พัสดุสูญหาย ขนส่งต้องรับผิดชอบ

Getting your Trinity Audio player ready...
พัสดุสูญหาย ขนส่งต้องรับผิดชอบ

ผู้บริโภคเตือนภัย ส่งพัสดุผ่านบริษัทขนส่งแต่ พัสดุสูญหาย ด้านสภาผู้บริโภคย้ำชัด ขนส่งต้องรับผิดชอบ หากบ่ายเบี่ยงผู้บริโภคมีสิทธิฟ้องคดีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จากกรณีที่มีผู้บริโภครายหนึ่ง โพสต์ในเพจ “พวกเราคือผู้บริโภค” เล่าประสบการณ์การใช้บริการส่งของกับบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง โดยระบุว่า เคยส่งของกับบริษัทดังกล่าวและ พัสดุสูญหายถึง 2 ครั้ง โดยที่บริษัทไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ ครั้งที่ 1 เป็นการส่งอะไหล่แอร์มูลค่าประมาณ 2,000 บาท เมื่อของสูญหายและแจ้งบริษัทฯ ได้รับคำตอบว่า ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อประกันในการขนส่งและแจ้งของหายเกินระยะเวลา 7 วันหลังจากวันส่ง บริษัทจึงปฏิเสธความรับผิดชอบ

และครั้งที่ 2 ผู้บริโภครายเดิมส่งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กใช้แล้วให้คนรู้จัก (สินค้ามีมูลค่าตอนซื้อประมาณ 30,000 บาท) จึงตัดสินใจซื้อประกันการส่ง ที่มีเงื่อนไขว่า ถ้าเป็นของมือสองรับประกันความเสียหายในวงเงิน 5,000 บาท แต่ปรากฏว่าพนักงานขนส่งทำ พัสดุสูญหาย ผู้บริโภคจึงติดต่อบริษัทฯ เพื่อให้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่บริษัทฯ กลับปฏิเสธโดยอ้างว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการส่งของธรรมดา ไม่ใช่การซื้อขายสินค้า (อ่านรายละเอียดได้ที่ : เพจ พวกเราคือผู้บริโภค)

พัสดุสูญหาย ขนส่งต้องรับผิดชอบ : เฟซบุ๊กผู้เสียหาย

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทขนส่งถือเป็น “ผู้รับขน” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่จะต้องขนส่งสินค้าในสภาพปกติสมบูรณ์ให้ถึงปลายทาง ดังนั้น หากของสูญหายถือเป็นการผิดสัญญา ผู้บริโภคมิสิทธิบอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหาย นั่นแปลว่าบริษัทฯ ต้องคืนเงินค่าขนส่งและรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเต็มจำนวน เนื่องจากเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างที่ของอยู่ในความครอบครองของบริษัท

“การประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความไว้วางใจของประชาชน ดังนั้น การประกอบธุรกิจต้องมีมาตรฐานในการรับและส่งของ  การที่ผู้ประกอบการได้รับของไว้เพื่อขนส่ง ย่อมต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าคนทั่วไป เพื่อให้ขนส่งสินค้านั้นไปถึงที่หมายได้โดยปลอดภัย การที่พัสดุสูญหายระหว่างการขนส่ง  ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจของผู้บริโภค

นอกจากนี้ บริษัทฯ ไม่ควรปฏิเสธความรับผิดชอบโดยอาศัยเหตุที่ผู้บริโภคไม่ได้ทำประกัน เนื่องจากพัสดุยังอยู่ในความครอบครองของผู้ประกอบการ เทียบเคียงกับกรณีการใช้บริการสายการบิน ถ้าเราขึ้นเครื่องบินแล้วเครื่องบินตก เราบาดเจ็บ แม้เราไม่ได้ซื้อประกันไว้ สายการบินก็ต้องรับผิดชอบ เพราะการให้บริการของเขาไม่ปลอดภัยและผิดสัญญาบริการ จึงต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยไม่มีสิทธิปฏิเสธว่าผู้บริโภคไม่ได้ทำประกันจึงไม่มีสิทธิได้รับการชดเชย”

สำหรับกรณีที่ซื้อประกันภัยการขนส่ง ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับการชดเชยเยียวยาตามข้อตกลงในประกัน แต่ถ้าความเสียหายมากกว่าเงินประกัน บริษัทขนส่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ แนะนำว่าหากส่งสินค้าที่มีราคาแพง ต้องแจ้งไว้ว่าส่งอะไร ราคาเท่าไหร่ เพราะว่ามีผลต่อการเรียกร้องค่าเสียหายในภายหลัง

ปาลิตา วารีศรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวอีกว่า หลังจากรับทราบเรื่องดังกล่าว สภาผู้บริโภคได้เตรียมส่งหนังสือไปยังบริษัทขนส่งดังกล่าว เพื่อให้ชี้แจงถึงสาเหตุและการชดเชยเยียวยาต่อกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ของชำรุดหรือสูญหายโดยที่บริษัทขนส่งไม่รับผิดชอบ แนะนำให้ผู้บริโภคถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปตอนแพ็กของที่ส่งไว้ด้วย เมื่อมีปัญหาก็สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการโต้แย้งได้ว่าสินค้าที่เราส่งคืออะไร

“ในกรณีที่ของหายระหว่างการขนส่ง บริษัทขนส่งผิดเต็ม ๆ เพราะหน้าที่ของเขาคือต้องเอาส่งเอาของไปส่งให้ถึงปลายทาง เมื่อของสูญหายนั่นเขาไม่สามารถทําตามสัญญาได้”

นอกจากนี้ เมื่อเกิดความเสียหายแนะนำให้ทําหนังสือไปยังบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย จากกรณีสินค้าที่ส่งสูญหายได้ ว่าสินค้าของเราส่งเมื่อวันที่เท่าไหร่ ตามใบเสร็จเลขที่เท่าไหร่ แต่ปรากฎว่าสินค้าปรากฏว่าสินค้าหายหรือชำรุดพัง อันเกิดมาจากการขนส่งของบริษัท จึงขอให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น สิ่งที่ต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานคือ ภาพถ่ายของสินค้าที่ส่ง ภาพใบเสร็จการส่ง ภาพหน้าจอสถานะของการส่งสินค้า

หากบริษัทปฏิเสธความรับผิดชอบ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ด้วยตัวเอง ที่ศาลแขวงในจังหวัดที่เราอาศัยอยู่ หรือฟ้องคดีผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ https://efiling3.coj.go.th/eFiling/#/ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือปรึกษา – ร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค โทร 1502 หรือร้องเรียนออนไลน์ได้ที่ https://complaint.tcc.or.th/complaint#noopener%20noreferrer

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พัสดุสูญหาย จัดส่งล่าช้า ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับชดเชย

ข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการใช้บริการขนส่งพัสดุในรูปแบบเก็บเงินปลายทาง