อบรมเข้ม สร้างนักข่าวเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดอบรมสร้างนักข่าวด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าว ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ สร้างทักษะในการคิดประเด็น รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคในการสืบค้นข้อมูลในการทำข่าวเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค และให้กระบวนการนำเสนอและผลิตข่าวด้วยอินโฟกราฟิกและคลิปวิดีโอให้กับสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุ-นักจัดรายการเคเบิลทีวี รวมถึงนักประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐหรือนักประชาสัมพันธ์จากภาคเอกชนของภาคนั้น ๆ และเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

และยังมีเป้าหมายเพื่อให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวในเชิงสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า หน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคคือการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิประโยชน์ผู้บริโภค รวมถึงการป้องกันใม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงหรือยังไม่รับรู้ข้อมูลความรู้ที่เพียงพอที่จะนำไปใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้

ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเห็นความสำคัญในการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนให้สามารถสื่อสารข้อมูลและเนื้อหาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยการอาศัยสื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของปัญหาผู้บริโภคไปสู่ผู้บริโภคได้

ส่วน สถาพร อารักษ์วทนะ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ ผู้รับผิดชอบโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าว ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคขยายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็วทั้งแนวนอนและแนวลึก คือ สถานการณ์ผู้บริโภคมีการกระจายตัวในทุกพื้นที่และทุกช่องทาง

ดังนั้น จึงต้องเร่งเตือนภัยผู้บริโภค ขยายแนวร่วมและสร้างความร่วมมือกับสื่อมวลชนทุกแขนงในพื้นที่เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างทันการณ์ อย่างไรก็ตาม การจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และสภาองค์กรของผู้บริโภคมีความคาดหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานประจำจังหวัด และหน่วยงานเขตพื้นที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภค

“ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีสื่อมวลชนด้านการประชาสัมพันธ์ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ซึ่งการขยายแนวความคิดเรื่องสิทธิผู้บริโภคและการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากและจะต้องไม่หยุดทำ คือ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อเตือนภัยผู้บริโภคให้มีความรู้ความเท่าทันและรู้จักปกป้องสิทธิของตัวเอง” สถาพร กล่าว

ด้าน ผ่องนภา วระวาลัย นักสื่อสารมวลชน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดมหาสารคาม และผู้เข้าร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวฯ กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้มีความน่าสนใจเพราะได้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะทำงานด้านสื่อสารมาอยู่แล้ว แต่ในเรื่องสิทธิผู้บริโภคและประเด็นปัญหาผู้บริโภคหลายด้านเป็นเรื่องที่ได้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติม

และในปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลาย ๆ ด้านและเกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่ละวัน ทั้งการถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การส่งข้อความสั้น (SMS) เข้ามาและหลอกให้กดลิงก์ที่นำไปสู่การแฮกข้อมูล ปัญหาการผสมสารอันตรายลงในผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือแม้แต่ปัญหาด้านการขนส่งสาธารณะ ดังนั้น จึงคิดว่าสื่อมวลชนต้องเข้ามานำเสนอข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภครับทราบ

สื่อมีหน้าที่ที่สำคัญในการนำเสนอข้อมูลและแจ้งเตือนภัยให้ผู้บริโภคไม่ให้หลงกล ไม่ตกเป็นเหยื่อ มีความรู้เท่าทันภัยจากมิจฉาชีพที่พลิกแพลงวิธีการหลอกหลวงไปหลายรูปแบบ และแนะนำช่องทางการร้องเรียน หรือติดต่อให้กับผู้บริโภคกรณีที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ” ผ่องนภา ระบุ

ขณะที่ วนิรัตน์ ตรีพงษ์ ประธานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนตำบลดงลาน จังหวัดร้อยเอ็ด และผู้เข้าร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวฯ กล่าวว่า การสอนเทคนิคต่าง ๆ ในการทำข่าว จับประเด็น หรือการทำสื่อผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากและการอบรมฯ ครั้งนี้ได้ความรู้เรื่องการสื่อสารเพิ่มขึ้น และหลังจากนี้จะนำข้อมูลที่ได้จากการอบรมฯ ไปต่อยอด ทั้งการผลิตสื่อเผยแพร่ อาทิอินโฟกราฟิก ข่าว หรือคลิปวิดีโอ ให้ความรู้กับผู้บริโภค ชุมชน และเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ในปีต่อไปอยากเห็นการจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอีกครั้ง เช่น อาจจะมีการต่อยอดหรือขยายพื้นที่ในการอบรมเพิ่มอีก เนื่องจากเห็นว่าการสื่อสารข้อมูลความรู้ในประเด็นผู้บริโภค ผ่านสื่อมวลชนหรือการสอนให้ทุกคนสามารถผลิตสื่อได้ด้วยรูปแบบอย่างง่ายนั้น จะช่วยกระจายข่าว หรือช่วยแจ้งเตือนผู้บริโภคให้รับทราบข้อมูล และไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยต่าง ๆ ได้ รวมถึงยังช่วยกระตุ้นเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ ให้ตระหนักและเข้ามาทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้ในอีกทาง          

ทั้งนี้ การจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าว ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคดังกล่าวจะมีการจัดอบรมขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยในครั้งต่อไปจะมีการจัดอบรมขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนมกราคม 2566 ที่จะถึงนี้