สภาผู้บริโภค ชง สคบ. พัฒนาความร่วมมือ ขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค

สภาผู้บริโภค หารือ สคบ. เสนอแนวทางขยายเครือข่าย พัฒนาความร่วมมือในพื้นที่จังหวัด และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค

วันนี้ (26 เมษายน 2567) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค พร้อมเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค ได้ร่วมประชุมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นำโดย ธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทรงศิริ จุมพล รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ สคบ. เพื่อพัฒนาความร่วมมือและหารือแนวทางบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างทั้งสองหน่วยงาน

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคมีประเด็นหลักในการพูดคุยร่วมกัน 3 ประเด็น คือ 1.การขยายเครือข่ายและพัฒนาความร่วมมือในพื้นที่ต่าง ๆ 2.การขับเคลื่อนนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ร่วมกัน และ3.การหารือเรื่องความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทั้งในแง่ของงบประมาณและการบูรณาการงาน

สำหรับเรื่องความร่วมมือด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ สารีระบุว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกจำนวน 319 องค์กรใน 43 จังหวัด และมีสมาชิกที่ทำงานอย่างเข้มแข็งจนได้รับการแต่งตั้งเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดทั้งสิ้น 18 จังหวัด ขณะที่สคบ. ก็มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเสนอให้มีความร่วมมือในการทำงานร่วมกันและเปิดพื้นที่ทดลองในจังหวัดที่มีหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภค ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นรูปธรรม เช่น เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ การขายตรง เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพความร่วมมือในระดับจังหวัดที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังเสนอเรื่องการร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายจากเรื่องร้องเรียน ทั้งสภาผู้บริโภคและ สคบ.  เช่น กรณีเรื่องตั๋วเครื่องบินแพง ซึ่งจากการประชุมร่วมกันพบว่าสถาบันการบินพลเรือนกำหนดเพดานราคาไว้ที่ 9.4 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่จากกาค้นหาข้อมูลพบว่าในประเทศเวียดนามกำหนดเพดานราคาของสายการบินไว้ที่ 5 บาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น

ทั้งนี้ หากสภาผู้บริโภคและ สคบ. ทำข้อเสนอนโบายหรือมาตรการร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลจากทั้งสองหน่วยงาน ก็จะทำให้เกิดความหนักแน่น เสริมความน่าเชื่อถือ และทำให้สามารถขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายในเรื่องต่าง ๆ ได้ ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานกำกับดูแลออกมาแสดงบทบาทและใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายอีกด้วย

ส่วนประเด็นเรื่องความเห็นของ สศช. ที่ระบุถึงเรื่องความซ้ำซ้อนของการมีสภาผู้บริโภค กับ สคบ. นั้น สารีระบุว่า การทำงานของสภาผู้บริโภคกับสคบ. มีความแตกต่างกันตามภารกิจ บทบาท และหน้าที่ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดที่ต่างกัน เช่น สคบ. มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย และพัฒนาผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค

ในทางกลับกัน สคบ. มีข้อกำจัดในการตรวจสอบหน่วยงานรัฐด้วยกัน ขณะที่สภาผู้บริโภคสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ในการตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำของหน่วยงานรัฐ ดังนั้นการทำงานจึงเป็นไปในลักษณะหนุนเสริมกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครอง

สอดคล้องกับ ทรงศิริ จุมพล รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ระบุว่า แม้ภารกิจของทั้งสองหน่วยงานจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่มีเป้าหมายและรายเอียดการดำเนินงานที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคและ สคบ. มีความโดดเด่นและความถนัดที่ต่างกัน เช่น สคบ. มีอำนาจบังคับใช้และปรับแก้กฎหมาย รวมทั้งสามารถผลักดันเรื่องนโยบายเข้าสภาได้ง่ายกว่า

ในทางกลับกันสภาผู้บริโภคมีศักยภาพในการทำเรื่องการเตือนภัยผู้บริโภคได้ดี มีข้อมูลงานวิจัย มีเครือข่ายนักวิชาการจำนวนมากที่ช่วยให้ความเห็นในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งอาจจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ใกล้ชิดกว่า และสามารถสะท้อนปัญหาของหน่วยงานรัฐในเชิงลึกได้มากกว่า

“ทั้งนี้ ในอนาคตเสนอให้มีการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณและทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า อาจมีการพัฒนาความร่วมมือในการส่งต่อเรื่องร้องเรียน ข้อมูล การพัฒนาเครือข่าย และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น หาก สคบ. ใช้งบประมาณเพื่อจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ก็อาจเปิดให้สภาผู้บริโภคเข้ามาใช้งานได้ด้วย เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงานและการใช้งบประมาณ เป็นต้น” ทรงศิริระบุ

ด้านธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงภาพรวมการทำงานว่า ปัญหาผู้บริโภคบางกรณีไม่สามารถจัดการได้จบในหน่วยงานเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน นอกจากนี้หากปัญหาเกิดในต่างจังหวัดการที่หน่วยงานส่วนกลางเดินทางลงพื้นที่ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เวลา อีกทั้งยังอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริงหรือไม่พบการกระทำผิด ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น การสร้างเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ยินดีร่วมกันทำงานกับสภาผู้บริโภคอย่างเต็มที่

“บางครั้งเจ้าหน้าที่ สคบ. นั่งเครื่องบินไปจากกรุงเทพฯ เพื่อไปตรวจสอบปัญหาในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่เมื่อไปถึงกลับไม่พบปัญหา ทั้ง ๆ ที่ได้รับร้องเรียนมาว่าปกติจะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นทุกวัน ดังนั้น การสร้างเครือข่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ สคบ. และ สภาผู้บริโภคจะมีสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งให้เครือข่ายเหมือนกัน แต่เป็นคนละกลุ่มเป้าหมาย หากให้ สคบ. กระจายข้อมูล หรือประชาสัมพันธ์อย่างเดียวก็อาจจะไม่ทั่วถึง  ร่วมมือกันก็จะสามารถสร้างความเข้มแข็งมันได้ทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและต่างจังหวัด ซึ่งจะทำให้คุ้มครองผู้บริโภคได้ทั่วถึงมากขึ้น” ธสรณ์อัฑฒ์กล่าว

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค