เรียกร้อง อย.เร่งจัดการ อาหารเสริมอันตราย

เรียกร้อง อย.พร้อมหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจ เร่งหากระบวนการจัดการอาหารเสริมอันตราย หลังพบการเตือนภัยผลิตภัณฑ์เดิมซ้ำอีก และขอให้เปิดเผยยี่ห้อและภาพผลิตภัณฑ์ทุกครั้งที่เตือนภัย เพื่อให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลที่ชัดเจน

จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมปฏิบัติการ ระดมกวาดล้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน 7 ยี่ห้อนั้น และยังพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมไซบูทรามีนอีก 2 ยี่ห้อ ได้แก่ อิชช่า เอ็กซ์เอส และฮันนี่ คิว เลเวลอัพ

วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) ทีมข่าวสภาผู้บริโภคได้สำรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Lishou และ Baschi ที่เคยตรวจพบสารไซบูทรามีน ซึ่ง อย. ได้เคยแจ้งเตือนไปแล้วเมื่อปี 2557 ปี 2560 และปี 2561 รวมถึงผลิตภัณฑ์กาแฟ ยี่ห้อ Slimming Coffee ที่ อย. เคยแจ้งเตือนไปแล้วเมื่อปี 2564 แต่ปัจจุบันในแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดออนไลน์ (E – Marketplace) หรือการค้นหาบนกูเกิล (Google) ยังพบการขายสินค้ายี่ห้อดังกล่าวในหลาย ๆ ร้าน การที่ยังพบผลิตภัณฑ์อันตรายข้างต้นอยู่ในปัจจุบันอาจแสดงให้เห็นว่า แม้หน่วยงานภาครัฐจะมีการเตือนภัยและเรียกคืนสินค้าในหลายครั้ง แต่เมื่อไม่มีกระบวนการการจัดการผลิตภัณฑ์ที่ต้นตอหรือการตรวจสอบย้อนกลับ (Post – Marketing) อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผลิตภัณฑ์อันตรายเหล่านั้นยังคงมีการวางจำหน่ายทั่วไปและทำให้ผู้บริโภคหลายรายที่ยังไม่ทราบถึงการแจ้งเตือนภัยของ อย. ซื้อมารับประทาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสูญเงินเปล่าได้

ในประเด็นเหล่านี้ สภาผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย ได้เรียกร้องให้ อย. หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจกำกับดูแลอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รีบเร่งเข้ามาจัดการไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำ รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนและเพียงพอแก่ผู้บริโภค ที่ผ่านมาได้ส่งข้อเสนอนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ถึง อย. ได้แก่ ข้อเสนอระบบการเฝ้าระวัง Post Marketing หรือการเพิ่มบทลงโทษที่มากขึ้นสำหรับการโฆษณาเกินจริง รวมไปถึงการควบคุมการโฆษณาสินค้าทางออนไลน์ แต่ทั้งนี้ การเฝ้าระวังสินค้า ขอเรียกร้องให้ทาง อย.มีการสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอ ทั้งสินค้าที่ได้รับอนุญาตและสินค้าที่มีการเตือนภัยออกไป

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวสภาผู้บริโภคได้ตั้งข้อสังเกตถึงการแจ้งเตือนภัยของ อย. รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่มีการแจ้งเตือนภัยในบางครั้งมีลักษณะปกปิดยี่ห้อ หรือไม่แนบรูปภาพของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ เพราะเป็นสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีการเตือนภัยผลิตภัณฑ์อันตรายควรเปิดเผยชื่อและรูปภาพผลิตภัณฑ์นั้น เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลสำหรับใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการได้อย่างถูกต้อง และขอเรียกร้องแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ ควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนว่าจัดอยู่ในผลิตภัณฑ์ห้ามจำหน่ายหรือไม่ รวมถึงคำโฆษณาที่เกินจริง ก่อนอนุมัติให้มีการวางขายบนแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ ไซบูทรามีน จัดเป็นยาที่มีฤทธิ์ทางจิตประสาท มักถูกนำไปใช้กับอาหารเสริมลดน้ำหนัก มีรายงานว่าเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ทำให้ใจสั่น มีผลกระทบกับหลอดเลือด และระบบหัวใจ จนถึงขั้นเสียชีวิต จึงถูกนำออกจากบัญชีทะเบียนตำรับยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ผู้ประกอบการที่ขาย หรือนำเข้ายาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(5) ผู้ใดผลิต จะต้องได้รับโทษตามมาตรา 120 วรรคสอง คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 120 วรรคสาม ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นยาทะเบียนตำรับถูกยกเลิก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท แล้วแต่กรณี

สำหรับผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ฐาน “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้า” โทษตามมาตรา 149 วรรคสอง (1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนกรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ จะเป็นความผิด ฐาน “ผลิต/ จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในและส่วนผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522  มาตรา 6(10) ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

ท้ายสุดนี้ หากผู้บริโภคได้รับปัญหาจากอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสไปได้ที่สายด่วนของ อย. ที่เบอร์ 1556 หากไม่รับความเป็นธรรมหรือหากไม่มีความคืบหน้า สามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค เบอร์ 1502 ในวันและเวลาทำการ วันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น. หรือเว็บไซต์ tcc.or.th หรือไลน์ทางการของสภาผู้บริโภค @tccthailand

ผลิตภัณฑ์กาแฟ ยี่ห้อ Vitaccino
ผลิตภัณฑ์กาแฟ ยี่ห้อ Slimming Coffee 
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ Lishou
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ Baschi
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ New Slim
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ ซีไอเอส(CIS) 
อิชช่า เอ็กซ์เอส
ฮันนี่ คิว เลเวลอัพ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค

ข่าวอ้างอิง

อย. ร่วม ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กวาดล้างผู้จำหน่ายอาหารเสริม ลดความอ้วนผสมไซบูทรามีนออนไลน์ 7 ยี่ห้อ
อ้างอิง : https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2867

อย.เตือนอาหารเสริมอ้างลดน้ำหนัก ‘ลิโซ่-ลิด้า-บาชิ’ โฆษณาเกินจริง พบสารอันตรายไซบูทรามีน
อ้างอิง : https://www.hfocus.org/content/2018/03/15617

อย.เตือน’กาแฟลดน้ำหนัก 3 in 1 Slimming Coffee ใส่สารไซบูทรามีน กินเสี่ยงตาย
อ้างอิง : https://www.thaipost.net/main/detail/113738