“โดนโกง ยำแหนม …แต่ไม่ยอมปล่อยผ่าน!”: บทเรียนสิทธิผู้บริโภคยุคใหม่

Getting your Trinity Audio player ready...
“โดนโกง ยำแหนม ...แต่ไม่ยอมปล่อยผ่าน!”: บทเรียนสิทธิผู้บริโภคยุคใหม่

สั่งของออนไลน์…แต่ไม่ได้ของ อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย สภาผู้บริโภคชวนอ่านเรื่องราวของผู้บริโภครายหนึ่งที่ถูกโกงค่า ยำแหนม 170 บาท และลุกขึ้นมาใช้สิทธิในฐานะ “ผู้บริโภค” อย่างเต็มที่ จนได้รับการชดเชยในที่สุด

คดีนี้เริ่มจากผู้บริโภคซึ่งเป็นทนายความ ออกมาเล่าประสบการณ์การสั่ง ยำแหนม 2 ถุง ราคา 170 บาท ผ่านสื่อออนไลน์ แต่เมื่อโอนเงินไปแล้วกลับไม่เคยได้ลิ้มรสยำจานนั้นเลยแม้แต่คำเดียว ที่สำคัญกว่านั้นคือคนขายเงียบหายไปแบบไร้ร่องรอย ทั้ง ๆ ที่เพจยังคงขายสินค้าอยู่ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

“สั่งของแต่ไม่ได้ของ บอกว่าจะมาส่ง แต่ก็ไม่ส่ง บอกจะโอนเงินคืน แต่ก็ไม่โอนเงินคืน ทวงหลายรอบ ให้เวลาคืน แม้จะบอกว่าเป็นทนายนะ ถ้าไม่คืนฟ้อง ก็เงียบกริบ”

หลายคนอาจถอนหายใจ “แค่ 170 บาท ปล่อยมันไปเถอะ” แต่เขาเลือกไม่ยอมให้ความเงียบเป็นคำตอบ จึงรวบรวมหลักฐานและฟ้องคดี ผ่านระบบ e-filing ของ ศาลยุติธรรมแผนกคดีออนไลน์  และขออายัดบัญชีด้วยไปพร้อมกัน จนการทั่งเขาได้รับเงินคืนจากร้านค้าในที่สุด

นี่คือบทพิสูจน์ว่า แม้ความเสียหายจะดูเล็กน้อย แต่ความไม่เป็นธรรมไม่มีคำว่า “เล็กน้อย”
แม้จะเป็นเพียงการโกงอาหารจานเดียว แต่ในแง่ของหลักการ มันคือ “การเอาเปรียบ” ที่ไม่ควรถูกมองข้าม

ผู้บริโภคไม่ใช่เหยื่อ และไม่ควรนิ่งเฉย

การลุกขึ้นมาฟ้องร้องของผู้บริโภครายนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อทวงคืนเงิน 170 บาท แต่เป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการทั้งหลายว่า “อย่าคิดว่าโลกออนไลน์จะทำให้คุณรอดพ้นความรับผิด”

ในยุคที่กระบวนการยุติธรรมเปิดกว้าง และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการฟ้องคดีได้มากขึ้น การฟ้องคดีผ่านระบบออนไลน์อย่าง e-filing เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถปกป้องสิทธิของตัวเองและได้รับความเป็นธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากขึ้น และที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งค่าขึ้นศาล ค่าหมายศาล ไม่ต้องมีทนาย ผู้บริโภคสามารถฟ้องเองได้เลย แต่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องมีคือ “ความกล้า” ความเข้าใจว่าเรามีสิทธิ และพร้อมจะใช้สิทธินั้นอย่างไม่เกรงกลัว

ถ้าที่ยังมีคนคิดว่า “เงินแค่นิดเดียว ไม่เป็นไร ไม่อยากฟ้องให้เสียเวลา” เราจะยังเห็นเหยื่อรายใหม่ถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เมื่อมีคนลุกขึ้นมาสู้ แม้เพียงหนึ่งราย มันคือการเขย่าระบบเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ไม่ซื่อตรงเห็นว่า “ผู้บริโภคไม่ใช่เหยื่ออีกต่อไป”

สำหรับผู้บริโภคที่ถูกโกง ถูกเอาเปรียบ หรือไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถปรึกษา – ร้องเรียน ได้กับ สภาผู้บริโภค ได้ที่

  • 📞 สายด่วน 1502 (จันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
  • 🌐 เว็บไซต์: www.tcc.or.th
  • 📩 อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก: สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • 💬 Line Official: @tccthailand

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต้นโพสต์ Thanit Russameephupha : คดีโกงยำแหนม 170 บาท

คดีตัวอย่าง! ทนายเอาจริง ฟ้องร้านค้าโกงยำแหนม 170 บาท ดัดหลังพวกทวงแล้วนิ่ง

อ่านรายละเอียดและวิธีการฟ้องศาลออนไลน์ได้ที่

ฟ้องศาลออนไลน์ คดีแบบไหนทำได้บ้าง

วิดีโอ :

" target="_blank" rel="noreferrer noopener">คู่มือและขั้นตอนการฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง