โรงงานศูนย์เหรียญ โรงงานเถื่อน ภัยเงียบในชุมชน

Getting your Trinity Audio player ready...
โรงงานศูนย์เหรียญ โรงงานเถื่อน ภัยเงียบในชุมชน

300 โรงงานเถื่อน แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

ภายในเวลาเพียง 3 เดือน ทีมสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าตรวจค้นโรงงานเถื่อนและโกดังแปรรูปวัสดุผิดกฎหมายกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานฟอกฝุ่นแดงที่แอบลักลอบรีไซเคิลแร่โลหะโดยไม่ผ่านระบบบำบัด โรงงานเผายางเก่าแบบผิดหลักสุขาภิบาลโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงโกดังที่แจก “ดินผสมขยะพิษ” ให้เกษตรกรนำไปใช้โดยไม่รู้ต้นตอ

ยิ่งกว่านั้น หนึ่งในกรณีที่ตรวจพบ เป็น “โรงงานศูนย์เหรียญ” ที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อส่งออก และก่อมลพิษ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งโรงงานแห่งนี้แอบตั้งอยู่กลางชุมชน ลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาคัดแยกและรีไซเคิล โดยไม่มีใบอนุญาต ไม่มีระบบบำบัดสารพิษ ทั้งยังปล่อยน้ำเสียและฝุ่นโลหะหนักลงสู่พื้นที่รอบข้างเป็นเวลานานนับปี ที่น่ากังวล คือโรงหลอมและโรงงานคัดแขกขยะรีไซเคิลเหล่านี้กำลังกระจายตัวไปทั่วภาคตะวันออกของไทย และกฎหมายเปิดช่องให้ตั้งโรงงานได้ในชุมชน

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการจ้างแรงงานต่างด้าวราคาถูกให้ทำงานในสภาพแวดล้อมเสี่ยงอันตราย โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใด ๆ ทั้งยังพบหลักฐานการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศโดยหลีกเลี่ยงภาษี สะท้อนให้เห็นว่าโรงงานศูนย์เหรียญไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่เป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมเถื่อนที่มีโครงสร้างซับซ้อน ที่แสวงหาผลกำไรบนความเสี่ยงของประชาชน

เมื่อ โรงงานเถื่อน กลายเป็นภัยสุขภาพ

โรงงานเถื่อนเหล่านี้ ถือเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ ทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง เช่น

  • มลพิษทางอากาศ: ฝุ่นจากโลหะหนัก และเขม่าควันจากการเผาไหม้ทำให้หลายครอบครัวเกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
  • มลพิษทางดินและน้ำ: ขยะรีไซเคิลที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี กลายเป็นสารพิษตกค้างในผืนดินและแหล่งน้ำ
  • ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: ราคาที่ดินรอบพื้นที่โรงงานลดลง ชาวบ้านหลายคนต้องย้ายถิ่นฐานหนีมลพิษ โดยไม่มีการเยียวยาที่ชัดเจน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง ทั้งฝุ่นโลหะและมลพิษจากการรีไซเคิล ก่อให้เกิดมีสารพิษสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดภาะด้านการรักษาพยาบาลในระยะยาว ยิ่งกว่านั้น โรงงานเถื่อนเหล่านี้ยังสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบกำกับดูแลที่ยังมีช่องโหว่ให้ผู้ประกอบการแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่สนผลกระทบต่อชุมชน

รัฐลุยเข้ม…แต่พอหรือยัง?

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ใช้มาตรการเชิงรุก ด้วยการตั้ง “ทีมสุดซอย” ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศ พร้อมทั้งอายัดของกลางอย่างกากแร่และวัตถุอันตรายหลายร้อยตัน อย่างไรก็ตาม คำถามคือ การจัดการเชิงลึกเกิดขึ้นแล้วหรือยัง? หรือเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า?

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามยกระดับระบบตรวจสอบด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบ “มอก.วอทช์” เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และเชื่อมโยงกับทุนศูนย์เหรียญ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่ไร้การตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ก็ยังคงมีโรงงานเถื่อนเกิดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วใครจะปกป้องผู้บริโภค

สภาผู้บริโภค เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทในการดูแลผู้บริโภค ที่ยึดหลักการสำคัญ คือผู้บริโภคต้องมีสิทธิในการดำรงชีวิตภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย ซึ่งในกรณีโรงงานศูนย์เหรียญ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิต

เปิดช่องร้องเรียนภัยโรงงานผิดกฎหมาย

ภัยจากโรงงานเถื่อน ถือเป็นภัยเงียบที่สร้างความเสียหายเรื้อรังในหลายชุมชนทั่วประเทศ หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหานี้จะไม่มีวันหมดไป ผู้บริโภคคนใดได้รับผลกระทบจากโรงงานผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการเก็บหลักฐานเพื่อร้องเรียน ดังต่อไปนี้

1. หากมีปัญหาระบบทางเดินหายใจให้รีบพบแพทย์ พร้อมขอใบรับรองแพทย์เพื่อเป็นหลักฐาน

2. แสดงหลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นผู้อยู่อาศัยในที่เกิดเหตุ เช่น ภาพถ่ายที่อยู่อาศัยใกล้โรงงาน

3. หากได้รับผลกระทบถึงขั้นต้องย้ายที่อยู่อาศัยชั่วคราว ให้เก็บหลักฐานค่าใช้จ่าย เช่น ใบเสร็จค่าที่พัก

4. ลงบันทึกประจำวันกับสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อยืนยันว่าได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ สามารถร้องเรียนเข้ามาที่สภาผู้บริโภค เพื่อประสานเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาและปกป้องสิทธิของผู้บริโภค หรือร้องเรียนผ่าน

  • เว็บไซต์ www.tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) ​: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โรงงานเถื่อนสะเทือน! แจ้งอุตฯ ดันปิดไปแล้วกว่า 300 แห่งใน 3 เดือน”