Getting your Trinity Audio player ready... |

“แค่คลิกเดียว อาจสูญเสียทั้งชีวิต” วลีนี้อาจฟังดูรุนแรง แต่กลับสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคดิจิทัลอย่างน่าตกใจ สถิติคดีออนไลน์จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงปัจจุบัน มีคดีอาชญากรรมทางออนไลน์สูงถึง 118,801 เคส มูลค่าความเสียหายพุ่งทะลุ 9,000 ล้านบาท โดยกว่า 57% เป็นการหลอกลวงให้ซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ (ที่มา www.thaipoliceonline.go.th)
ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ข้อมูล แต่คือ เสียงเตือนภัย ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัลให้กับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่แม้จะเต็มไปด้วยโอกาสทางเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางของมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม
Open Grant ลุยต่อ! ขับเคลื่อนภารกิจประเด็นภัยออนไลน์
เพื่อรับมือกับภัยออนไลน์ที่แทรกซึมเข้าสู่ทุกครัวเรือน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในนามหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เปิดพื้นที่ให้กับองค์กรสมาชิกในการดำเนินโครงการ Open Grant อย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 ที่ผ่านมา โครงการนี้ได้วางกรอบและสร้างทิศทางให้เครือข่ายและองค์กรสมาชิกร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นภัยออนไลน์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังเพื่อเปลี่ยนสถานะของผู้บริโภค จาก ผู้ถูกกระทำ ไปสู่ ผู้รู้เท่าทัน และก้าวสู่การเป็น นักส่งเสริมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (ภัยออนไลน์) ปัจจุบัน 2568 ประเด็นภัยออนไลน์ยังคงถูกจัดเป็นลำดับความสำคัญอันดับต้น ๆ โดยมีองค์กรในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 18 แห่ง ร่วมดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา เป้าหมายไม่ใช่แค่การให้ความรู้เท่านั้น แต่เพื่อสร้างศักยภาพที่สามารถขยายต่อไปยังชุมชนของตนได้อย่างยั่งยืน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้โครงการ Open Grant มีความแตกต่าง คือการเน้นพัฒนาเครือข่ายอย่างเป็นระบบ เริ่มจาก การอบรมด้านจัดการเอกสารโครงการ ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญในการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ การจัดทำเอกสารการเงินและบัญชีโครงการ Open Grant ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. โดยมีนายอรรณพ พลแพงขวา และนางสาวกนกพรรณ แสงหิรัญ ทีมงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค จากสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค มาให้ความรู้ในด้านการจัดทำงบประมาณและเอกสารที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เพื่อให้ทุกองค์กรสามารถดำเนินโครงการได้อย่างมั่นใจ


จากห้องอบรมสู่พื้นที่จริง เดินสายเสริมพลังเครือข่าย
หลังจากผ่านการอบรมด้านการบริหารจัดการเอกสารโครงการอย่างเข้มข้น ทีมหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ก็พร้อมใจกัน ลงพื้นที่ สู่ชุมชนในเขตต่าง ๆ อาทิ เขตพระนคร คลองสามวา ดอนเมือง ทุ่งครุ บางขุนเทียน บางเขน บางแค บางบอน บึงกุ่ม ประเวศ ราษฎร์บูรณะ และสะพานสูง ฯลฯ เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องภัยออนไลน์ ให้ถึงที่ บรรยากาศในการอบรมแต่ละพื้นที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ผู้เข้าร่วมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งตั้งใจฟัง ถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมทำกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ช่วยให้เข้าใจภัยออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลโกงที่มาในรูปแบบการแอบอ้างบุคคลน่าเชื่อถือ เทคนิคการชักจูงให้โอนเงินผ่านลิงก์หลอกลวง หรือแม้แต่ภาษาที่ใช้ในแชทที่อาจซ่อนเล่ห์กลของมิจฉาชีพ
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ทบทวนความเข้าใจและประเมินตนเองเบื้องต้น หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ยังได้จัดให้มีแบบทดสอบเกี่ยวกับภัยออนไลน์ให้กับสมาชิกและเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยคำถามในแบบทดสอบครอบคลุมทั้งรูปแบบกลโกง เทคนิคการหลอกลวง และแนวทางการป้องกันตนเอง ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมได้นำความรู้ที่ได้รับมาคิดวิเคราะห์และนำไปปรับใช้ในชีวิตจริง


นอกจากการให้ความรู้แล้ว วิทยากรยังแนะนำเทคนิคการตรวจสอบบัญชีผู้ใช้บนโซเชียลมีเดีย การสังเกตความน่าเชื่อถือของบัญชี การค้นหาข้อมูลประกอบจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ตลอดจนฝึกวิเคราะห์ข่าวสารออนไลน์ เพื่อลดโอกาสตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมหรือข้อมูลที่บิดเบือน ภายในกิจกรรมยังมีช่วงอบรมเกี่ยวกับวิธีการรับเรื่องร้องเรียนและการจัดเก็บข้อมูลอย่างมีระบบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญในการต่อยอดการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้เกิดเป็นรูปธรรมในอนาคต โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพฯ และสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด สร้างความมั่นใจให้กับเครือข่ายว่า หากเกิดเหตุสามารถร้องเรียนได้อย่างมีหลักฐานและตามระบบ และเราก็ไม่ลืมที่จะเก็บภาพบรรยากาศของแต่ละพื้นที่มาฝากกันอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการ เปลี่ยนผ่านผู้บริโภคไทย จาก เหยื่อสู่ผู้ปกป้องชุมชน จุดประกายให้เกิด พลังจากภายใน ให้แกนนำลุกขึ้นมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สู่คนรอบข้างในพื้นที่ เพื่อเป็นเกราะป้องกันและเฝ้าระวังเตือนภัย นี่จึงไม่ใช่แค่โครงการอบรมเชิงทฤษฎี หากแต่เป็นการปักหมุดก้าวแรกของการเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล สุดท้ายแล้วการที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง รอบรู้ และไม่หยุดพัฒนาตนเอง คือคำตอบสำคัญของการ อยู่รอดอย่างปลอดภัย ท่ามกลางโลกออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง
หากพบปัญหาภัยออนไลน์ : โทรแจ้งสายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502
ผู้บริโภคพื้นที่กทม.ติดต่อร้องเรียนได้ที่ หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร
ตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานในพื้นที่อื่น ๆ หน่วยงานประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค














