Getting your Trinity Audio player ready... |

ฤดูกาล ‘องุ่นไชน์มัสแคท’ หวนกลับมา เตือนผลสุ่มตรวจสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ควรเป็นอุทาหรณ์ สภาผู้บริโภคชง 4 ข้อเสนอ ยกระดับอาหารปลอดภัย ให้กับผู้บริโภค
สารพิษตกค้างในผักผลไม้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมาโดยตลอด ยิ่งเมื่อประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ฤดูกาลนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทอีกครั้ง นอกจากจะเป็นผลไม้นำเข้าที่ได้รับความนิยมสูง แต่ก็มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่ไม่อาจมองข้าม
บทเรียนสำคัญที่ต้องไม่ลืมเมื่อปี 2567 จากการสุ่มตรวจโดยภาคประชาชน เผยให้เห็นถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยที่ยังมีอยู่ โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทจากทั้งในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ รถเร่ แผงข้างทางและร้านค้าออนไลน์ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล
ผลการตรวจวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า 95.8% ของตัวอย่างมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL (Maximum Residue Limit) ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือ ในบางตัวอย่างยังพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ประเทศไทยประกาศแบนแล้ว เช่น คลอร์ไพริฟอส ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างรุนแรง
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับมาตรการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าผักผลไม้ที่บริโภคในชีวิตประจำวันนั้นปลอดภัยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในช่วงที่ผลไม้นำเข้าอย่างองุ่นไชน์มัสแคทกำลังจะหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง
รัฐ-เอกชน ยกระดับความปลอดภัยองุ่นไชน์มัสแคท
ผลการสุ่มตรวจเบื้องต้นในปีที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การหารือและสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักและผลไม้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยง พร้อมทั้งพิจารณาทบทวนข้อจำกัดของมาตรการตรวจสอบสินค้าที่ด่านนำเข้า เพื่อให้การควบคุมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สภาผู้บริโภค ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการยกระดับความปลอดภัยในห่วงโซ่การผลิต โดยผู้ประกอบการได้นำเสนอแนวทางการควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างเป็นระบบ
ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสอบแหล่งที่มา การอบรมเกษตรกร ณ พื้นที่ต้นทาง การสุ่มตรวจสารพิษตกค้างตลอดกระบวนการ ไปจนถึงการจัดการฉลากสินค้าให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง และจะดำเนินการทำลายทิ้งทั้งหมดหากพบว่า องุ่นไชน์มัสแคทที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่อาจเป็นอันตรายเข้าสู่มือผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคเห็นว่า ควรมีมาตรการเรียกคืนสินค้า (Recall) จากผู้บริโภคเพิ่มเติมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่มีความเสี่ยงหลุดไปถึงมือผู้บริโภครายอื่น พร้อมมีแนวทางชดเชยเยียวยาผู้บริโภคที่ได้ซื้อสินค้าไปแล้วด้วย
ข้อเสนอสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืน
ทั้งนี้มาตรการด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคทข้างต้น ถือเป็นก้าวแรกที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภค แต่เพื่อให้ระบบอาหารของประเทศไทย มีความปลอดภัยและยั่งยืนอย่างแท้จริง สภาผู้บริโภค จึงมีเสนอข้อเสนอเพิ่มเติม 4 ข้อ ดังนี้
1. พัฒนามาตรการควบคุมคุณภาพ (Quality Assurance) และระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ให้ครอบคลุมผักผลไม้ทุกชนิด: เสนอให้ผู้ประกอบการดำเนินการควบคุมคุณภาพสินค้าในทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงหน้าร้าน พร้อมทั้งพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้สามารถติดตามแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตได้อย่างครบถ้วน หากเกิดปัญหา จะสามารถระบุต้นเหตุและดำเนินการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว โดยมาตรการนี้ควรครอบคลุมผักผลไม้ทุกชนิด ไม่จำกัดเฉพาะองุ่นไชน์มัสแคท และควรรวมถึงทั้งผักผลไม้ที่ปลูกในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
2. กำหนดให้แสดงหนังสือรับรองผลการตรวจวิเคราะห์ในทุกผักผลไม้ทุกรายการ: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรกำหนดให้ผู้นำเข้าผักผลไม้ต้องแสดงหนังสือรับรองผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตร (Certificate of Analysis: COA) ทุกรายการ ไม่จำกัดเฉพาะรายการที่จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงมาก (Very high risk) หรือความเสี่ยงสูง (High risk) เท่านั้น มาตรการนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าผักผลไม้ที่นำเข้าทุกชนิดปลอดภัยตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังช่วยให้กระบวนการตรวจสอบ ณ จุดนำเข้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. สนับสนุนระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย (Rapid Alert System) ระดับประเทศ: หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการควรมีบทบาทร่วมกันในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ โดยระบบที่เปิดให้ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม จะช่วยให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ปัจจุบันเครือข่าย Thai-PAN อยู่ระหว่างพัฒนาระบบที่ยึดแนวทางของระบบ Rapid Alert System for Food and Feed (RASFF) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามารายงานมาตรการจัดการผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยได้ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าในตลาดให้กับผู้บริโภค
4. พัฒนาระบบเรียกคืนสินค้าจากผู้บริโภค (Product Recall) กรณีพบสารพิษตกค้าง: นอกจากมาตรการเก็บสินค้าที่มีปัญหาออกจากชั้นวาง (Withdrawal) แล้ว ผู้ประกอบการควรมีระบบเรียกคืนสินค้า (Product Recall) ที่มีประสิทธิภาะ หากตรวจพบสารพิษตกค้าง ผู้ประกอบการควรมีแผนรับมือที่ชัดเจนและดำเนินการเรียกคืนอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งแจ้งเตือนผู้บริโภคผ่านช่องทางต่างๆ และพิจารณามาตรการเยียวยาหรือชดเชยความเสียหายแก่ผู้บริโภคอย่างเหมาะสม
แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาจากทุกฝ่าย แต่บทเรียนขององุ่นไชน์มัสแคทในปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องเตือนใจว่าระบบความปลอดภัยอาหารของไทยยังมีช่องโหว่สำคัญอยู่มาก และไม่ควรเป็นเพียงข่าวที่ผ่านไปในฤดูกาลผลไม้นำเข้า แต่ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า ทุกคำที่กิน คือความปลอดภัย ไม่ใช่ความเสี่ยงที่ต้องลุ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง