สภาผู้บริโภค หนุนรวมกลุ่มผู้เสียหายมาสด้า 2 เสนอบริษัทหยุดขาย – ปรับแก้รถยนต์ตามคำพิพากษา

สภาผู้บริโภค หนุนคดีกลุ่ม มาสด้า 2 รวมกลุ่มผู้เสียหาย พร้อมเสนอบริษัทยุติการจำหน่ายและแก้ไขเปลี่ยนแปลงรถยนต์รุ่นดังกล่าวตามคำพิพากษา

วันนี้ (31 มีนาคม 2566) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กล่าวว่า สภาผู้บริโภคขอชื่นชมกลุ่มผู้บริโภคและทีมทนายความ นำโดยทนายจิณณะ แย้มอ่วม และทีมที่ออกมาเรียกร้องและฟ้องคดีอย่างเข้มแข็ง จนทำให้เกิดคดีตัวอย่างเกี่ยวกับการจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัยในประเทศไทย ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคขอเสนอให้บริษัทมาสด้าฯ เร่งเรียกคืนรถรุ่นดังกล่าวทุกคันเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มีรถยนต์มีความปลอดภัยและชดเชยเยียวยาตามคำพิพากษา

“หลังจากนี้สภาผู้บริโภคในฐานะผู้แทนของผู้บริโภคตามกฎหมายได้หารือร่วมกับทีมทนายความในคดีดังกล่าว และพร้อมสนับสนุนคดีกลุ่มมาสด้า 2 โดยสภาผู้บริโภคได้เปิดช่องทางพิเศษให้ผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์รุ่นที่มีปัญหาดังกล่าว สามารถแจ้งความเสียหายได้ที่ แบบฟอร์มร่วมลงชื่อเป็นผู้เสียหายคดีแบบกลุ่ม (https://www.tcc.or.th/mazda2-recall-classaction/) เพื่อสภาผู้บริโภคจะรวบรวมข้อมูลและประสานงานกับบริษัทฯ ในการเยียวยาความเสียหายคดีแบบกลุ่มตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในอีกทางหนึ่ง” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุ

สารี กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากขอความช่วยเหลือสื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถรวมกลุ่มและทราบสิทธิประโยชน์ของตัวเองในการขอรับชำระหนี้ในคดีแบบกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นอกจากการเป็นผู้แทนผู้บริโภคแล้ว สภาผู้บริโภคยังสามารถช่วยเหลือผู้บริโภคในการสนับสนุนการดำเนินคดีแบบกลุ่มของผู้บริโภคที่ใช้สิทธิฟ้องร้องด้วยตนเอง

ทั้งนี้ ปัญหารถยนต์ไม่ปลอดภัยหรือชำรุดบกพร่องเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะเห็นได้จากการเรียกคืนรถยนต์ในต่างประเทศครั้งละหลายล้านคัน พร้อมเสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือ “เลมอน ลอว์ (Lemon Law)” เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยภาพรวมและยกระดับคุณภาพสินค้าและการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศ

ด้าน จิณณะ แย้มอ่วม ทนายความผู้ดูแลการฟ้องร้องคดีมาสด้า 2 กล่าวว่า การฟ้องคดีในครั้งนี้ใช้เวลายาวนานกว่า 5 ปี และมีความคาดหวังว่าจะทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์ทุกรายเกิดความตระหนักมีความรับผิดชอบในการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และต้องการให้เกิดการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย

เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่ม ดังนั้น คำพิพากษาของศาลจะมีผลผูกพันกับสมาชิกกลุ่มด้วย ซึ่งศาลได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เป็นสมาชิกกลุ่ม คือ ทุกคนที่ได้ใช้หรือเคยใช้รถยนต์ยี่ห้อมาสด้า รุ่นมาสด้า 2 เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล ที่จำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 – 2561 และเป็นรุ่นก่อนเปลี่ยนโฉมรถยนต์ โดยต้องมีอาการปัญหาเครื่องยนต์ตามที่ศาลกำหนด

จิณณะ กล่าต่ออีกว่า สำหรับอาการปัญหาเครื่องยนต์ตามที่ศาลกำหนดนั้น ได้แก่ มีอาการสั่นของเครื่องยนต์ เร่งความเร็วไม่ขึ้น หรือมีปัญหาน้ำมันเครื่องเกินกว่าจุดที่กำหนด (สังเกตได้จากเครื่องหมายกากบาทที่ก้านวัดน้ำมันเครื่อง) หรือพร่องไปกว่าระดับมาตรฐานบนก้านวัดน้ำมันเครื่อง และรวมถึงรถยนต์ที่มีการดัดแปลงสภาพเครื่องยนต์ แก้ไข ถอด หรือปิดระบบหมุนเวียนไอเสีย (อีจีอาร์) และระบบกรองและกำจัดเขม่า (ดีพีเอฟ)

ทั้งนี้ ให้นับรวมค่าเสียหายเฉพาะครั้งที่ซ่อมที่ศูนย์บริการโดยไม่ได้มีการดัดแปลงสภาพเครื่องยนต์และยังไม่ได้ถอดหรือปิดระบบหมุนเวียนไอเสีย (อีจีอาร์) รวมถึงระบบกรองและกำจัดเขม่า (ดีพีเอฟ) เท่านั้น  ให้ได้รับชำระหนี้เป็นค่าเสียหายเฉพาะค่าซ่อมที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนกำหนด ค่าขาดประโยชน์เฉพาะระหว่างซ่อมแซมรถยนต์วันละ 1,800 บาท และค่าเสียหายต่อจิตใจ 30,000 บาท อีกทั้งบริษัทฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับจากวันฟ้องร่วมด้วย

“ทีมทนายและตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจึงต้องการให้สภาผู้บริโภคช่วยเป็นศูนย์กลางรวมกลุ่มผู้เสียหายในกรณีรถยนต์ดังกล่าว โดยให้สภาผู้บริโภครับแจ้งข้อมูลและรวบรวมข้อมูล รวมถึงประสานงานข้อมูลกับผู้เสียหายเพื่อประโยชน์ในการขอรับชำระหนี้ในคดีแบบกลุ่มตามคำพิพากษาของศาล” จิณณะระบุ

ขณะที่ ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ตัวแทนผู้เสียหายจากการฟ้องร้องคดีมาสด้า 2 กล่าวว่า ตัวเองเป็นผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากรถยนต์รุ่นดังกล่าวและเคยถูกฟ้องคดีจากบริษัทมาสด้า โดยขณะนั้นบริษัทฯ เรียกเงินถึง 84 ล้านบาท แต่ได้ต่อสู้คดีจนศาลยกฟ้องบริษัทมาสด้า จนสุดท้ายเมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมาให้บริษัทฯ ต้องเรียกคืนรถรุ่นที่มีปัญหาเข้ามาซ่อมแซมและจ่ายค่าชดเชยเยียวยา

“จึงอยากฝากไปถึงผู้บริโภคทุกคนว่าเมื่อซื้อสินค้ามาแล้วและพบว่าชำรุด บกพร่อง หรือมีปัญหา ตัวเราเองในฐานะผู้บริโภคสามารถสอบถามและเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ขายได้ตลอด เพราะผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาและต้องรักรักษาสิทธิของให้ถึงที่สุด รวมทั้งอย่าให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบ เพราะสุดท้ายคำพิพากษาจะชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคทำตามสิทธิที่มีและพึงได้รับแล้ว” ภัทรกร กล่าว

ภัทรกร กล่าวอีกว่า สำหรับผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์มาสด้า 2 รุ่นที่พบปัญหาดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลไปยังสภาผู้บริโภคพร้อมแนบหลักฐาน ได้แก่ เอกสารหลักฐานของศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า ที่ระบุค่าใช้จ่ายจากการซ่อมเครื่องยนต์ อันเนื่องมาจากการสั่นหรือสะดุดของเครื่องยนต์ เร่งความเร็วไม่ขึ้น และการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนถึงกำหนด หรือสมุดรับประกันและบริการ (เอกสารดังกล่าวต้องแสดงถึงค่าอะไหล่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ เช่น สปริงวาล์ว หัวฉีด น้ำมันเครื่อง และอะไหล่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง) อีกทั้งค่าแรงของศูนย์บริการที่นำรถยนต์ที่พบปัญหาเข้าไปซ่อมที่แสดงจำนวนวันที่นำเข้าศูนย์บริการเฉพาะเพื่อการซ่อมเครื่องยนต์ รวมถึงการแก้ไขโปรแกรมในระบบหมุนเวียนไอเสีย (อีจีอาร์) และระบบกรองและกำจัดเขม่า (ดีพีเอฟ) และจำนวนวันเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนกำหนด เพื่อคำนวณค่าขาดประโยชน์ 

ส่วน อภิรักษ์ จิรายุสกุล ตัวแทนผู้เสียหายจากการฟ้องร้องคดีมาสด้า 2 เล่าว่า หลังจากที่ซื้อรถยนต์รุ่นดังกล่าวมาใช้ได้ประมาณหนึ่งปีกว่า ๆ พบว่ารถยนต์มีอาการผิดปกติ ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าอาการผิดปกตินั้นเกิดขึ้นจากอะไร และคิดว่าคงเป็นเพราะความโชคร้ายของตัวเอง แต่เมื่อเกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้งเริ่มเกิดความสงสัยและเข้าไปค้นหาสาเหตุในอินเทอร์เน็ต จึงพบว่ามีผู้ใช้รถรุ่นนี้หลายรายที่รถยนต์เกิดอาการผิดปกติในลักษณะเดียวกันกับที่ขึ้นกับตัวเอง กระทั่งได้พบกับกลุ่มผู้เสียหายที่พบปัญหาของรถยนต์รุ่นนี้ในเฟซบุ๊กกรุ๊ป จึงมีการหารือและนัดรวมกลุ่มกันประมาณ 10 กว่าคน เพื่อเข้าร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรณีรถยนต์ชำรุดบกพร่อง แต่สุดท้ายเรื่องดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า จึงได้ติดต่อไปยังทีมทนายความ จนสุดท้ายเกิดเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นขึ้นมา

“อยากฝากให้ทุกคนรักษาสิทธิของตัวเอง ซึ่งในมุมของผมก็ต้องการความยุติธรรม เพราะว่าเราไม่ได้ทำผิดอะไรและก็กลายเป็นผู้เสียหายจากการที่รถยนต์ที่ซื้อไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงเรียกร้องสิทธิที่ควรได้ อย่างไรก็ตาม รู้สึกพึงพอใจที่ศาลมีคำพิพากษาให้ฝั่งผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะ แต่ขณะเดียวกันยังมีความกังวลว่าคดีอาจจะล่าช้าไปอีก หากบริษัทมาสด้ายื่นอุทธรณ์ ซึ่งอาจทำให้คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ดังนั้น จึงต้องการให้บริษัทมาสด้าเร่งเรียกคืนรถยนต์รุ่นที่พบปัญหากลับเข้าไปซ่อมแซมและเยียวยาลูกค้า เพื่อภาพลักษณ์ของบริษัทฯ เอง รวมถึงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้อีกด้วย” อภิรักษ์ กล่าว

อภิรักษ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยขอให้พิจารณารายละเอียดของประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนก่อนที่จะด่วนสรุปและปิดปัญหาไปโดยที่ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนอยู่ และในส่วนของผู้ประกอบการรถยนต์ต่าง ๆ เมื่อพบว่าสินค้าของตัวเองมีปัญหาเกิดขึ้นจริงควรเรียกรถยนต์คืนและนำมาซ่อมแซมให้อาการหายไป และไม่ควรปล่อยให้กลายเป็นความขัดแย้งจนเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความ แต่ควรเป็นการหาทางออกร่วมกันระหว่างบริษัทและผู้บริโภคเพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค

ข้อมูลประกอบ

จากกรณีที่มีกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 9 คน ยื่นฟ้องบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคดีแบบกลุ่ม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เนื่องจากพบปัญหาเรื่องการใช้งานรถยนต์มาสด้า รุ่นมาสด้า 2 เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D 1.5) ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเครื่องสั่น ปัญหาเครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น ปัญหาน้ำมันเครื่องเกินกว่าจุดที่กำหนด และในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินให้บริษัทฯ เรียกคืนรถยนต์มาสด้า 2 เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D 1.5) ทุกคันที่ผลิตในปี ค.ศ. 2014 – 2018 (ปี พ.ศ. 2557 – 2561) เข้ามาซ่อมแซม เนื่องจากเป็นสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ขับขี่ได้ อีกทั้งศาลยังได้กำหนดให้บริษัทฯ ต้องชดใช้ให้กับผู้บริโภคทุกคนที่ใช้รถรุ่นดังกล่าว ได้แก่ ราคาค่าซ่อมแซมตามจริง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 1,800 บาท รวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจรายละ 30,000 บาท อีกทั้งบริษัทฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับจากวันฟ้องร่วมด้วย