เหลือรถกว่า 670,000 คัน ต้องเปลี่ยนถุงลมอันตราย

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เผย มีรถยนต์อีกราว 670,000 คันยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัย เตรียมหารือ สคบ. จัดการปัญหาและหามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าไม่ปลอดภัย

จากกรณีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 สอบ.จัดงานแถลงข่าว ‘เร่งบริษัทรถยนต์ 8 ยี่ห้อ เปลี่ยนถุงลมนิรภัย’ เพื่อเตือนภัยและรณรงค์ให้ผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์รุ่นที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยทาคาตะให้นำรถเข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยที่ศูนย์บริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากถุงลมนิรภัยยี่ห้อดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยและถูกประกาศเรียกคืน โดยมีรถยนต์ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัยอีกกว่า 680,000 คันนั้น

26 กรกฎาคม 2565 ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) สอบ. ระบุว่า ปัจจุบันยังมีรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมอีกประมาณ 670,000 คัน ที่ยังไม่ได้ไปรับบริการเปลี่ยนกับศูนย์บริการ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องการเข้ารับบริการกับบริษัทรถยนต์ 3 บริษัท จึงได้เตรียมหารือ สคบ. จัดการปัญหาและหามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าไม่ปลอดภัยดังกล่าว

ภัทรกร อธิบายว่า จากการส่งหนังสือติดตามความคืบหน้าไปยังสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทำให้ทราบว่า ภายหลังการแถลงข่าว มีผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์รุ่นที่อยู่ในข่ายที่ต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้ความสนใจและเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการเพิ่มขึ้น

โดยในเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน 2565 มีจำนวนรถที่เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยจำนวน 6,047 และ 5,121 คัน ตามลำดับ รวมเป็น 11,168 คัน ใน 2 เดือน อย่างไรก็ตาม ยังมีรถยนต์อีกประมาณ 670,000 คัน ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัย

เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ ระบุอีกว่า หลังจากการแถลงข่าว ศูนย์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาในการติดต่อขอเปลี่ยนถุงลมนิรภัยกับผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์ จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ BMW NISSAN และ TOYOTA โดยปัญหาที่ได้รับร้องเรียนมี ดังนี้

1. ไม่ดำเนินการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยฝั่งที่นั่งผู้โดยสาร

2. ตรวจสอบจากระบบว่าอยู่ในข่ายที่ต้องเปลี่ยน แต่เมื่อผู้บริโภคดำเนินการขอรับบริการ ทางศูนย์แจ้งว่าได้ดำเนินการแล้วเรียบร้อย โดยผู้บริโภคยืนยันว่า ยังไม่เคยได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยมาก่อน

3. ตรวจจากระบบพบว่า อยู่ในข่ายที่ต้องเปลี่ยน แต่ระบบแสดงข้อมูลว่าได้รับการเปลี่ยนแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

4. รถอยู่ในช่วงปีและรุ่นที่ต้องเปลี่ยนตามข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจ แต่ระบบแจ้งว่าไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย

สอบ.จึงทำหนังสือติดตามไปยังบริษัทผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์ดังกล่าว โดยทั้ง 3 บริษัทฯ มีหนังสือตอบกลับและชี้แจงว่า ปัจจุบันบริษัทยังคงดำเนินการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้กับผู้บริโภค โดยการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยนั้นจะเปลี่ยนให้เฉพาะถุงลมรุ่นที่มีปัญหา จึงทำให้มีรถบางรุ่นที่ต้องเปลี่ยนทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสาร ในขณะที่รถยนต์บางรุ่นต้องเปลี่ยนแค่ฝั่งคนขับเท่านั้น

ทั้งนี้ นอกจากการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบแล้ว สอบ.ยังทำหนังสือไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอเข้าพบเพื่อหารือเรื่องการจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากมีกรณีที่ผู้บริโภคเสียชีวิตจากการทำงานบกพร่องของถุงลมนิรภัยยี่ห้อ ทาคาตะ (Takata) สินค้าดังกล่าวจึงเข้าข่ายสินค้าไม่ปลอดภัยที่มีผลทำให้บุคคลถึงแก่ความตาย เป็นสินค้าที่กระทบต่อสิทธิผู้บริโภคในวงกว้าง

และหารือถึงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย อาทิ การออกคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าหรือบริการ ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานผลการทดสอบหรือพิสูจน์ต่อคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัย ให้ผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้นำเข้าสินค้าจัดทำแผนการจัดเก็บหรือเรียกคืนสินค้า แผนการปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนินการกับสินค้าที่จัดเก็บหรือเรียกคืน และแผนการเยียวยาผู้บริโภค เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สอบ. จะติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาเรื่องถุงลมนิรภัยทาคาตะของผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์ และรวบรวมเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับแจ้งเตือนภัย รวมทั้งส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อไป

สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการตรวจสอบรุ่นรถยนต์ว่าเข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://www.tcc.or.th/warning-airbag/ หรือ www.checkairbag.com หรือนำรถเข้าไปที่ศูนย์บริการทุกสาขา หรือติดต่อผ่านฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ หรือติดต่อสายด่วน 1584 เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หากผู้บริโภคพบปัญหาในการขอเปลี่ยนถุงลมนิรภัย สามารถร้องเรียนมายัง สอบ. ได้ที่ แบบฟอร์มรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ , อีเมล [email protected] โทรศัพท์ 02 239 1839 เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ Line Official @tccthailand หรือคลิ้กที่ลิงก์นี้ https://lin.ee/uhDyO1U  

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค