เสียงสะท้อนหลังประมูลคลื่น : ประมูลคลื่น หรือ ประเคนคลื่น

Getting your Trinity Audio player ready...
เสียงสะท้อนหลังประมูลคลื่น : ประมูลคลื่น หรือ ประเคนคลื่น

ภาคการเมืองจับตา ประมูลคลื่น แค่ “พิธีกรรม” ประเคนคลื่นให้เอกชน รวมพลังภาคประชาชน องค์กรผู้บริโภคขับเคลื่อนแก้กฎหมายป้องกันอำนาจเหนือตลาด เร่งเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างกิจการโทรคมนาคม

การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว โดยมีเพียงสองผู้ให้บริการหลักเข้าร่วม และคว้าคลื่นไปคนละหลายชุด ทั้งคลื่น 2100, 2300 และ 1500 MHz การประมูลครั้งนี้ทำให้ เอไอเอส (AIS) และ ทรู คอร์ปอเรชัน (TRUE) ยังคงเป็นผู้เล่นหลักในตลาดโทรคมนาคมของไทยต่อไปอย่างไร้คู่แข่ง

แม้ภายนอกจะดูเหมือนเป็นกระบวนการที่ราบรื่น แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยคำถาม ทั้งเรื่องราคาที่ต่ำกว่าตลาด การแข่งขันที่แทบไม่เกิดขึ้น และข้อกังวลว่า กสทช. ได้ออกแบบการประมูลในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ มากกว่าจะคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างแท้จริง

เสียงสะท้อนหลังประมูลคลื่น : ประมูลคลื่น หรือ ประเคนคลื่น
ขอบคุณภาพจาก : กรุงเทพธุรกิจ

พนิดา มงคลสวัสดิ์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน แสดงความเห็นว่า การประมูลคลื่นความถี่ครั้งล่าสุด อาจไม่สามารถเรียกว่าเป็น “การประมูล” ได้อย่างเต็มปาก เพราะขาดเงื่อนไขและกลไกที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง จนคล้ายกับเป็นเพียงการตกลงแบ่งทรัพยากรกันระหว่างผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย โดยที่ กสทช. ซึ่งควรมีบทบาทส่งเสริมการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม กลับไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าว

พร้อมตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม ถึงเรื่องระยะเวลาในการประกาศจัดประมูลที่สั้นเกินไป โดย กสทช. เปิดเผยข้อมูลเพียง 30 วันล่วงหน้า ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานการจัดประมูลในระดับสากล ที่มักใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปเพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่เตรียมความพร้อม ทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และแผนธุรกิจ ขณะเดียวกันการ ประมูลคลื่น ครั้งนี้ก็ไม่มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเปิดให้มีการแข่งขันในตลาดสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เช่น การสนับสนุน MVNO เข้าสู่ระบบ ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามว่าการประมูลครั้งนี้เป็นเพียง “พิธีกรรม” เพื่อเปิดทางให้เอกชนรายเดิมเข้ามาจัดสรรคลื่นกันอย่างไร้แรงต้านหรือไม่

“บทบาทของ กสทช. ในครั้งนี้มีเพียงการจัดให้มีการประมูล แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะองค์กรกำกับดูแลที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนในกิจการโทรคมนาคมของประเทศอย่างแท้จริง” โฆษก กมธ.ฯ ระบุ

เสนอ ออกมาตรการ – ปรับแนวทาง ประมูลคลื่น ใหม่

เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พนิดา มีความเห็นว่า สิ่งที่ทำได้ทันทีคือการประกาศเรื่องผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งการที่ กสทช. ยังไม่ดำเนินการดังกล่าวสะท้อนถึงการขาดประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ของ กสทช. ทั้งที่มีกฎหมาย ประกาศฉบับต่าง ๆ ของ กสทช. ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับดูแล เช่น ประกาศเรื่องมาตรการการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม (ปี 2561) และประกาศเรื่องมาตรการป้องกันการผูกขาดหรือความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน (ปี 2549) รวมถึงประกาศหลักเกณฑ์การกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาด (ปี 2552) ยังไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัย ทั้งที่โลกโทรคมนาคมพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก

พนิดา กล่าวว่า กมธ.ฯ จะร่วมกับภาคประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ เช่น สภาผู้บริโภค ผลักดันข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมต่อสาธารณะ และเป็นการกดดันให้ กสทช. ทำงานตามบทบาทและใช้เครื่องมือที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

โฆษกกมธ.ฯ เสนออีกว่าแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ในรูปแบบ “บิวตี้คอนเทสต์” (Beauty Contest) ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้ในหลายประเทศ โดยหน่วยงานกำกับดูแลเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเสนอแผนประโยชน์สาธารณะที่ชัดเจน ทั้งเป็นการควบคุมราคา การกำหนดค่าบริการต่อนาที การออกโปรโมชั่น หรือการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากนั้นจึงพิจารณาว่าแผนของผู้ใดสร้างประโยชน์ให้ประชาชนได้มากที่สุด “เพราะการพิจารณาไม่ควรยึดเพียงราคา แต่ควรมองถึงผลตอบแทนเชิงสังคมที่ประชาชนจะได้รับ”

นอกจากนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โมเดลการกำกับกิจการโทรคมนาคมของไทย ยังมีความแตกต่างจากในหลายประเทศ ที่ส่วนใหญ่รัฐเป็นเจ้าของโครงข่ายและจัดสรรคลื่นด้วยตนเอง จากนั้นจึงให้เอกชนเช่าหรือประมูลเฉพาะสิทธิใช้งาน แตกต่างจากประเทศไทยที่รัฐปล่อยให้เอกชนถือครองทั้งโครงข่ายและคลื่นความถี่ ซึ่งควรเปิดให้มีวงพูดคุยเชิงนโยบาย เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย

“ทุกวันนี้ตลาดโทรคมนาคมยังไม่มีการประกาศผู้มีอำนาจเหนือตลาดจริงจังด้วยซ้ำ ซึ่งแสดงว่า กสทช. ไม่ได้ใช้กฎหมายเพื่อป้องกันสิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ หากมีการจัดกิจกรรมเพื่อชวนผู้สนใจและผู้มีความรู้ความสามารถมาร่วมกันคิดหาข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมและผลักดันประเด็นนี้ไปด้วยกัน ก็อาจนำไปสู่การได้กฎหมายใหม่และการปฏิรูปวงการโทรคมนาคมของประเทศให้มั่นคง ยั่งยืน และเกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง” โฆษก กมธ.ฯ กล่าว

ถึงเวลาปฏิรูปโครงสร้างโทรคมนาคมเพื่อประชาชน

ท้ายที่สุด นางสาวพนิดา กล่าวถึงบทบาทของประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเสนอให้เริ่มจากการระดมความคิดเห็น กำหนดเป้าหมายร่วมกัน และขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยเฉพาะโมเดลที่รัฐเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคม และให้เอกชนเข้ามาเช่าใช้คลื่นความถี่หรือโครงสร้างพื้นฐาน แทนที่จะปล่อยให้เอกชนถือครองทั้งระบบ ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดโดยไม่ตั้งใจ

“หากเป็นไปได้ เราควรยุบ กสทช. และเริ่มต้นระบบใหม่ทั้งหมดหรือไม่ เพื่อสร้างระบบที่แข่งขันเสรี โปร่งใส และยั่งยืนอย่างแท้จริง” เธอตั้งคำถามสะท้อนถึงความสิ้นศรัทธาในกระบวนการทำงานของ กสทช.

โฆษก กมธ.ฯ อธิบายว่า ความเข้าใจของสาธารณะในเรื่องคลื่นความถี่และโครงสร้างโทรคมนาคม ยังถือเป็นเรื่องท้าทาย เพราะมีความซับซ้อนทางเทคนิคสูง อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในหลากหลายภาคส่วนที่พร้อมร่วมกันคิด เสนอทางออก และสื่อสารเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น

กล่าวโดยสรุป นางสาวพนิดา เห็นว่าการ ประมูลคลื่น ในครั้งนี้ เป็นภาพสะท้อนของปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบกำกับดูแลโทรคมนาคม ที่จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักอย่างแท้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสทช.ประมูลคลื่นฉลุย! True ซิว 2 ย่าน AIS ได้แค่หนึ่ง

ย้อนไทม์ไลน์ข้อเรียกร้องสภาผู้บริโภค ชะลอประมูลคลื่นฯ

เสียงสะท้อนหลัง ประมูลคลื่น : เอกชนได้กำไร ประชาชนได้อะไร?