ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ต้องตอบโจทย์ผู้เรียน ไม่ใช่แค่ระบบ

Getting your Trinity Audio player ready...
ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ต้องตอบโจทย์ผู้เรียน ไม่ใช่แค่ระบบ

การศึกษาไม่ควรถูกจำกัดแค่ในห้องเรียน หรือกรอบเดิม เพราะการศึกษาที่ดี คือ การเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในแบบของตัวเอง

หากการศึกษาสามารถเข้าถึงเด็กทุกคนได้ โดยไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เด็กที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เด็กพิการ หรือแม้แต่เด็กที่เคยหลุดจากระบบการศึกษา หากพวกเขาสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตได้จริง เข้ากับบริบทของตนเอง และไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนหรือสูตรสำเร็จแบบเดียว ทุกคนก็มีโอกาสเติบโตในเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเองได้

“ระบบการศึกษาไทยที่ยังคงให้ความสำคัญกับมาตรฐานและกรอบแบบแผนมากกว่าการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้เรียนได้แสดงออกถึงตัวตนอย่างแท้จริง เช่น การที่ผู้ใหญ่คาดหวังว่าลูกหลานต้องเป็นหมอ ต้องสอบเข้ามหาลัยที่มีชื่อเสียง” นี่เป็นเสียงสะท้อนหนึ่งจากผู้เรียนในเวที “เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย” จัดโดยสภาผู้บริโภคร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งค่านิยมเหล่านี้ไม่ได้แค่สร้างแรงกดดัน แต่ยังตัดโอกาสไม่ให้เด็กหลายคนได้เติบโตในทางที่เขาอยากเป็นจริง ๆ

ปัญหาหาการศึกษาที่ตีบตันเหล่านี้ เป็นที่มาของ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่สภาผู้บริโภคผลักดัน เพื่อให้ผู้เรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษาอย่างแท้จริง

เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ในการเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน ครู และผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับ แต่ต้องเป็น ผู้ร่วมออกแบบ ทั้งในเรื่องของการจัดการศึกษาของสถานศึกษา รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร การสอน และกฎระเบียบการศึกษาในระดับสถานศึกษา ตลอดจนมีตัวแทนของสภานักเรียนร่วมเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา โดยขณะนี้ ได้มีความพยายามการสร้างระบบโรงเรียนต้นแบบ ยกตัวอย่างโรงเรียนมหาราช 7 จังหวัดราชบุรี กับโครงการ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง โดยมีการจัดการศึกษาที่หลากหลายรูปแบบ เช่น การเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพื่อรองรับความต้องการและความหลากหลายของนักเรียน

หลักสูตรกลางควรยืดหยุ่น

หลักสูตรกลาง ที่ถูกกำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ควรลดเนื้อหาและตัวชี้วัดที่มากเกินจำเป็น เพื่อให้ครูและโรงเรียนสามารถปรับให้เข้ากับบริบทเฉพาะของสถานศึกษาและสอดคล้องกับภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม จุดเด่นของสถานศึกษาในพื้นที่นั้น ๆ รวมถึงจัดการศึกษาและดูแลเด็กให้สอดคล้องกับอนุสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และการพัฒนาที่หลากหลาย ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม และตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ

หลักสูตรที่เน้นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ มากกว่าเนื้อหาที่ต้องสอน

การปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรควรมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยระบุเป็นเป้าหมายปลายทางของการจัดการศึกษา ดังนั้น เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ จึงควรระบุเฉพาะคุณลักษณะหลัก ของผู้เรียนที่สอดคล้องกับบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่ไม่ใช่แค่การสอนให้ได้เนื้อหา แต่สอนเพื่อให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ มีทักษะชีวิต และเติบโตอย่างสมดุลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และปัญญา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
8 ข้อเสนอ ปฏิรูปร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
ปฏิรูปการศึกษาไทย เสียงผู้เรียนต้องมีความหมาย เน้นสิทธิและมีส่วนร่วม
ถึงเวลาปฏิรูป พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ตอบโจทย์อนาคต
สภาผู้บริโภคเร่งผลักดัน “โรงเรียนปลอดภัย”

โมเดล “โรงเรียนเคลื่อนที่” ตัวอย่างของระบบที่ยืดหยุ่นและเข้าถึงได้

อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเครือข่ายสถาบันการเรียนรู้ในชุมชน ได้มีโครงการดึงเด็กกลับเข้าระบบการศึกษา โดยใช้โมเดล “โรงเรียนเคลื่อนที่ (Mobile School)” ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อพาการเรียนรู้และวุฒิการศึกษาไปถึงเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบ

เป็นโครงการที่จะพาการเรียนรู้ และวุฒิการศึกษา ไปให้ถึงเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียนแบบเดิม แต่สามารถเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ ตามความถนัด ความสนใจ และวิถีชีวิตของตน 

ทั้งนี้ นอกจากข้อเสนอข้างต้น สภาผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอต่อ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในประเด็น การศึกษาฟรี 15 ปีที่ทุกคนเข้าถึงได้จริง โรงเรียนที่ปลอดภัยทั้งทางกายและใจ การพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ รวมถึงการปฏิรูประบบประเมินผลให้ยุติธรรมและได้มาตรฐานสากล พร้อมทั้งออกแบบโครงสร้างคณะกรรมการการศึกษาให้มีความหลากหลายและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อให้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นเครื่องมือที่แท้จริงในการขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพ สำหรับข้อเสนอเหล่านี้ สภาผู้บริโภคได้ยื่นต่อ คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาต่อไป