3 อันดับ ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ ที่ควรระวัง

สภาองค์กรของผู้บริโภค และ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้รวบรวมปัญหามิจฉาชีพ จากการแจ้งความออนไลน์ 3 อันดับ เพื่อเตือนภัยผู้บริโภค ได้แก่

ปัญหามาแรงในยุคออนไลน์ได้แก่ การซื้อของไม่ได้ของ การจ่ายเงินซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคสายช้อปปิ้งออนไลน์พบเจอมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมิจฉาชีพก็มีมาด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น เป็นแอพลิเคชั่นขายสินค้าออนไลน์ขายสินค้าราคาถูกมีส่วนลดแต่เมื่อจ่ายเงินค่าสินค้าไปแล้วกลับไม่ได้สินค้า กรณีตัวอย่างที่สภาฯ เจอคือแอพลิเคชั่นซื้อของออนไลน์ปลอม Ginza Mall ซึ่งมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

คำแนะนำ : ในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อจากแพลตฟอร์มที่มีการันตีในการคืนเงินหรือร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่ซื้อจากร้านที่มีการลดหรือร้านที่ขายในราคาถูกมากเกินไปนอกจากนั้นแล้วผู้บริโภคควรเก็บหลักฐานการซื้อไว้ เช่น บทสนทนาการซื้อขาย เลขที่บัญชีร้านค้า เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี


ต่อมา คือ การหลอกสมัครงานออนไลน์ ในปัจจุบันเราจะสามารถพบเห็นประกาศรับสมัครทำงานออนไลน์ งานง่าย รายได้ดีและมีโลโก้ของบริษัทขายของออนไลน์ชื่อดังหรือบริษัทขนส่งต่างๆประกอบการโฆษณา โดยจะลงตามช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประกาศเหล่านั้นเป็นประกาศรับสมัครงานออนไลน์ปลอมที่จะหลอกให้ผู้บริโภคเข้าไปยังกลุ่มที่มีการหลอกให้โอนเงิน โดยมีลักษณะคล้ายกับแชร์ลูกโซ่อ้างว่าจะได้รับเงินคืนและได้เงินรางวัลเพิ่มเมื่อทำเงินถึงยอดที่กำหนดแต่นั่นไม่เป็นความจริง

คำแนะนำ : อย่าหลงเชื่อการประกาศรับสมัครงานที่โฆษณาว่าเป็นงานง่ายและรายได้ดี เพื่อความมั่นใจแนะนำให้ผู้บริโภคดูข้อมูลหรือประกาศรับสมัครงานที่มีการประกาศผ่านช่องทางออฟฟิเชียลของบริษัทหรือผ่านช่องทางของกรมการจัดหางานเท่านั้น


และสุดท้ายคือปัญหา การซื้อของออนไลน์มาแล้วแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงปก เป็นปัญหาลำดับที่ 3 ที่ซื้อสินค้ามาแล้วแต่ได้ไม่ตรงกับที่ร้านลงโฆษณา โดยมิจฉาชีพมักใช้ภาพโฆษณาที่มีความสวยงามแต่สินค้าจริงที่ส่งให้กับผู้บริโภคกลับเป็นสินค้าอีกแบบ เช่น การลงขายโดยใช้รูปสินค้าแบรนด์เนมแต่สินค้าจริงกลับไม่ใช่สินค้าแบรนด์เนมตามภาพโฆษณา เป็นต้น

คำแนะนำ : หากผู้บริโภคได้รับสินค้าไม่ตรงกับโฆษณาและไม่สามารถเจรจากับทางร้านค้าได้ แนะนำให้ผู้บริโภคเก็บหลักฐานการซื้อขายต่างๆเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับร้านค้าและในกรณีเป็นการเรียกเก็บเงินปลายทางผู้บริโภคสามารถติดต่อกับทางบริษัทขนส่งเพื่อแจ้งระงับการจ่ายเงินไปยังปลายทางได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงสามอันดับแรกเท่านั้น ในปัจจุบันยังคงมีกลโกงของมิจฉาชีพอีกมากมายที่ใช้ในการฉ้อโกงหรือหลอกลวงผู้บริโภค ดังนั้นหากผู้บริโภคควรระมัดระวังและตรวจสอบร้านค้าหรือที่มาของเว็บไซต์อย่างถี่ถ้วนก่อนทำการตัดสินใจซื้อและระมัดระวังในการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น

หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากกลโกงมิจฉาชีพ ผู้สามารถร้องทุกข์กับสถานีตำรวจทุกท้องที่ หรือ ร้องเรียนออนไลน์กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com และสามารถแจ้งร้องเรียนมายังสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ตามช่องทางด้านล่าง

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • อีเมล : [email protected]   
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U      
  • เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ (Facebook Inbox) ​: สภาองค์กรของผู้บริโภค