โดน ‘แอร์เจแปน‘ เท
ตั๋ว-รถ-โรงแรม ต้องชดใช้

สภาผู้บริโภค ระบุ ผู้เสียหายสายการบินแอร์เจแปน ยกเลิกเที่ยวบินกะทันหัน ขอเงินชดเชยค่าจองที่พัก-ตั๋วรถไฟ-ที่ท่องเที่ยวได้ ชี้ หากได้เงินคืนค่าตั๋วโดยสารไม่ตามกำหนดใช้สิทธิร้องเรียนได้ทันที และเรียกร้องการบินพลเรือนออกกฎหมายปิดช่องว่างผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินระหว่างประเทศ

จากกรณีข่าวสายการบินแอร์เจแปน (Air Japan) ยกเลิกเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ – โตเกียว กะทันหัน หลังประกาศล่าช้ามากว่า 3 ชั่วโมง เนื่องจากเหตุผลด้านการบำรุงรักษา โดยสายการบินได้ส่งอีเมลแจ้งคืนเงินให้กับผู้โดยสารภายใน 3 – 4 วันนั้น

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางตามกำหนดการเดิม จนกระทั่งไม่สามารถเข้าพักในโรงแรม ที่พัก หรือเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้ ดังนั้น สายการบินจะต้องชดเชยเยียวยาค่าเสียโอกาส ค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคได้สำรองจ่ายไปก่อนให้กับผู้โดยสาร นอกจากการคืนเงินค่าโดยสารเพียงอย่างเดียว เนื่องจากสายการบินผิดสัญญาตามที่ระบุไว้ในการจองตั๋วโดยสาร คือ ‘สายการบินต้องจัดส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้’

อีกทั้งการที่แจ้งสาเหตุว่าเครื่องบินมีอุปกรณ์ขัดข้องนั้น เมื่อสายการบินทราบจะต้องบริหารจัดการเพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิ การนำเครื่องบินลำอื่นมารับ การถ่ายโอนผู้โดยสารให้กับสายการบินอื่น เป็นต้น

นอกจากนี้ ไม่ว่าผู้โดยสารจะซื้อตั๋วโดยสารผ่านช่องทางหรือตัวแทนจำหน่ายใด สายการบินจะต้องรับผิดชอบติดต่อตัวจำหน่ายและคืนเงินให้ผู้โดยสาร เนื่องจากเป็นความผิดของสายการบินที่ทำให้ผู้โดยสารเดินทางไม่ได้และมีการยกเลิกเที่ยวบินกะทันหันไม่แจ้งล่วงหน้า อีกทั้งการแจ้งที่ล่าช้าทำให้ผู้โดยสารเสียโอกาสในหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางไปสนามบิน การจองที่พักต่าง ๆ ดังนั้น ผู้โดยสารมีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้และสายการบินจะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

“เบื้องต้นผู้โดยสารที่จองที่พักหรือจ่ายเงินเพื่อจองสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ไว้ สามารถติดต่อไปเพื่อแจ้งสาเหตุที่ขอยกเลิกได้ ซึ่งหากที่พักหรือสถานที่ต่าง ๆ ไม่คืนเงินให้ ผู้โดยสารสามารถเรียกร้องให้สายการบินชดเชยเยียวยาได้ อาจแจ้งไปที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือสภาผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยเหลือได้” โสภณ ระบุ

ปัจจุบันมีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการการยกเลิกเที่ยวบินของสายการบินดังกล่าวเข้ามาร้องเรียนที่สภาผู้บริโภคจำนวน 4 ราย โดยสามารถคิดมูลค่าความเสียหายเป็น 468,312 บาท ซึ่งสภาผู้บริโภคจะทำหนังสือถึงสายการบินทำหนังสือถึงสายการบิน และ กพท. เพื่อขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายและดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการออกมาตรการหรือกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เดินทางกับสายการบิน โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเข้ามากำกับดูแลหรือควบคุม

โสภณ กล่าวอีกว่า ในขั้นตอนการออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) กพท.จะต้องตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลของผู้ขอใบอนุญาตให้แน่ชัดเพื่อยืนยันข้อมูลก่อนออกใบอนุญาต โดยเฉพาะจำนวนของเครื่องบินที่ต้องให้บริการได้จริงหรือไม่ อีกทั้งต้องกำหนดว่า สายการบินใดก็ตามที่ให้บริการในประเทศไทยจะต้องจัดและบริหารจำนวนเครื่องบินให้เพียงพอเพื่อให้รองรับกับจำนวนผู้โดยสาร รวมถึงการห้ามรับผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนเครื่องบินที่มี นอกจากนี้ กพท.จะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับสายการบินดังกล่าวร่วมด้วยหากพบว่าไม่เป็นไปตามที่ขออนุญาต เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏในข่าวระบุว่ามีเครื่องบินให้บริการเพียง 1 ลำจริง แต่ขณะขอใบอนุญาตทำการบินกลับแจ้งว่ามีจำนวน 6 ลำ

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ที่ทำให้สายการบินช่าช้า ยกเลิกเที่ยวบิน จนทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สภาผู้บริโภคจึงได้ส่งข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินในเส้นทางการบินระหว่างประเทศถึง กพท. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 โดย 1. ขอให้ออกประกาศคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางการบินระหว่างประเทศเพิ่มเติมจากที่มีการคุ้มครองสิทธิเฉพาะเส้นทางการบินภายในประเทศเท่านั้น 2. ออกมาตรการชดเชยต่อผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบกรณีที่ยกเลิกเที่ยวบิน และการรวมเที่ยวบิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19

3. ขอให้ขยายสิทธิจากเดิม กรณีสายการบินไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หากแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นไม่น้อยกว่า 7 วัน เนื่องจากการเดินทางไปต่างประเทศ มีขั้นตอนการทำเอกสารต่าง ๆ มากกว่าการเดินทางภายในประเทศ และ 4. สร้างการรับรู้และความเข้าใจในบทบาทของ กพท. ต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารให้มากขึ้น และควรจัดการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขประกาศสายการบินต่อการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ แนวทางในการจัดการเชิงนโยบาย และสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกันกับภาคประชาชน

อย่างไรก็ตามปัจจุบันทราบความคืบหน้าว่า กพท. อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ซึ่งสภาผู้บริโภคจะติดตามความคืบหน้าของข้อเสนอดังกล่าวต่อไป

สำหรับผู้บริโภคที่จองตั๋วโดยสารกับสายบินดังกล่าวและพบว่าสายการบินไม่คืนเงินภายในวันที่กำหนดไว้ สามารถรวบรวมหลักฐาน ได้แก่ หลักฐานการจองตั๋วโดยสาร ใบเสร็จรับเงิน ข้อความสนทนาผ่านอีเมล รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ และสามารถร้องเรียนไปที่หน่วยงานภาครัฐอย่าง สคบ. ที่เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th/ หรือ กพท. ที่เว็บไซต์ https://portal.caat.or.th/complaint/index.php

หรือสามารถร้องเรียนออนไลน์มาที่สภาผู้บริโภค ผ่านเว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/ หรือโทรศัพท์เพื่อขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนได้ที่เบอร์ 1502 ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค