ผลักดันองค์กรภายนอกร่วมตรวจสอบ แก้ปัญหา “สายสีเหลือง” เพิ่มมาตรการตรวจสอบทั้งระบบ

สภาผู้บริโภค แนะควรมีองค์กรภายนอกร่วมตรวจสอบกรณีอุบัติเหตุรถไฟฟ้า สายสีเหลือง พร้อมเสนอมาตรการตรวจสอบทั้งระบบ จัดวงประชุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางแก้ไข – ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก

จากกรณีเมื่อวานนี้ (28 มีนาคม 2567) เกิดเหตุชิ้นส่วนตัวยึดรางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง หล่นลงบนถนนศรีนครินทร์ฝั่งขาออก ช่วงสถานีกลันตัน – สถานีสวนหลวง ร.9 (5 สถานี) ระยะทาง 50 กิโลเมตร ส่งผลให้มีประชาชนผู้ใช้ถนนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย รวมทั้งมีรถยนต์ 9 คัน และจักรยานยนต์ 3 คัน ได้รับความเสียหาย นั้น (อ่านรายละเอียดได้ที่ : เหล็กยึดหลุดชนวนรถหยุด รถไฟฟ้าสายสีเหลืองปรับแผนวิ่ง)

วันนี้ (29 มีนาคม 2567) นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า คณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค มีข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยเสนอให้มีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ และจัดวงประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

โดยต้องมีองค์ประกอบที่ครอบคลุมทั้งผู้เชี่ยวชาญภายนอก ตัวแทนฝ่ายการเมือง หน่วยงานกำกับดูแลอย่างกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ตัวแทนจากฝั่งคุ้มครองผู้บริโภคทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสภาผู้บริโภค บริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ (รฟม.) รวมถึงบริษัทประกันต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการที่จะประกันเมื่อการเกิดเหตุด้วย

สำหรับผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการประชุมดังกล่าว มีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ 1) มาตรการเยียวยาที่เป็นธรรมและเป็นที่พึงพอใจของผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งหมายรวมถึงทั้งคนและระบบการจราจร และอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย 2) การกําหนดมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกัน “ปัญหาซ้ำซาก” 3) เมื่อเกิดเหตุขัดข้องขึ้น ควรมีการสื่อสารข้อมูลสู่ภายนอกอย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบ ความเสียหาย วิธีเยียวยาและแนวทางการแก้ไข

4) ขอให้จัดทำและประชาสัมพันธ์แผนหรือแนวปฏิบัติในการขนย้ายผู้โดยสาร ในกรณีที่รถไฟฟ้าขัดข้อง โดยต้องการมีฝึกซ้อมเป็นประจำเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ทั้งนี้ ต้องแน่ใจได้ว่าแนวทางดังกล่าวปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการและมีประสิทธิภาพ และ 5) ต้องมีข้อกําหนดที่ระบุลงในสัญญาสัมปทานการก่อสร้างรถไฟฟ้า ว่าหากในอนาคตมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล จะต้องไม่มีลักษณะการก่อสร้าง การติดตั้ง หรือลักษณะของวัสดุทั้งราง และขบวนรถจะต้องไม่มีใครเสี่ยงหรือไม่มีลักษณะใดบ้าง เพื่อเป็นหลักประกันว่าเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องไม่เกิดอุบัติเหตุในลักษณะเดิมอีก

นพ.อนุชา กล่าวอีกว่า แม้ว่าหลังจากการเกิดเหตุเมื่อเดือนมกราคม บีทีเอสจะจ้างที่ปรึกษามาช่วยตรวจร่วมด้วยกับบริษัทอัลสตอม (Alstom) ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับจ้าง แต่ก็ยังถือเป็นการตรวจสอบภายใน ดังนั้นแนวทางที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คาดหวังว่าแนวทางที่ได้จากวงประชุมจะเป็นการแก้ปัญหาเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่คำตอบว่า “เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเคยเกิดในต่างประเทศแล้ว” เหมือนครั้งที่ผ่านมา นอกเหนือไปจากการแก้ไขปัญหาแล้ว นพ.อนุชาเสนอว่า รัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบควรนำเสนอ แผนของการจะสร้างทางรถไฟฟ้าเส้นต่อไปและแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ําเหมือนกรณีโมโนเรียลสีเหลืองหรือสีชมพูอีก

“ถ้าเป็นต่างประเทศค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องอุบัติเหตุ รวมถึงคุณภาพมาตรฐานของสินค้าและบริการ แต่ในประเทศไทยความเข้มข้นในการเอาจริงค่อนข้างน้อยจึงเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดิมขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ควรจัดการเป็นรายกรณีหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องคุยกันเชิงระบบอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม รวมทั้งในแง่อื่น ๆ ด้วย” ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งฯ ระบุ

ขณะที่ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าควรมีการค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และตรวจสอบการติดตั้งใหม่ ทั้งระบบรางและระบบขบวนรถขับเคลื่อน ว่าติดตั้งได้ถูกต้องตามมาตรฐานของผู้ออกแบบหรือไม่ นอกจากนี้ ควรหามาตรการเสริมในการลดความเสี่ยงและผลกระทบกรณีมีความขัดข้องในอนาคตขึ้นอีก เช่น การเพิ่มความถี่ และความละเอียด ในการตรวจสภาพรถไฟไฟฟ้าและราง การจัดทำอุปกรณ์ป้องกันการร่วงหล่นของชิ้นส่วนลงบนพื้นถนน

ทั้งนี้ รศ.ดร.ชาลี แสดงความเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเกิดขึ้นซ้ำในช่วงระยะสั้น ๆ และเกิดหลังเปิดใช้รถไฟฟ้าสายดังกล่าวเพียงไม่นาน อีกทั้งหลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งก่อนเมื่อช่วงเดือนมกราคม ผู้ให้บริการได้ออกมาชี้แจงถึงมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาแล้วแต่ยังเกิดปัญหาในลักษณะเดิมขึ้นอีก

“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราเริ่มเกิดความไม่มั่นใจว่าท้ายสุดแล้วบริษัทได้ดําเนินการป้องกันและแก้ไขอย่างที่ได้พูดไว้ครั้งที่แล้วจริงหรือ นอกจากนี้ การเกิดอุบัติเหตุซ้ำมันเกิดหลังจากเปิดใช้งานมาได้เพียงไม่นาน ก็อาจสันนิษฐานว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดจากการใช้งานแล้วสึกหรอตามสภาพ แต่เกิดจากความผิดพลาดจากกระบวนการติดตั้งตั้งแต่ต้นเลยใช่หรือไม่” รศ.ดร.ชาลี ระบุ

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เสนอ ติดตะแกรงกันล้อร่วง ตรวจการติดตั้งสาย “ชมพู-เหลือง” ทั้งระบบ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 สภาผู้บริโภคได้ประชุมหารือกับตัวแทนสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยนายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด ชี้แจงว่า หลังจากเกิดเหตุกับระบบโมโนเรลสายสีเหลืองเมื่อเดือนมกราคม 2567 บริษัทอัลสตอมซึ่งเป็นผู้ผลิตและดูแลซ่อมบำรุง ได้นำอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกลับไปตรวจสอบหาสาเหตุ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้บริโภค และปัจจุบัน บริษัทอัลสตอมได้เริ่มนำอุปกรณ์มาทยอยปรับเปลี่ยนให้กับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูตามเงื่อนไขความปลอดภัย

นอกจากนี้ บริษัทบีทีเอสได้ปรับรอบการซ่อมบำรุงดูแล (maintenance) ชุดล้อประคองจาก 30 วันเป็นทุก ๆ 15 วัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางจัดทำตะแกรงหรือประคองที่อยู่ใต้ขบวนรถในแต่ละชุดล้อ ซึ่งต้องหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องถึงมาตรฐานความปลอดภัยหากติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมไปกับตัวรถหรือชุดล้อประคอง

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค