ละเลยหน้าที่ จริงหรือไม่ ? เปิดรายงาน กสทช. หลังควบรวม

สภาผู้บริโภคเตรียมเปิดรายงานการทำหน้าที่ของ กสทช. หลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม พบละเลยไม่ทำตามเงื่อนไข 22 ข้อ ขณะที่ค่าบริการมือถือเพิ่มขึ้น – คุณภาพลดลง พร้อมจี้นายกรัฐมนตรีและ 11 หน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบกำกับดูแลลดปัญหาผู้บริโภค

จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติรวมธุรกิจโทรคมนาคม 2 กรณี ซึ่งกรณีแรกระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และกรณีที่สอง ระหว่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือทรีบีบี (3BB)  พบว่าผู้บริโภคได้รับผลกระทบในหลายรูปแบบ

วันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2567) อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ รักษาการหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคและเครือข่ายได้จัดทำรายงานการกระทำและละเลยการกระทำหน้าที่ของ กสทช.ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค กรณีการรวมธุรกิจโทรคมนาคมและเตรียมจะเปิดเผยรายงานในช่วงบ่ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สำนักงานสภาผู้บริโภค

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคพบว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมมีปัญหาในเรื่องของการละเลยการกระทำหน้าที่ โดยเฉพาะกรณี ทรู-ดีแทค ซึ่งคณะกรรมการ กสทช. ละเลยที่จะใช้อำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

ประการแรก กสทช. มีมติรับทราบรายงานการควบรวมกิจการและปล่อยให้มีการควบรวมกิจการโดยอัตโนมัติ ซึ่งขัดต่อกฎหมายข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่ระบุถึงอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ไว้อย่างชัดแจ้ง โดยในการลงมติจะต้องเป็นการอนุญาตหรือไม่อนุญาตเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการใช้ดุลพินิจที่มีปัญหาของ กสทช. เพราะจากข้อมูลดัชนี Herfindhal-Hirschman Index หรือ HHI ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดการกระจุกตัวอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ชี้ให้เห็นว่ามีความน่าเป็นห่วงที่การควบรวมกิจการดังกล่าวจะนำไปสู่การผูกขาด แต่ กสทช. 3 คนกลับให้ความเห็นว่าการควบรวมจะไม่นำไปสู่การผูกขาด เพราะเป็นกิจการคนละประเภท ขณะที่อีก 2 คนเห็นว่าเป็นกิจการประเภทเดียวกัน

“กสทช.ปล่อยให้มีการควบรวมทั้งที่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะนำไปสู่การผูกขาดของการให้บริการและที่น่าแปลกใจคือ ความเห็นของ กสทช. 3 ท่านที่บอกว่าเป็นกิจการคนละประเภททั้งที่ชัดเจนว่าบริการค่ายมือถือเหมือนกัน”

อิฐบูรณ์ ยังกล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคยังได้ติดตาม การดำเนินการหลังมติรับทราบให้ควบรวมกิจการที่กำหนดเงื่อนไข 22 ข้อ โดยมีประเด็นใหญ่คือเรื่องของค่าบริการที่ต้องลดลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วัน ซึ่งในเรื่องนี้สภาผู้บริโภคพบว่า ไม่มีความชัดเจนว่าค่าบริการลดลง แม้ว่าที่ผ่านมา กสทช. ได้ออกมาแถลงว่าผู้ประกอบการรายงานว่าค่าบริการลดลงแต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ 

อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวของ กสทช. ขัดแย้งกับผลการวิจัยของสภาผู้บริโภคที่ร่วมมือกับทีมนักวิจัยจาก101 PUB ที่ระบุว่าหลังจากการควบรวมกิจการ ผู้บริโภคต้องเสียค่าบริการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นโดยรวมราวร้อยละ 2.9 โดยกลุ่มที่ใช้แพ็กเกจแบบรายเดือนจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ12.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยที่นาทีการโทรได้เพิ่มเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลงร้อยละ 3.3

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องการย้ายเสาสัญญาณเพื่อลดค่าใช้จ่ายหลังควบรวม ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาช่องโหว่ของสัญญาณ ทำให้ผู้บริโภคในบางพื้นที่ต้องใช้สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่คุณภาพต่ำลง หรือบางพื้นที่อาจใช้บริการไม่ได้นื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของเสาสัญญาณ ซึ่งไม่พบว่าประเด็นดังกล่าวถูกรายงานไปที่ กสทช.

นอกจากนี้เงื่อนไขในเรื่องตรวจสอบคุณภาพการให้บริการหลังควบรวมกิจการ กสทช.จะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาที่เป็นกลางในการประเมินคุณภาพและการให้บริการ ซึ่งในเรื่องนี้ผ่านมาหลายเดือน กสทช.ยังไม่ดำเนินการ โดยระบุว่าอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง

ขณะที่เงื่อนไขเรื่องผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือน (MVNO) หรือ การเพิ่มโครงข่ายเพื่อให้ผู้ประกอบการ MVNO สามารถแข่งขันได้ยังไม่มีการดำเนินการและมีความเป็นไปได้น้อยในการดำเนินการ

อิฐบูรณ์ กล่าวอีกว่า ในจำนวน 22 เงื่อนไขที่กำหนดในการควบรวมกิจการ กสทช. มีการดำเนินการน้อยมาก ดังนั้นสภาผู้บริโภคจึงต้องจัดทำรายงาน ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของสภาผู้บริโภคในการทำจัดทำรายงานการกระทำและละเลยการกระทำที่ส่งผลต่อผู้บริโภคเพื่อจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะส่งรายงานดังกล่าวไปยัง 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง บอร์ดกสทช. สำนักงาน กสทช. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยแยกออกมาเฉพาะสำหรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลและคณะกรรมมาธิการของสภาผู้แทนราษฏร 3 คณะและคณะกรรมมาธิการวุฒิสภา รวมไปถึง ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ กสทช.

“ในวันที่ 28 ก.พ.จะมีการเปิดรายละเอียดรายงานการทำงานของ กสทช.ที่กระทำและละเลยการกระทำในหลายกรณี ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพ รวมถึงข้อเสนอต่าง ๆ ในการดำเนินการให้กับ 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #กสทช #ควบรวมกิจการ #หยุดควบรวมเน็ตบ้าน #หยุดผูกขาดมือถือ #เน็ตบ้าน #ค่ายมือถือ #ทรูดีแทค #AIS #3BB #คุณภาพชีวิต