Getting your Trinity Audio player ready... |

อาหารจีนไร้ อย. เตรียมกระจายร้านหมาล่าทั่วกรุงเทพฯ เผยช่องโหว่ระบบตรวจสอบสินค้านำเข้า ด้านสภาผู้บริโภคเร่งผลักดันระบบแจ้งเตือนอาหารไม่ปลอดภัย พร้อมหนุนท้องถิ่นร่วมเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยอย่างทันท่วงที
จากกรณีข่าว ตำรวจตรวจค้น โกดังเก็บสินค้าอาหารจีน ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมนำส่งร้านสุกี้หม่าล่าทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ที่หากบริโภคในชีวิตประจำวัน อาจเกิดการสะสมสารต้องห้ามที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคได้ (อ้างอิง: https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1176712)
วันที่ 22 เมษายน 2568 ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า การตรวจพบสินค้านำเข้าที่ไม่มีใบอนุญาต อย. และอาจไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบด้านความปลอดภัยและคุณภาพอย่างเข้มงวด สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระบบการควบคุมสินค้านำเข้าที่ยังมีช่องโหว่อยู่ไม่น้อย แม้ว่าตามหลักการแล้ว สินค้าประเภทอาหารหรือผลิตภัณฑ์บริโภคจะต้องผ่านการตรวจสอบจากด่านนำเข้า รวมถึงต้องมีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง อย. แต่เมื่อมีการตรวจพบว่าสินค้าบางรายการเล็ดลอดเข้ามาได้โดยไม่มีการอนุญาต ชี้ให้เห็นว่า ระบบตรวจสอบปัจจุบันอาจยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นำไปสู่ความเสี่ยงโดยตรงต่อผู้บริโภค
“จากการที่ตรวจยึดสินค้าได้กว่า 8,000 ชิ้น สะท้อนให้เห็นว่าอาจมีผู้บริโภคในกรุงเทพหลายพื้นที่ ได้รับความเสี่ยงจากสินค้าเหล่านั้น เพราะสินค้าได้กระจายไปทั่วโดยที่ไม่ได้ระบุให้ผู้บริโภคทราบว่ากระจายไปยังที่ใดบ้าง อีกทั้ง การไม่มีระบบเรียกคืนสินค้า ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว” ภก.ภาณุโชติกล่าว
นอกจากนี้ การพบโกดังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ สามารถตั้งข้อสงสัยได้ว่า อาจมีสถานที่ลักษณะเดียวกันกระจายอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่ชัดของระบบติดตามและเฝ้าระวัง และการกระจายสินค้า ซึ่งการมีระบบเตือนภัย เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยระบบต้องแจ้งเตือนอย่างทันท่วงทีเมื่อตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ นอกจากนี้ หากพบว่าผลิตภัณฑ์ใดไม่ปลอดภัย ต้องมีมาตรการเก็บกวาดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกจากท้องตลาดโดยเร็วเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค

ภก.ภาณุโชติกล่าวอีกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคควรขยับบทบาทจากการแก้ปัญหาในรูปแบบเดิม ๆ ไปสู่การทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการติดตามผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดและอาจมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรเปิดพื้นที่ให้เกิดความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ เพราะการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนจะช่วยสร้างกลไกการแจ้งเบาะแสและเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ที่สำคัญคือสามารถนำข้อมูลมาสื่อสารกับผู้บริโภคได้ทันทีเมื่อพบความเสี่ยง ซึ่งสภาผู้บริโภคเองก็กำลังผลักดันแนวทางนี้ให้เป็นระบบร่วมกันอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ภก.ภาณุโชติ ได้กล่าวชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสินค้าผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภคในครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานเชิงรุกที่ตอบรับกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจริงในสังคม โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคกำลังนิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย แม้หน้าที่ของตำรวจอาจไม่ได้อยู่ในภารกิจการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวกับอาหารโดยตรง แต่การเข้ามาจับกุมและตรวจสอบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลหรือเบาะแสที่มีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผนึกกำลัง ระบบแจ้งเตือนภัย อาหาร-ยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
- จุดอ่อนความปลอดภัยอาหาร
- ผักผลไม้นำเข้า สารเคมีเพียบ ปัญหาระบบ
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนมีนาคม สภาผู้บริโภคได้จัดเวทีความร่วมมือเพื่อสร้างระบบแจ้งเตือนภัยที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วม กับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาชน เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในการผลักดันระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ อาจเป็นก้าวสำคัญของการสร้างระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างปลอดภัย
สำหรับใครที่บริโภคอาหารหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ แล้วรู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดอาการผิดปกติ หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน สคบ. 1166 สายด่วน อย. ที่เบอร์ 1556 หรือสภาผู้บริโภคได้ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502 ไลน์ออฟฟิเชียล (Line OA) : @tccthailand หรือร้องเรียนกับหน่วยงานประจำจังหวัดใกล้บ้านได้ที่ https://www.tcc.or.th/tcc-agency/