รัฐลดภาษีน้ำมัน 5 บาท ช่วยให้น้ำมันถูกลงจริงหรือ ?

17 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตรไปจนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ รวมเป็นเวลา 3 เดือน คนส่วนใหญ่เห็นมาตรการนี้แล้วชวนให้เข้าใจไปว่าราคาน้ำมันคงจะถูกลงได้อย่างแน่นอน ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ชวนไปหาคำตอบร่วมกัน

จากการตรวจสอบข้อมูลสถานะโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผ่านมา สอบ.พบว่า การปรับลดภาษีดีเซลลง 5 บาทต่อลิตรของรัฐบาลเป็นการลดภาษีน้ำมันดีเซลเพิ่มเติมจากเดิมที่ลดมาแล้ว 3 บาท/ลิตร และจะลดเพิ่มในครั้งนี้อีก 2 บาท/ลิตร ซึ่งไม่ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดีเซลที่หน้าปั๊มน้ำมันลดลงได้โดยตรงเลยในช่วงเวลานี้ เพราะราคาหน้าโรงกลั่นของดีเซลสูงถึงลิตรละ 34.62 บาท/ลิตร (ราคา ณ โรงกลั่น เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565) ขณะที่ กระทรวงพลังงานมีความพยายามตรึงราคาที่หน้าปั๊มฯ ไว้ที่ไม่เกิน 32 บาท/ลิตร ทำให้ต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาถึง 9.92 บาท/ลิตร 

การนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปชดเชยราคาดีเซล และชดเชยราคาก๊าซหุงต้มในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีสถานะที่ย่ำแย่อย่างร้ายแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 กองทุนน้ำมันมีสถานะติดลบ 72,062 ล้านบาท และในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 กองทุนน้ำมันมีสถานะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 76,291 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันด้วยการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศได้เพียง 20,000 ล้านบาท เห็นได้ชัดเจนว่า จำนวนเงินที่กู้ได้นี้ไม่สามารถกู้สถานะกองทุนน้ำมันให้กลับคืนมาได้เลย

ดังนั้น การลดภาษีดีเซล 5 บาท/ลิตรของรัฐ จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดราคาขายปลีกปลายทางของดีเซลอย่างที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงความพยายามอีกทางหนึ่งของรัฐบาล ที่จะลดปัญหาหนี้สินของกองทุนน้ำมัน ด้วยการลดภาระของกองทุนน้ำมัน ที่นำไปจ่ายชดเชยราคาดีเซลที่ลิตรละ 9.92 บาท/ลิตรนั่นเอง ซึ่งการลดภาษีดีเซลลงมาอีก 2 บาท/ลิตร ช่วยทำให้กองทุนน้ำมันลดการชดเชยดีเซลลงมาอยู่ที่ประมาณ 5 บาท/ลิตร เพื่อให้ราคาขายปลีกดีเซลที่หน้าปั๊มฯ ยืนราคาได้อยู่ที่ไม่เกิน 32 บาท/ลิตรเท่านั้นเอง

รองเลขาธิการ สอบ. อิฐบูรณ์ อ้นวงษา ชี้ว่า การจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดราคาลงมาได้นั้น รัฐบาลควรต้องยกเลิกนโยบายลอยตัวราคาน้ำมันที่หน้าโรงกลั่นในประเทศ และหันกลับมากำกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ต้นทางที่ผลิตจากโรงกลั่น ไม่ปล่อยให้ราคาหน้าโรงกลั่นลอยตัวตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเทียม เพราะโรงกลั่นตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นราคาสมมติ ที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเลย

ความไม่เป็นธรรมจากการที่รัฐบาลปล่อยให้โรงกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศใช้ราคาอ้างอิงจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเทียมนั้น เห็นผลอย่างชัดแจ้งนับตั้งแต่เกิดวิกฤติสงครามรัสเซีย – ยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ที่ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ดีดราคาทิ้งห่างจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเป็นอย่างมาก และยังทำให้ค่าการกลั่นน้ำมัน (Gross Refinery Margin) ของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศขยับสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากที่เคยอยู่ที่เฉลี่ยลิตรละไม่เกิน 1.50 บาทก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขยับสูงขึ้นถึงเฉลี่ยลิตรละ 5.50 บาท/ลิตร เข้าไปแล้ว ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือนที่ผ่านมาเท่านั้นเอง คือ ระหว่างกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม นับเป็นค่าการกลั่นที่สูงเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ค่าการกลั่น คือ ส่วนต่างของราคาน้ำมันดิบที่เป็นวัตถุดิบของโรงกลั่น กับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้จากโรงกลั่นในประเทศไปอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ซึ่งค่าการกลั่นนี้เป็นตัวบ่งชี้ทิศทางอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจโรงกลั่นนั่นเอง  

เห็นได้ว่าผลกำไรที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดจากส่วนต่างของต้นทุนราคาที่แท้จริงในการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่นในประเทศ แต่เป็นผลกำไรที่เป็นผลพลอยได้จากการอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเทียม และยังทำให้กองทุนน้ำมันยังต้องรับภาระจ่ายเงินชดเชยอยู่อีก 5.37 บาท/ลิตร (ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565) โดยหากลดค่าการกลั่นมาอยู่ที่ 1.50 บาท/ลิตร จะช่วยลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันในส่วนของน้ำมันดีเซลลงได้ถึง 4 บาท/ลิตรทันที

ดังนั้น ในภาวะวิกฤติน้ำมันเช่นนี้ สอบ.จึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณากำกับค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันลงมาให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันโดยเร็ว