก็ไม่ต้องอุทธรณ์ คำพิพากษาก็จะถึงที่สุด และสำนักงาน กสทช. ก็จะเริ่มกำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่ายได้ทันที


ที่มาของการฟ้องคดี

เริ่มจากมีผู้บริโภครายหนึ่งซื้อโปรโมชันการโทรจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เจ้าหนึ่ง และถูกเรียกเก็บเงินเพิ่ม เนื่องจากมีระยะเวลาการโทรมากกว่าที่กำหนดไว้ในโปรฯ ผู้บริโภครายดังกล่าวคำนวณเวลาโทรของตัวเอง โดยดูจากบันทึกการโทร และพบว่าไม่เกินโปรฯ ทั้งยังพบว่าถูกคิดระยะเวลาการโทรมากกว่าที่ใช้จริงมากกว่า 30 นาที จึงนำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียนกับ กสทช.

เมื่อ กสทช. เรียกบริษัทผู้ให้บริการมาชี้แจง ได้รับเหตุผลว่าเป็นเพราะคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาที จึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าไปพูดคุยกันในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และมีความเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค สปช.จึงทำหนังสือถึง กสทช. ว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมให้ช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

กสทช. จึงนำแนวคิดดังกล่าวไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการประมูลคลื่นความถี่ 900 กับ 1800 MHz (ซึ่งภายหลัง ‘ทรู’ และ ‘เอไอเอส’ เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นดังกล่าว) โดยมีการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 10/2559 เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2559

ได้ข้อสรุปว่า บริษัทที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย และ กสทช. ต้องมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้รับทราบแนวทางการตรวจสอบและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ในการประมูลคลื่นความถี่อื่น ๆ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ เนื่องจากมีการจัดสรรไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงมีการพูดคุยกันว่าสำนักงานจะไปหาแนวทางกำกับดูแลคลื่นอื่น ๆ เช่น คลื่นความถี่ 2100 MHz (โดยดีแทคเป็นผู้ชนะการประมูล)

ปรากฏว่าผ่านไปหลายเดือน กลับมีการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 โดยมีวาระเพื่อพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 และสำนักงาน กสทช. เสนอให้สามารถคิดค่าบริการได้ทั้งแบบนาทีและวินาที โดยให้บริษัทเสนอโปรโมชันที่คิดเป็นวินาทีแบบไม่ปัดเศษ และโปรโมชันแบบปัดเศษ แล้วให้ผู้บริโภคเลือก ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมก็เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

แต่ นพ.ประวิทย์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ในขณะนั้น แสดงความเห็นแย้ง เนื่องจากมติดังกล่าวผิดหลักการที่เคยกำหนดไว้ในการประชุมครั้งแรก และเป็นข้อเสนอที่ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์

“เรื่องนี้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของวิธีการคิดค่าบริการ ไม่ใช่เรื่องการโฆษณา หมายความว่า บริษัทผู้ให้บริการคลื่นสัญญาณสามารถโฆษณาเป็นราคาต่อนาทีหรือวินาทีก็ได้ แต่เวลาคิดต้องคิดแบบห้ามปัดเศษวินาทีเป็นนาที เปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนน้ำมัน ที่โฆษณาว่าลิตรละ 40 บาท โดยไม่ได้บอกว่ามิลลิลิตรละเท่าไหร่ แต่ตอนที่ผู้บริโภคเติมก็คือเติมเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น” อดีตคณะกรรมการ กสทช. กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องกระบวนการเสนอขอทบทวนมติที่ประชุม ที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมด้วย

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ นพ.ประวิทย์ ในฐานะอดีตคณะกรรมการ กสทช. และในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช. เกี่ยวกับการขอให้เพิกถอนมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว และให้ผู้บริโภคใช้โทรศัพท์โดยเสียค่าบริการตามการใช้งานจริง

ส่วน มพบ.นั้น เข้าไปเป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามติ กทค. ครั้งที่ 1/2560 ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และเป็นการเปิดช่องให้ผู้ให้บริการคลื่นสัญญาณโทรศัพท์สามารถคิดค่าบริการในลักษณะที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ หากการฟ้องร้องดังกล่าวถึงที่สุดโดยที่ผู้บริโภคชนะคดี ก็จะทำให้ประโยชน์เกิดขึ้นกับผู้บริโภคทุกรายที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค