ตั๋วใบเล็ก-สิทธิ์ใบใหญ่ รู้ให้ทัน! ก่อนจ่ายค่าโดยสาร จากกรณีศึกษาจริง

Getting your Trinity Audio player ready...

ในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว ยิ่งช่วงนี้ประชาชนทั่วประเทศต่างมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถทัวร์ รถบัส และรถตู้ แต่เบื้องหลังตั๋วโดยสารเพียงใบเล็ก ๆ ที่เราถือไว้ กลับซ่อนสิทธิ์และข้อควรระวังที่ผู้โดยสารควรต้องรู้ เพราะมิฉะนั้นอาจตกเป็นเหยื่อของความไม่โปร่งใส หรือถูกเอารัดเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว เพื่อเป็นอุทาหรณ์และการเรียนรู้ร่วมกัน เรื่องเล่าจากพื้นที่จึงขอยกตัวอย่าง 3 กรณี ที่ได้รับการร้องเรียนจริงจากผู้บริโภค มาสะท้อนปัญหาการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในช่วงเวลาที่คนจำนวนมากต้องพึ่งพาระบบเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ พร้อมชวนให้ทุกคนรู้เท่าทันสิทธิของตนเองก่อนก้าวขึ้นรถคันถัดไป

กรณีที่ 1 : ข้าราชการชายแดนใต้ ถูกปฏิเสธส่วนลดช่วงเทศกาล

ข้าราชการจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รายนึง ได้ร้องเรียนมายังหน่วยงานประจำจังหวัดปัตตานี หลังพบว่าตนเองถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเต็มราคา ทั้งที่ปกติใช้สิทธิส่วนลดตามระเบียบของรัฐได้

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 เวลา 20.40 น. ขณะเดินทางกลับภูมิลำเนาที่จังหวัดสุรินทร์ โดยใช้บริการรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 สายกรุงเทพฯ – สุรินทร์ (ต้นทางหมอชิต – ปลายทางอำเภอปราสาท) หมายเลขข้างรถ 31-30 ซึ่งได้จ่ายราคาค่าตั๋วจำนวนเต็ม 374 บาท

ผู้ร้องเรียนได้เล่าว่า ปกติใช้สิทธิข้าราชการชายแดนใต้ ซึ่งทำให้จ่ายค่าตั๋วในราคาพิเศษเพียง 262 บาท แต่รอบนี้พนักงานกลับแจ้งว่า “ช่วงเทศกาลไม่สามารถใช้สิทธิส่วนลดได้” ซึ่งสร้างความไม่เข้าใจให้กับผู้โดยสารเป็นอย่างมาก

ทางหน่วยงานประจำจังหวัดปัตตานีได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็ว โดยขอหลักฐานจากผู้ร้อง รวมถึงตั๋วโดยสารและบัตรข้าราชการ จากนั้นแจ้งเรื่องต่อสายด่วนกรมขนส่งทางบก 1584 ซึ่งได้รับเรื่องในระบบ และประสานงานบริษัทเดินรถเพื่อให้ชี้แจงและดำเนินการตามระเบียบที่ถูกต้อง

กรณีนี้สะท้อนถึงความสำคัญของการรู้สิทธิและการกล้าร้องเรียนอย่างมีหลักฐาน เพราะสิทธิของผู้บริโภคไม่ควรหยุดใช้งานเพียงเพราะคำว่า “ช่วงเทศกาล”

กรณีที่ 2 : ค่าโดยสารเด็ก 2 ขวบ ต้องจ่าย? และความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน

อีกหนึ่งกรณีสะท้อนปัญหาซ้ำซ้อนทั้งด้านค่าโดยสารและพฤติกรรมพนักงานขับรถ โดยผู้ร้องเรียนเป็นคุณแม่ท่านนึง โดยสารรถบัสสีแดง เบอร์ 29 จากสถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรีไปยังอำเภอทองผาภูมิ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 พร้อมลูกชายวัย 2 ขวบ

เธอเล่าว่า เด็กอายุ 2 ขวบ ซึ่งยังอยู่ในวัยที่ควรได้รับการยกเว้นค่าโดยสารตามแนวปฏิบัติทั่วไป กลับถูกเรียกเก็บเงินเพิ่ม 50 บาท โดยไม่มีคำอธิบายหรือเงื่อนไขที่ชัดเจน ทั้งที่เด็กนั่งตักแม่ ไม่ได้ใช้เบาะแยก  

แต่สิ่งที่สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่ง คือพฤติกรรมของคนขับ ซึ่งขณะขับรถได้ถือโทรศัพท์พูดคุยตลอดเส้นทาง ใช้เพียงมือข้างเดียวในการควบคุมรถขนาดใหญ่ เสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทั้งหมดในรถ

“ดิฉันรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยเลยตลอดการเดินทาง ทั้งเรื่องการเก็บค่าโดยสารเด็ก และพฤติกรรมของพนักงานที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของเราเลย” ผู้ร้องกล่าว

กรณีนี้ตอกย้ำว่า นอกจากเรื่องสิทธิทางค่าโดยสารแล้ว ความปลอดภัยระหว่างเดินทางควรได้รับการใส่ใจอย่างสูงสุดจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ให้บริการที่อยู่หลังพวงมาลัย

กรณีที่ 3 : เก็บค่าโดยสารเกินราคา-พูดจาไม่ดี ที่ท่ารถหัวหิน

ล่าสุด ได้รับการร้องเรียนจากผู้โดยสารหญิงรายหนึ่ง ซึ่งขึ้นรถมินิบัสสีขาว หมายเลขทะเบียน กท-16-1811 ที่ท่ารถมาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน โดยจุดหมายคือบางควาย ซึ่งห่างออกไปราว 21 กิโลเมตร

จากประสบการณ์เดิม ผู้ร้องโดยสารรถสายเดียวกันนี้เสมอ และเสียค่าโดยสารเพียง 30 บาท แต่ในครั้งนี้ คนขับกลับเรียกเก็บ 40 บาท โดยไม่มีการติดป้ายอัตราค่าโดยสารหรือคำชี้แจงใด ๆ

เมื่อผู้โดยสารตั้งข้อสังเกตว่าเคยนั่งคันอื่นในราคาถูกกว่า กลับถูกคนขับต่อว่าด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม พร้อมแสดงสีหน้าไม่พอใจ ทำให้รู้สึกถูกคุกคามทางคำพูดและจิตใจ ทั้งยังเกิดคำถามว่า แล้วประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้ราคามาตรฐานจะเสียเงินเกินจริงไปอีกเท่าไร?

ผู้โดยสารรายนี้ยังระบุด้วยว่า นี่เป็นครั้งที่สองที่เจอกับคนขับคนเดิม ซึ่งสะท้อนว่า ไม่มีการควบคุมหรือติดตามปัญหาภายในของบริษัทเดินรถเท่าที่ควร

“ทั้งสามกรณี สามสถานการณ์ แต่สาระสำคัญเรื่องเดียวกัน คือผู้โดยสารต้องรู้สิทธิของตน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรม การละเลยสิทธิพิเศษในช่วงเทศกาล หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากพนักงานบริการ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ผู้โดยสารควรต้องรู้เท่าทัน และกล้าร้องเรียนอย่างมีหลักฐานเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม หากปล่อยให้ความไม่ถูกต้องเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่มีการจัดการ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไปอาจเป็นใครก็ได้ในสังคม”

รู้สิทธิ์ก่อนเดินทาง มั่นใจ ปลอดภัยกว่า

  • สอบถามก่อนซื้อตั๋ว ว่าส่วนลดหรือสิทธิพิเศษใช้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะช่วงเทศกาล
  • เด็กเล็กนั่งฟรีหรือเสียค่าบริการหรือไม่ เช็กอายุและเงื่อนไขของแต่ละบริษัท
  • เก็บค่าโดยสารเกินราคา หากพบว่าถูกเก็บแพงผิดปกติ ขอใบเสร็จและสอบถามราคากลางจากกรมขนส่ง
  • เจอพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น การพูดจาไม่สุภาพ ขับรถหวาดเสียว โทรแจ้งสายด่วน 1584 ได้ทันที
  • เก็บหลักฐาน ตั๋ว ภาพถ่ายข้อมูลรถโดยสาร วิดีโอ หรือข้อความพูดคุย เพื่อใช้ประกอบการร้องเรียน

เสียงของผู้โดยสาร ไม่ใช่เรื่องเล็ก ทุกครั้งที่สภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัด และองค์กรสมาชิกเครือข่ายได้รับเสียงสะท้อนจากผู้บริโภค เท่ากับว่าทุกคนกำลังร่วมกันผลักดันให้ระบบบริการขนส่งสาธารณะมีความโปร่งใส ยุติธรรม และปลอดภัยมากขึ้น แม้จะเป็นเพียงหนึ่งเสียง แต่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบให้ดีกว่าเดิม ขอเพียงเราทุกคน รู้สิทธิ รู้เท่าทัน และไม่ยอมถูกเอาเปรียบ เพราะนั่นคือพลังสำคัญที่ทำให้เสียงของผู้บริโภคกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่แท้จริง

อ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับค่าโดยสารแพงได้ที่ ต่อรถหลายเที่ยว-ค่าโดยสารแพง แต่รายได้น้อย วิบากกรรมคนใช้ขนส่งสาธารณะ