ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ประจำเดือนเมษายน 2567

Getting your Trinity Audio player ready...

อนุบริการสาธารณะ พลังงานฯ เตรียมจัดทำความเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เสนอต่อ สนพ. กระทรวงพลังงาน เน้นผู้เชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และสภาผู้บริโภคมีส่วนร่วม

ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภคเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญต่อการใช้อำนาจของรัฐบาลผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนพลังงานด้านต่างๆของประเทศ จึงเห็นควรที่คณะอนุกรรมจะได้พิจารณาและให้ความเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้

ดังนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2567 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 4/2567 ซึ่งมี ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมนโยบายผู้เชี่ยวชาญ เป็นประธานในที่ประชุม จึงได้เชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ได้ให้ข้อมูลสรุปใจความสำคัญได้ว่า กพช. เกิดขึ้นภายหลังจากการมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจการพลังงานไฟฟ้า และก่อนที่จะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีหน้าที่เป็นผู้กำกับกิจการพลังงานไฟฟ้า (Regulator) โดย กพช. มีบทบาทเป็นผู้มีกำหนดนโยบายพลังงาน (Policymaker) โดยที่โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยยังเป็นโครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจ มีเพียง กฟผ. เป็นผู้ผลิต ขณะที่มีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้จำหน่าย ซึ่งผู้ประกอบการเอกชนจะถูกบังคับขายไฟฟ้าให้กับรัฐ ขณะที่ในปัจจุบันโครงสร้างกิจการไฟฟ้ามีความเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร การมีผู้กำหนดนโยบายในรูปแบบเดิมจึงอาจมีความไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีองค์ประกอบอื่น ๆ มาจากรัฐมนตรี (ข้าราชการการเมือง) และข้าราชการประจำ ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง (Focal point) ในการดำเนินงานข้ามกระทรวง ซึ่งเป็นหลักคิดเดียวกันกับกฎหมายอื่น ๆ อีกจำนวนมากของประเทศ เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายพลังงาน ที่เป็นอิสระและมีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานโดยเฉพาะ เนื่องจาก “โจทย์” หรือ “ความท้าท้าย” ด้านสิ่งแวดล้อม นั้นมีความ “ยาก” และเป็นพลวัตร ดังนั้น กพช. จึงควรเน้นที่ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานโดยมองภาพพลังงานอย่างรอบด้านมีลักษณะเป็นคณะกรรมการในการระดมทางความคิด(Think tank) ไม่ควร “เทอะทะ” จนเกินไป ประเด็นความเป็นกลางและอิสระเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าการกำหนดและใช้นโยบายพลังงานอาจส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ดังนั้นจุดที่สร้างนโยบายขึ้นมาควรเป็นการสร้างโดยความเชี่ยวชาญที่แท้จริง และควรมีภาคเอกชนและประชาสังคมเข้าไปถ่วงดุลน้ำหนัก ไม่ควรใช้การสั่งการแบบบนลงล่าง (Top-Down) เช่นในปัจจุบัน  หลังรับฟังข้อมูลแล้วคณะอนุกรรมการฯ จึงมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำร่างความเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ภายในวันที่ 23 เมษายน 2567 โดยให้นำข้อคิดเห็นที่ประชุมไปประกอบการดำเนินการด้วย