ผนึกกำลังปชช.-ภาครัฐ เร่งส่งเสริมความปลอดภัยการใช้ถนน

สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร เผยผลสำรวจโครงการ ‘ส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้ถนนสำหรับผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร’ พบสะพานลอย-ทางม้าลาย ถูกออกแบบไม่เหมาะสมต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ด้านภาคประชาชนเสนอนโยบายด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้ถนน

วันนี้ (16 ธันวาคม 2565) วิทยา แจ่มกระจ่าง ผู้รับผิดชอบโครงการ ‘ส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้ถนนสำหรับผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร’ และประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร องค์กรสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคฯ เห็นความสำคัญของการส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้ถนนสำหรับผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร ทั้งพฤติกรรมการใช้ทางม้าลายและสะพานลอยคนเดินข้ามในบริเวณชุมชนมีความหนาแน่น รวมถึงหลาย ๆ คนยังพบปัญหาและอุปสรรคในการใช้ทางม้าลายและสะพานลอยคนเดินข้าม

ดังนั้นจึงได้เสนอโครงการส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้ถนนดังกล่าวขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้สะพานลอยคนข้ามและทางม้าลายได้อย่างปลอดภัย ผ่านโครงการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2565 ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคประกาศเปิดรับข้อเสนอจากสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภคทั้งประเทศในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก ผ่านการทำงานเชื่อมโยงกับสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภคทั้งประเทศ

วิทยา ระบุว่า จากการสำรวจในโครงการส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้ถนน สำหรับผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร พบว่า กรุงเทพมหานครมีสะพานลอยทั้งหมด 915 แห่ง โดย 723 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. และสะพานลอยที่เหลืออีก 192 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ทั้งนี้ จากข้อมูลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยระบุไว้ว่า ‘สะพานลอยของรัฐมีงบประมาณในการสร้างอย่างต่ำ 2 ล้านบาท ไม่รวมค่าบำรุงรักษาที่ได้รับทุกเดือน’

อย่างไรก็ตาม สภาพสะพานลอยที่ในปัจจุบันกลับมีสภาพที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เอื้อต่อการใช้งาน ทั้งไม่มีราวจับ แสงไฟส่องไม่ทั่วถึง ขั้นบันไดสูงและชันเกินไป สายไฟรกรุงรัง รวมถึงประชาชนบางส่วนอาจจะไม่นิยมใช้สะพานลอย เพราะสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าภาษีของประชาชนและงบประมาณที่ใช้จ่ายเพื่อนำไปสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจะทำให้ประชาชนได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพได้จริงหรือไม่

ขณะที่ปัจจุบันประชาชนที่ใช้ทางม้าลายข้ามถนนถูกละเมิดสิทธิอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่มักจะไม่ค่อยหยุดเพื่อให้คนข้ามถนน ประกอบกับบริเวณทางม้าลายที่สีอาจลบเลือนมองไม่เห็น ไม่มีสัญญาณหรือไฟกระพริบเตือนให้เป็นที่สังเกต จึงทำให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไม่ได้ระมัดระวังคนข้ามถนน ทั้งที่มีกฎหมายในการใช้รถใช้ถนนกำกับอยู่ ‘รถยนต์และรถจักรยานยนต์ต้องหยุดรถทันที เมื่อมีคนจะข้ามถนน’

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ในเวทีสาธารณะ “ข้อเสนอและแนวทางการผลักดันนโยบายด้านส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้ถนนสำหรับผู้บริโภค ในกรุงเทพมหานคร” สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค – หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผลสำรวจของโครงการฯ ที่สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร ดำเนินการมา และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันนโยบายด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้ถนน

กชนุช แสงแถลง ผู้อํานวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหัวหน้าหน่วยงานประจําจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ในเวทีดังกล่าวมีข้อเสนอให้ทำ ‘ทางม้าลายอัจฉริยะ’ โดยเร่งติดตั้งสัญญาณไฟตรงทางม้าลายให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มีไฟตัวเลขนับถอยหลังเพื่อส่งสัญญาณให้คนข้ามและคนขับรู้ได้ล่วงหน้า รวมถึงเสนอให้ทำเนินบนถนนก่อนถึงจุดข้ามทางม้าลายเพื่อสกัดรถให้ชะลอความเร็ว เช่นเดียวกันกับในประเทศสิงคโปร์ที่ใช้วิธีแบบนี้แล้วได้ผล และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจังและเข้มแข็ง          

กชนุช กล่าวอีกว่า จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีนำมาสู่การผนึกกำลังระหว่างองค์กรภาคประชาชน และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันผลักดันนโยบายด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้ถนน โดยเสนอให้มีการกำหนดมาตรการคาดโทษหากกระทำผิดกฎทางจราจร ให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ถนนอยู่อย่างต่อเนื่อง และผลักดันกลไกของเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็งและสามารถรายงานปัญหาให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากองค์กรของผู้บริโภคแต่ละพื้นที่นั้นเข้าใจบริบทของแต่ละพื้นที่ได้ดีจึงเห็นว่าจะเป็นกลไกสำคัญของภาคประชาชนที่ช่วยแก้ไขปัญหาสะพานลอยและทางม้าลายข้ามถนนไม่ได้มาตรฐาน

รวมถึงในเวทียังมีการเสนอแนะการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายและเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค