รัฐต้องรับผิดชอบเยียวยาสูงสุด เพราะคุ้มครองพลเมืองให้ปลอดภัยไม่ได้

จากเหตุการณ์การกราดยิงบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และพื้นที่ใกล้เคียงในพื้นที่อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 รายนั้น เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมและมีผู้เสียชีวิตเช่นนี้ ทายาทหรือญาติผู้เสียชีวิตจะได้เงินเยียวยาผู้เสียชีวิต ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 รวมไม่เกิน 110,000 บาท แบ่งเป็นค่าเสียชีวิต 30,000 บาท ค่าจัดการศพ 20,000 บาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูไม่เกิน 30,000 บาท และค่าเสียหายอื่น 30,000 บาท 

ในประเด็นการเยียวยาดังกล่าวนั้น โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีเหตุการณ์ความสูญเสียที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ญาติของผู้เสียชีวิตกลับได้รับเงินชดเชยในจำนวนที่แตกต่างกันมาก บางกรณีได้จำนวนน้อยมาก ขณะที่บางกรณีกลับได้สูงมาก ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ทำให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากนั้นก็มีการช่วยเหลือ มีหลักเกณฑ์ หรือมีแนวทางแตกต่างกันในแต่ละช่วง โดยอัตราการให้ความช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตเหตุการณ์การเมืองปี 2548 – 2553 ให้ความช่วยเหลือในอัตรารายละ 7,950,000 บาท ขณะที่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2556 – 2557 กลับให้ความช่วยเหลือในอัตรารายละ400,000 บาท 

ในขณะที่เหตุการณ์การกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภูนั้น กระทรวงยุติธรรมมีการมอบเงินชดเชยเยียวยาให้รายละไม่เกิน 110,000 บาท รวมกับเงินจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีที่พิจารณาให้รายละ 200,000 บาท แต่ถ้าหากคิดว่าในอนาคตหากเด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้น มีความสามารถในการประกอบอาชีพไปได้อีก 30 – 35 ปี และยังสามารถเลี้ยงดูบิดามารดาหรือญาติได้เดือนละหนึ่งหมื่นบาท อย่างน้อยญาติผู้เสียชีวิตควรจะได้รับเงินเยียวยาจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่าสามถึงสี่ล้านบาท ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐออกหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณการชดเชยเยียวยาความเสียหายให้มีความเหมาะสมและเท่าเทียม

ทั้งนี้ เหตุผลที่รัฐต้องเยียวยาญาติผู้เสียชีวิตไม่ใช่เพียงชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่เป็นเพราะรัฐยังไม่สามารถป้องกันการก่ออาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงสมควรที่ต้องชดเชยให้กับผู้สูญเสียและผู้เสียหายอย่างเหมาะสม

ด้าน ศ.ดร.กรกฎ ทองขะโชค อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ แสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กว่า (อ้างอิง : https://bit.ly/3ynnXs7, https://bit.ly/3yugeZj) การจ่ายเงินเยียวยากรณีเกิดอาชญากรรมถือเป็นระบบความยุติธรรมทางอาญาที่มุ่งควบคุมอาชญากรรมมากกว่าการป้องกัน คือ การป้องกันประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม รัฐจึงต้องรับผิดชอบในการชดเชยความเสียหายเนื่องจากรัฐไม่สามารถคุ้มครองพลเมืองให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมได้

แต่เมื่อพิจารณากรณีดังกล่าวที่เป็นการกระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจนถือว่าเป็นการกระทำการอันเป็นความผิดอาญา คือ กระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพและถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย

เมื่อเป็นกรณีที่ทำให้ประชาชนทั้งประเทศเกิดความหวาดกลัว ต้องติดตามข่าวสาร และทำให้เกิดความวิตกกังวล จึงเข้าข่ายความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 เช่นเดียวกับหลาย ๆ เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา แม้ว่าจะแตกต่างตรงพื้นที่ที่ก่อเหตุที่ไม่ได้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือผู้ก่อเหตุเสียชีวิตไปแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้กลับสร้างความรุนแรงสะเทือนขวัญคนในประเทศ รวมถึงคนทั่วโลก ดังนั้น การกำหนดการชดเชยเยียวยาจึงควรสูงกว่าอาชญากรรมปกติ             

หากเทียบกับกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 นั้น ภาครัฐต้องเยียวยาเฉพาะในตัวเงินจำนวน 500,000 บาท และหากเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายก่อให้เกิดความเสียหายถึงชีวิต จะต้องเยียวยาไม่เกิน 7,000,000 บาท ดังนั้น ศ.ดร.กรกฎ จึงเสนอให้นำหลักเกณฑ์เหล่านี้มาพิจารณาเพื่อให้เกิดการควบคุมและป้องกันอาชญากรรมที่รุนแรงไม่ให้เกิดการสูญเสียในทุกระบบขึ้นในอนาคต

สุดท้ายนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคขอแสดงความเสียใจและขอส่งกำลังใจให้กับครอบครัวของผู้สูญเสียทุกคน

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค