ทำไมถึงควรเลี่ยง ‘อาหารจีเอ็มโอ (GMOs)’?

เมื่อผักผลไม้จีเอ็มโอ (GMOs) บุกเข้ามาขายในตลาดเมืองไทย ผู้บริโภคต้องเสี่ยงที่จะบริโภคผักผลไม้เหล่านี้อย่างไร สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ชวนอ่านบทความ “ทำไมจึงควรเลี่ยงอาหารจีเอ็มโอ” ด้านล่างนี้

‘จีเอ็มโอ’ คืออะไร

จีเอ็มโอ หรือ GMOs ย่อมาจากคำว่า Genetically Modified Organisms หมายถึง สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ที่เกิดจากการตัดเอายีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งมายิงเข้าไปในยีนของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติไม่เคยผสมพันธุ์กันได้ในธรรมชาติ เพื่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่มีคุณลักษณะตามต้องการ เช่น นำยีนทนความหนาวเย็นจากปลาขั้วโลกมาผสมกับมะเขือเทศ เพื่อให้มะเขือเทศปลูกในที่อากาศหนาวได้ นำยีนจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งมาใส่ในยีนของถั่วเหลือง เพื่อให้ถั่วเหลืองทนทานต่อยาปราบวัชพืช นำยีนจากไวรัสมาใส่ในมะละกอ เพื่อให้มะละกอต้านทานโรคไวรัสใบด่างวงแหวนได้ เป็นต้น

จีเอ็มโอ ‘ผิดธรรมชาติ’ ไหม

ในการก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิต มียีนและดีเอ็นเอเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ยีนเป็นตัวสร้างสิ่งมีชีวิตให้มีคุณลักษณะและคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่น ยีนที่ทำให้ผมดำ ยีนที่ทำให้ทนความหนาวเย็นได้ ยีนที่ทำให้มีปีก เป็นต้น กลไกการทำงานของยีนในสิ่งมีชีวิตนั้นซับซ้อน กว้างใหญ่ไพศาล และเป็นเครือข่ายที่เปราะบาง ยีนตัวเดียวกัน แต่อยู่คนละตำแหน่งในสายยีนก็อาจกำหนดคุณสมบัติที่แตกต่างกันได้ และยีนหนึ่งตัวก็ไม่ได้มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว การดัดแปลงยีน (จีเอ็มโอ) คือ การพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตอย่างที่ไม่สามารถเกิดขึ้น ในธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อมนุษย์ สัตว์ และพืชทั้งหลายบนโลกใบนี้ เนื่องจากมนุษย์ไม่มีวันที่จะควบคุมมันได้

จากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนับล้าน ๆ ปีที่ผ่านมา มะเขือเทศสามารถผสมพันธุ์กับมะเขือเทศพันธุ์อื่นได้ แต่ไม่เคยเลยสักครั้งที่มะเขือเทศจะผสมพันธุ์กับปลาหรือคางคก ถั่วเหลืองอาจผสมข้ามพันธุ์ระหว่างถั่วเหลืองด้วยกันเอง แต่ไม่มีวันที่จะผสมพันธุ์กับแบคทีเรีย นี่คือกฎที่ธรรมชาติสรรสร้างขึ้น เพื่อเป็นกำแพงกั้นให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีความแตกต่าง หลากหลาย เพื่อความอยู่รอดของโลก แต่การปฏิบัติการดัดแปลงพันธุกรรม (วิศวพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ) คือ การละเมิดกฎธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการบีบบังคับให้ยีนของปลาเข้าไปผสมอยู่ในสตรอว์เบอร์รี่ หรือยีนของแมลงป่องเข้าไปผสมกับมะเขือเทศ

นักวิศวพันธุกรรมนำยีนแปลกปลอมเหล่านี้ใส่เข้าไปโดยการใช้ไวรัสเป็นพาหะ หรือใช้ปืนยิงยีนเข้าไปในเซลล์ของสัตว์ พืช หรือมนุษย์ที่ต้องการดัดแปลงพันธุกรรม การใส่เข้าไปแบบสุ่มเสี่ยงนี้ บ่อยครั้งที่ล้มเหลว ครั้งที่ทำสำเร็จก็ไม่รู้ว่ายีนใหม่จะเข้าไปแทรกตัวอยู่ตรงไหนของสายยีน และจะก่อให้เกิดผลกระทบอื่นนอกเหนือไปจากที่ต้องการหรือไม่

พืชจีเอ็มโอที่มีขายในท้องตลาดในปัจจุบัน ได้แก่ ถั่วเหลือง – ข้าวโพด – มันฝรั่ง – มะเขือเทศ – คาโนล่า – มะละกอ – ฝ้าย

จะกินอาหารจีเอ็มโอดีไหม?

ตั้งแต่เกิดเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมขึ้นมา ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดกล้ายืนยันได้ว่า อาหารที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอปลอดภัยต่อการบริโภคในระยะยาว การทดลองในสัตว์ทดลองเป็นเพียงการทดลองระยะสั้น ๆ เมื่อเทียบกับช่วงชีวิตของมนุษย์ที่ยาวถึง 60 – 70 ปี การนำอาหารจีเอ็มโอมาให้มนุษย์รับประทาน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าปลอดภัยหรือไม่ จึงเท่ากับใช้มนุษย์เป็นหนูทดลอง โดยที่พวกเราเองก็ไม่รู้ตัวว่ากินอาหารจีเอ็มโอเข้าไปหรือไม่ ถ้าไม่มีฉลากที่ชัดเจนบอกไว้ หากในอนาคตเกิดผลร้ายต่อสุขภาพขึ้นมา จึงระบุไม่ได้ว่ามาจากการบริโภคอาหารจีเอ็มโออย่างต่อเนื่องหรือไม่

ปัจจุบัน อันตรายต่อสุขภาพที่พบว่าอาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ คือ โรคภูมิแพ้ เช่น ในอเมริกาเคยมีกรณีคนที่แพ้บราซิลนัท แล้วมากินถั่วเหลืองจีเอ็มโอที่มียีนของบราซิลนัทโดยไม่รู้ จะเกิดอาการแพ้ถั่วเหลืองนั้นทันที นอกจากนี้ การใส่ยีนแปลกปลอมที่ไม่เคยมีมาก่อนเข้าไปอาจก่อให้เกิดโปรตีนพิษชนิดใหม่ ที่ร่างกายไม่รู้จัก และกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเป็นห่วงว่าจีเอ็มโออาจกระตุ้นให้ร่างกายดื้อยาปฏิชีวนะ เนื่องจากในการผลิตจีเอ็มโอต้องใส่สารต้านทานยาปฏิชีวนะเข้าไป เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ สมาคมแพทย์อังกฤษเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ให้ใช้สารต้านทานยาปฏิชีวนะในจีเอ็มโอ ขณะที่ ในสหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารต้านทานยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ ปี 2547 แต่พืชจีเอ็มโอที่นำมาผลิตเป็นอาหารอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ ยังคงมีสารต้านทานยาปฏิชีวนะเป็นส่วนประกอบอยู่ ขณะที่ ในรายงานเรื่อง “พืชจีเอ็มโอเพื่อใช้ในอาหารกับสุขภาพมนุษย์ (ฉบับปรับปรุง)” ของราชสมาคมอังกฤษเตือนไว้ว่า เด็กทารกเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูงที่สุดต่อการกินอาหารจีเอ็มโอ เพราะร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ

อันตรายไม่มีวันกลับ

จากการที่จีเอ็มโอเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถขยายพันธุ์และแพร่พันธุ์ได้นั้น เมื่อใดที่มันถูกปล่อยออกไปสู่สภาพแวดล้อม เราจะไม่สามารถจำกัดบริเวณหรือเรียกกลับคืนมาได้ หากพบอันตรายในภายหลัง ตัวอย่างนี้มีให้เห็นจากเรื่องของสารเคมีกำจัดแมลงที่มนุษย์ผลิตเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มนุษย์คิดค้นสารเคมี เช่น ดีดีทีขึ้น ในตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าอันตรายของมันคืออะไร แต่ก็นำดีดีทีมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ต่อมาอีก 30 ปี จึงค้นพบว่าสารดีดีทีเป็นตัวการทำให้พืช สัตว์ และมนุษย์เกิดการล้มป่วย พิการ หรือเสียชีวิต ทำให้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติออกประกาศห้ามใช้สารดีดีที

กรณีของจีเอ็มโอก็ไม่แตกต่างกัน อาจซ้ำร้ายกว่าตรงที่สารเคมีพิษเหล่านี้แม้จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหรือในอาหารไปแล้ว แต่เมื่อหยุดใช้ไประยะหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นร้อยปี หรือพันปีก็จะย่อยสลายไปได้ แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอ หากใน 50 ปีข้างหน้าพบว่ามันมีผลร้ายแรงยิ่งกว่าผลที่พบแล้วในปัจจุบัน เราคงไม่สามารถหยุดยั้งการปลูกพืชจีเอ็มโอหรือหาพืชพันธุ์พื้นเมืองที่ไม่มีจีเอ็มโอมาปลูกได้ เพราะพืชหรือสัตว์จีเอ็มโอได้แพร่พันธุ์กลืนกินพืชที่ไม่ใช่จีเอ็มโอไปหมดแล้ว

การครอบงำจากบริษัทข้ามชาติ

มีบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ เพียง 4 – 5 บริษัทเท่านั้นที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในเทคโนโลยีการทำจีเอ็มโอ รวมถึงตัวยีน และเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอที่เพาะปลูกกันอยู่ในโลกขณะนี้ ในการทดลองวิจัย บริษัทเหล่านี้อาจบอกว่าเป็นความช่วยเหลือแบบให้เปล่า แต่หากต้องการปลูกเพื่อการค้าจะต้องทำสัญญาทางการค้าและจ่ายเงินตอบแทนให้กับบริษัท เกษตรกรในแคนาดาและสหรัฐอเมริกาจำนวนมากต้องตกเป็นทาสในที่ดินของตนเอง เนื่องจากปลูกพืชจีเอ็มโอ หรือถูกพืชจีเอ็มโอเข้ามาปนเปื้อนในพืชผลของตน จีเอ็มโอจึงเป็นหนทางให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลและครอบครองแหล่งเกษตรกรรมและแหล่งอาหารของเรา

ประเทศไทยกับจีเอ็มโอ

จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2546 ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อการค้า และยังมีมติ ครม.สั่งระงับการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอระดับไร่นา ประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบจีเอ็มโอเพื่อใช้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง ซึ่งนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด (ถั่วเหลืองที่ปลูกในสหรัฐอเมริการ้อยละ 75 เป็นถั่วเหลืองจีเอ็มโอ) จากการตรวจสอบของกรีนพีซ พบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปในท้องตลาดปนเปื้อนถั่วเหลืองจีเอ็มโอ โดยไม่ได้ติดฉลากให้ประชาชนได้รับทราบ กฎกระทรวงเรื่องการติดฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ของกระทรวงสาธารณสุขที่บังคับใช้ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2546 นั้น เป็นกฎข้อบังคับที่หละหลวมมาก คือ กำหนดเปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนไว้สูงถึงร้อยละ 5 ถ้ามีจีเอ็มโอต่ำกว่านั้นก็ไม่ต้องติดฉลากบอก

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ติดฉลากต่อเมื่อมีถั่วเหลืองหรือข้าวโพดจีเอ็มโอเป็นส่วนประกอบใน 3 อันดับแรกเท่านั้น หากมีถั่วเหลืองหรือข้าวโพดจีเอ็มโออยู่ในอันดับที่ 4 ลงไป ก็ไม่ต้องติดฉลาก และถ้ามีวัตถุดิบอื่นที่ไม่ใช่ถั่วเหลืองหรือข้าวโพด แต่เป็นวัตถุดิบจีเอ็มโอ เช่น มะละกอจีเอ็มโอ หรือข้าวสาลีจีเอ็มโอ ก็ไม่จำเป็นต้องติดฉลาก กฎกระทรวงฉบับนี้จึงไม่ได้ให้ข้อมูลที่แท้จริงกับผู้บริโภค และไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภค หรือให้สิทธิในการรับรู้และปฏิเสธอาหารจีเอ็มโอแก่ผู้บริโภคแต่ประการใด

ขณะเดียวกัน บริษัทผลิตอาหารข้ามชาติบางบริษัทใช้มาตรฐานต่างระดับกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากประกาศนโยบายปลอดจีเอ็มโอในยุโรป แต่ในประเทศไทยยังยืนยันว่าจะใช้ส่วนประกอบอาหารที่มีจีเอ็มโออยู่ เช่น บริษัท เนสท์เล่ ซึ่งกรีนพีซตรวจพบจีเอ็มโอในซีรีแล็ค อาหารเสริมสำหรับเด็กเล็ก และทารกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ป้องกันไว้ก่อน

หากดูจากลักษณะภายนอก อาหารจีเอ็มโอไม่ได้แตกต่างจากอาหารทั่วไปแต่อย่างใด หากแต่โครงสร้างของยีนภายในแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และตราบใดที่เรายังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจีเอ็มโอปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิตมนุษย์หรือไม่ รวมถึงผลกระทบที่เราไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ ถ้าจีเอ็มโอเข้าไปอยู่ในระบบ นิเวศน์และห่วงโซ่อาหาร จึงทำให้เราต้องยึดหลักการป้องกันไว้ก่อน โดยไม่บริโภคอาหารจีเอ็มโอที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร และปลอดภัยหรือไม่

ข้อมูลจาก : กรีนพีซ ประเทศไทย

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค