
เตือนภัย อาหารเสริมบำรุงสายตา โฆษณาเกินจริง 14 รายการ จาก 22 รายการ ยังวางจำหน่าย แม้เคยถูกดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ชี้ ช่องโหว่กฎหมาย ไม่เข้มงวดพอจะปกป้องผู้บริโภค
สภาผู้บริโภคร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ติดตามผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสายตาที่โฆษณาเกินจริงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ คณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยฯ ได้ส่งรายชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงดวงตาที่เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง จำนวน 22 รายการ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกฎหมาย
ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลล่าสุด วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 บนช่องทางออนไลน์ พบว่า ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสายตาหลายรายการที่ถูก อย. สั่งให้ระงับการโฆษณา ดำเนินคดี หรือแม้กระทั่งขอให้ยกเลิกเลขสารบบไปแล้ว แต่ยังคงปรากฏให้เห็นและมีการจำหน่ายอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงและยังคงมีขายอย่างแพร่หลายคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการ “บำรุงสายตา” หรือ “แก้ปัญหาสายตา” ซึ่งดึงดูดผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาดวงตา จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ 22 รายการ พบว่า มีถึง 14 รายการ ผลิตภัณฑ์ที่แม้จะเคยถูก อย. ดำเนินการแล้ว แต่ก็ยังสามารถหาซื้อได้ทางออนไลน์ ได้แก่
รายชื่ออาหารเสริมบำรุงสายตา โฆษณาเกินจริง
- ZEE D
- GEL-VIS (GEL PLUS VIS)
- ยาย่า บริ้ง (YaYa Blink)
- Optrix
- Omins
- L ZE Vit
- Saffron E
- Boom IZ
- Oclarizin
- Macunox
- Phairada
- BETA E
- MMC LUTEIN
- อาโมนิ ลูทีน














การที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังคงปรากฏและจำหน่ายบนโลกออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการบังคับใช้กฎหมาย หากหน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง คาดว่าจะช่วยลดปัญหาผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายในท้องตลาดและในออนไลน์ได้
แต่ปัจจุบันพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีการโฆษณาเกินจริงอย่างแพร่หลายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มข้นมากพอ และหากผู้บริโภคหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อาจทำให้สูญเสียเงินโดยไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
กรณีดังกล่าวนั้น สภาผู้บริโภค เคยมีข้อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อยกระดับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคที่การซื้อขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในออนไลน์ มีความเสี่ยงโฆษณาเกินจริงที่ยังพบได้ต่อเนื่อง โดย เรียกร้องให้ อย. เร่งดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ API กับแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมดำเนินการประเด็นสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่
1.แสดงเลข อย. ให้ตรวจสอบได้จริง – สินค้าประเภทอาหาร ยา เครื่องสำอาง และสมุนไพรทุกชนิดที่วางจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม ต้องแสดงเลข อย. อย่างชัดเจน และเมื่อระบบเชื่อมต่อ API แล้ว ต้องสามารถตรวจสอบความถูกต้องของเลข อย. ได้แบบเรียลไทม์
2.ใช้ AI ตรวจโฆษณา – เสนอให้ อย. พัฒนาและใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจสอบข้อความโฆษณาบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อสกัดโฆษณาหลอกลวงและโอ้อวดเกินจริง ซึ่งเป็นภัยซ่อนเร้นต่อผู้บริโภค
3.ประกาศเตือนผ่านแบนเนอร์ – หากมีผลิตภัณฑ์ที่ อย. ประกาศว่าเป็นสินค้าผิดกฎหมายหรือถูกยกเลิกการอนุญาตแล้ว ควรมีแบนเนอร์เตือนบนหน้าแพลตฟอร์ม พร้อมลิงก์เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ อย. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว และตัดสินใจได้อย่างปลอดภัย
นอกจากข้อเสนอเชิงระบบแล้ว สภาผู้บริโภค ยังได้แนะนำแนวทางสำหรับการกำกับดูแลแพลตฟอร์มและร้านค้าออนไลน์ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดังนี้
1.ลบลิงก์ทันที – ขึ้นแบล็กลิสต์ร้านกระทำผิดซ้ำ – หากตรวจพบสินค้าผิดกฎหมาย แพลตฟอร์มต้องลบลิงก์ทันที และหากพบว่าร้านค้าหรือบุคคลเดิมกระทำผิดซ้ำ ควรถูกขึ้นบัญชีดำ ทั้งในชื่อร้านค้า ชื่อผู้จดแจ้ง บัญชีธนาคาร และเลขบัตรประชาชน เพื่อป้องกันการวนกลับมาเปิดร้านใหม่ภายใต้ชื่ออื่น
2.แพลตฟอร์มละเลย ต้องใช้กฎหมายร่วมจัดการ – หากแพลตฟอร์มเพิกเฉยต่อความปลอดภัยผู้บริโภค หน่วยงานกำกับดูแลควรใช้อำนาจตามกฎหมายทันที พร้อมพิจารณาโทษร่วมกับกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (กรณีโฆษณาอันเป็นเท็จ) หรือ พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ (กรณีร้านค้าไม่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
3.หากหน่วยงานกำกับไม่ดำเนินการ ถือว่า “ละเลยหน้าที่” – ในกรณีที่หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลละเลย ไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อผู้กระทำผิด อาจเข้าข่าย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
สำหรับผู้บริโภคการรู้เท่าทันและป้องกันตัวเองจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง อาหารเสริมไม่ใช่ยา ไม่สามารถรักษาโรคหรือมีผลต่อโครงสร้างการทำงานของร่างกายที่ชัดเจนได้ และหากมีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ก่อนซื้อ ควรตรวจสอบเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) บนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ได้รับการขึ้นทะเบียนจริง และดูว่ามีการแจ้งยกเลิกไปแล้วหรือไม่ และควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย
หากผู้บริโภคได้รับปัญหาด้านสุขภาพจากอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สามารถติดต่อไปที่สายด่วนของ อย. ที่เบอร์ 1556 และหากที่ไม่รับความเป็นธรรมหรือหากไม่มีความคืบหน้า สามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค ได้ที่เบอร์ 1502 หรือช่องทางออนไลน์ https://complaint.tcc.or.th/complaint