ระดมสมองปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ

สภาผู้บริโภคชวนองค์กรสมาชิกระดมสมองปรับแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ให้ทันสมัย คุ้มครองผู้บริโภคได้จริงในยุคดิจิทัล

สมาชิกสภาผู้บริโภคกว่า 400 คนจาก 319 องค์กรทั่วประเทศได้มีฉันทามติร่วมกันว่าสิทธิผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่มีอยู่ 5 ข้อนั้นไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองผู้บริโภคในยุคที่เทคโนโลยีออนไลน์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นมีขึ้นระหว่างการประชุมย่อยในหัวข้อ “ข้อเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานวันสิทธิผู้บริโภคสากล ปี 2567 ที่สภาผู้บริโภคจัดขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม 2567

ที่พร้อมกันนั้นได้มีการร่วมกันเสนอเพิ่มสิทธิผู้บริโภคเป็นทั้งหมด 10 ข้อที่ได้รวมสิทธิในการบริโภคที่ยั่งยืนและการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย สิทธิที่จะรวมกันจัดตั้งการรวมกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคหรือต่อต้านการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมทางการค้า สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองความเป็นส่วนตัว สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ทั้งนี้ ได้มีการเสนอการปรับแก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง และให้เพิ่มอำนาจองค์กรผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้

อย่างไรก็ตาม แม้มีการตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิบางข้อจะถูกระบุไว้ในกฎหมายอื่นหรือถูกรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญบ้างแล้ว แต่เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และเข้าใจตรงกันว่าสิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิของผู้บริโภค จึงต้องกำหนดไว้ให้เห็นชัดใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ซึ่งถือเป็นกฎหมายกลางในการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ เพื่อตอกย้ำว่าสิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิผู้บริโภค

การผลักดันให้เกิดการปรับแก้ไขกฎหมายกลางสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคนี้เนื่องจากการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยที่พบว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ซึ่งในขณะนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นประเทศแรก ๆ ที่ผลักดันให้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสำเร็จขึ้นได้ แต่ในปัจจุบันที่รูปแบบการบริโภคสินค้าหรือบริการปรับเปลี่ยนไปอย่างมากจนทำให้ผู้บริโภคถูกละเมิด ถูกเอาเปรียบและได้รับความเสียหายจำนวนมาก กฎหมายดังกล่าวจึงเกิดความล้าสมัย ไม่ทันกับสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

สมาชิกองค์กรเครือข่ายสภาผู้บริโภคจึงมีความคิดเห็นร่วมกันว่าถึงเวลาต้องปรับแก้ไขกฎหมายข้างต้นเพื่อทำให้เกิดการบังคับใช้ได้จริง โดยประเด็นหลัก ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนเพื่อระดมความคิดในการปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มีดังนี้

สิทธิผู้บริโภคไทยต้องเท่าเทียมกับสากล

ใน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ได้กำหนดว่าผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองดังนี้ :
“1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ โดยไม่เป็นธรรม
2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย”

สภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายเสนอให้มีการปรับปรุง โดยเพิ่มสิทธิตามกฏหมายเป็น 10 ข้อ ดังนี้ :

1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ

2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ

3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ

4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา

5. สิทธิที่จะได้รับความรู้เพื่อการบริโภคอย่างเท่าทัน และได้รับการศึกษาเพื่อการดำเนินชีวิตในฐานะผู้บริโภค

6. สิทธิที่จะได้รับการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน และการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย

7. สิทธิที่จะรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค องค์กร สมาคม หรือมูลนิธิ ที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือต่อต้านการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมทางการค้า

8. สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองความเป็นส่วนตัว และข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค

9. สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

10. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

จะเห็นได้ว่า การเพิ่มสิทธิในการคุ้มครองผู้บริโภคไทยเป็น 10 ข้อ จะทำให้เกิดการครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคเทียบเท่ากับระดับการคุ้มครองผู้บริโภคสากล ที่นานาอารยะประเทศได้ปรับใช้

แก้ไข ข้อกำหนดหน้าที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

หน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่าให้คณะกรรมการผู้บริโภค มีใจความดังนี้

“พิจารณาเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย ฟ้องคดี พัฒนา สนับสนุนงานคุ้มครองผู้บริโภค ให้คำปรึกษากับคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ออกระเบียบ รับรองสมาคมและมูลนิธิตามมาตรา 40 ในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ”

สภาผู้บริโภคเสนอปรับแก้ไข ดังนี้ :

          เสนอให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ออกนโยบายและการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และนำส่วนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แทน เพื่อให้การแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภครวดเร็วขึ้น

การเสนอปรับแก้ไขอำนาจคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเกิดจากสาเหตุที่ปัญหาของผู้บริโภคที่ปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการละเมิด การเอาเปรียบผู้บริโภคที่เกิดขึ้นตลอดเวลาทุกวินาที แต่เมื่ออำนาจการพิจารณาเรื่องร้องเรียนอยู่กับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้าราชการระดับผู้บริหารที่มีภารกิจจำนวนมาก อาจทำให้การนัดประชุมเกิดความล่าช้าขึ้นได้และทำให้เรื่องร้องเรียนกระจุกเป็นคอขวด ไม่ถูกแก้ไข จนทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคล่าช้า ดังนั้นสภาผู้บริโภคจึงได้ปรับอำนาจของคณะกรรมการฯ คงเหลือไว้เพียงการออกนโยบายที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคและการพิจารณาในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง และให้อำนาจกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สำนักงาน สคบ.) ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคแทนจะทำให้เกิดความคล่องตัวมากกว่า

แก้ไขคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง

ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ได้กำหนดเรื่องคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง มีใจความดังนี้ :

หน้าที่ในการพิจารณาและหามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเฉพาะด้าน เพื่อส่งเสริมให้การบังคับใช้กฎหมายได้ผลยิ่งขึ้นและมีอำนาจในการออกประกาศ และกำหนดบทลงโทษในเรื่องเฉพาะด้านนั้น ๆ ได้”

สภาผู้บริโภคเสนอให้มีการปรับแก้ไข ดังนี้ :

ปรับแก้ไขคุณสมบัติของคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ที่ต้องมีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเพื่อให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือการออกประกาศต่าง ๆ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค และปรับสัดส่วนของคณะกรรมการโดยการเพิ่มผู้แทนของสภาผู้บริโภคเข้าไปในคณะกรรมการเฉพาะเรื่องร่วมด้วย รวมถึงการเพิ่มคณะกรรมการเฉพาะเรื่องในด้านดิจิทัล เพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคในยุคออนไลน์

ปัจจุบันสภาผู้บริโภคพบว่าพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการว่ามีความเชี่ยวชาญเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเฉพาะเรื่องหรือไม่ แม้กรรมการชุดนี้จะเป็นคณะกรรมการเฉพาะเรื่องก็ตาม ดังนั้นเมื่อกฎหมายข้างต้นเป็นกฎหมายสำหรับคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้บริโภคจึงเห็นว่าจะต้องกำหนดคุณสมบัติความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการฯ เข้าไปพิจารณาร่วมด้วย อีกทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องควรมีผู้แทนผู้บริโภคร่วมอยู่ด้วย จึงเสนอให้การปรับแก้ไขต้องกำหนดคณะกรรมการเฉพาะเรื่องแต่ละชุดมีจำนวน 7 คน โดยให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มาจากสภาผู้บริโภค 3 คน และเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ในด้านที่เกี่ยวข้อง 4 คน และเพิ่มอำนาจในการชี้ขาดให้กับคณะกรรมการสัญญา

องค์กรของผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้

ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มีใจความเกี่ยวกับอำนาจการฟ้องคดีของผู้บริโภคว่า :

สมาคมและมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือต่อต้านการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมทางการค้า อาจยื่นคำขอให้คณะกรรมการรับรองเพื่อให้สมาคมและมูลนิธินั้นมีสิทธิและอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ โดยการรับรองมีอายุคราวละสองปี”

สภาผู้บริโภคเสนอปรับแก้ไข ดังนี้ :

ปรับเพิ่มระยะเวลาการรับรององค์กรฟ้องคดีแทนจาก 2 ปีเป็น 4 ปี และเพิ่มสิทธิให้องค์กรของผู้บริโภคถูกรับรองให้สามารถฟ้องคดีแทน รวมถึงการเพิ่มสิทธิค่าดำเนินการในฟ้องคดีและค่าการทำงานในการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในการฟ้องร้องคดีร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการระดมความคิดในประเด็นการปรับแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า เสียงส่วนใหญ่ในการระดมสมองระหว่างสำนักงานสภาผู้บริโภคและองค์กรสมาชิกเห็นถึงความสำคัญของการปรับแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ เพื่อความทันสมัย ทัดเทียมกับสากล และทำให้คุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้จริง ได้แก่

1. การปรับแก้ไขสิทธิผู้บริโภคจาก 5 ข้อเป็น 8 หรือ 10 ข้อให้เท่าเทียมหรือมากกว่าสากล เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม ไม่ทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง

2. การปรับแก้ไขอำนาจของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและอำนาจของสำนักงาน สคบ. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานและช่วยแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น และปรับเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการฯ จากภาคส่วนอื่นให้เท่ากับคณะกรรมการฯ ที่มาจากภาครัฐ โดยความเห็นจากองค์กรสมาชิกระบุด้วยว่าควรเพิ่มตัวแทนภาคประชาชนโดยให้เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง หรือการเพิ่มผู้แทนด้านการศึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายขึ้น

3. การแก้ไขคุณสมบัติของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องที่มีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเพื่อให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือการออกประกาศต่าง ๆ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค และปรับสัดส่วนของคณะกรรมการโดยการเพิ่มผู้แทนของสภาผู้บริโภคเข้าไปในคณะกรรมการเฉพาะเรื่องร่วมด้วย ทั้งนี้ ความเห็นขององค์กรสมาชิกบางส่วนระบุด้วยว่าควรมีการเพิ่มคณะกรรมการเฉพาะเรื่องในด้านที่ยังไม่ครบคลุม อาทิ ด้านดิจิทัล ด้านการบริโภคอย่างยั่งยืน เป็นต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตามมีเสียงสะท้อนถึงปัญหาในส่วนของการเพิ่มคณะกรรมการฯ ในด้านที่ยังไม่มีหรือไม่ชัดเจนนั้นอาจเกิดการปรับเพิ่มไปอย่างไม่รู้จบหรือไม่ ดังนั้น การปรับเพิ่มการทำงานในแต่ละด้านจึงควรระบุอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุม

4. องค์กรฟ้องคดีแทน ปัจจุบันพบปัญหาในการรับรององค์กรฟ้องคดีแทนที่มีระยะเวลาสั้นเกินไป เนื่องจากการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลานาน โดยในบางคดีใช้กระบวนการพิจารณามากกว่า 2 ปี อาทิ คดีกลุ่มการพิจารณากระทะโคเรียคิงที่มีการโฆษณาเกินจริง ที่ใช้เวลากว่า 6 ปีในการพิจารณา ซึ่งสภาผู้บริโภคเห็นว่าควรเพิ่มระยะเวลาการรับรององค์กรฟ้องคดีเพิ่มเป็น 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรม และเห็นว่าควรเพิ่มสิทธิให้แก่องค์กรฟ้องคดีแทน เช่น เพิ่มค่าดำเนินการในฟ้องคดีหรือค่าการทำงานในการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในการฟ้องร้องคดี รวมถึงการสนับสนุนให้องค์กรของผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคได้

ทั้งนี้ หลังจากนี้สำนักงานสภาผู้บริโภคจะจัดทำการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักกฎหมาย เพื่อปรับแก้ไขกฎหมายให้เกิดความชัดเจนและเพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ รวมทั้งการจัดทำสื่อเผยแพร่เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วไปได้รับทราบข้อมูลและร่วมรณรงค์และเข้าชื่อแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ฉบับประชาชน ร่วมกันกับสภาผู้บริโภคต่อไป

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค